• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปรับพฤติกรรม-บำบัดทางเลือกแต้มรอยยิ้มสู่ครอบครัวเด็กออทิสติก

นางคนึงนิจ ไชยลังการณ์ หัวหน้าหอผู้ป่วยจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวถึงลักษณะและปัญหาของเด็กออทิสติกว่า เด็กออทิสติกมีความบกพร่องทางพัฒนาการทั้งด้านภาษา สังคมและพฤติกรรม ทำให้ไม่สามารถดูแลตนเองด้านกิจวัตรประจำวัน และการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ ซึ่งโรคนี้ยังหาสาเหตุของโรคที่แน่นอนไม่ได้ แต่พบได้ทั่วไปทุกเชื้อชาติ และมักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง แต่การปรากฏอาการของโรคจะพบในเด็กหญิงรุนแรงกว่าเด็กชาย ส่วนอาการที่พบในแต่ละรายก็ไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน อาการที่พบส่วนใหญ่คือ ความพร่องทางด้านภาษา เช่น พูดช้ากว่าเกณฑ์ ไม่พูด มีปัญหาพฤติกรรม และอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง บางรายมีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วย

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามนอกเหนือจากตัวเด็ก คือภาวะจิตใจของพ่อแม่ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ หวาดวิตกว่าลูกจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร หากพ่อแม่เสียชีวิตก่อน 


ดังนั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา หาทางออกที่ดีที่สุดให้กับเด็กและพ่อแม่ นั่นคือพยายามให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้ในชีวิตประจำวัน

ด้วยประสบการณ์การทำงานพยาบาล ดูแลผู้ป่วยจิตเวชผู้ใหญ่ 7 ปี และจิตเวชเด็กอีก 13 ปีของนางคนึงนิจ ได้หล่อหลอมความคิดให้รู้จักเสียสละ มีจิตอาสาโดยอัตโนมัติ อยากช่วยคลายทุกข์ และหาวิธีทำให้คนอื่นๆ ในสังคมเกิดความสุข ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันทำงานก็มีความรู้สึกเดียวกัน

ทั้งนี้จากการศึกษาปัญหาของผู้ปกครองในการดูแลเด็กออทิสติกพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองมีทัศนคติที่ดีต่อเด็ก แต่ขาดความรู้เกี่ยวกับโรคและกิจกรรมการดูแลที่เหมาะสม ที่สำคัญคือพ่อแม่ร้อยละ 93.3 ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กออทิสติก โดยเฉพาะความรู้เรื่องการใช้ยา ถึงแม้ว่าในจำนวนนี้ร้อยละ 44.1 ได้ผ่านการอบรมการดูแลเด็กออทิสติกมาแล้ว

สำหรับงานจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดให้บริการเด็กออทิสติก 4 รูปแบบ ได้แก่ กลุ่มที่เข้ารับการบำบัด 08.00-16.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ อย่างต่อเนื่อง รับได้เต็มที่ 16 คน กลุ่มรับบริการบางช่วงเวลา (สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง รับบริการวันเสาร์-อาทิตย์) เพื่อฝึกทักษะบางด้านที่บกพร่อง กลุ่มผู้ป่วยนอก (ให้คำแนะนำผู้ปกครองในการดูแลเด็กออทิสติก) และกลุ่มผู้ป่วยใน ที่ปัจจุบันมีน้อยมาก บางช่วงก็ไม่มีเลย หากมีผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องจัดเวรเจ้าหน้าที่ทำงานเป็นกะ ขณะที่บุคลากรในฝ่ายมีทั้งหมดแค่ 10 คน


แต่นับว่าโชคดีที่ผู้ปกครองเด็กออทิสติกกลุ่มหนึ่ง เห็นความสำคัญของการบำบัดรักษา จึงตั้งทุนเพื่อเด็กออทิสติก ให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้งานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และต่อมาก็มีผู้ใจบุญร่วมบริจาคสมทบเรื่อยๆ  นอกจากนี้ยังได้ตั้งกล่องรับบริจาคตามวัดสำคัญต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง ทำให้สามารถนำเงินมาพัฒนาเด็กออทิสติกได้อย่างเต็มที่


ข้อมูล : แผนพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

 

ข้อมูลสื่อ

366-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 366
ตุลาคม 2552
กองบรรณาธิการ