• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมองบวม

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยิน “ภาวะสมองบวม” แต่รู้หรือไม่ว่า “ภาวะสมองบวม” เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง และจะมีวิธีการรักษาอย่างไร ?
  
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พันเอก (พิเศษ) นพ.สิรรุจน์ สกุลณะมรรคา  ประสาทศัลยแพทย์ ที่ปรึกษากองศัลยกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า และกรรมการวิชาการ วิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า ภาวะสมองบวม คือภาวะที่เนื้อสมองเกิดบวมขึ้นจากมีปริมาณน้ำในเนื้อสมองเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากระบบการแลกเปลี่ยนอนุภาคสารน้ำระดับเซลล์ประสาทและผนังหลอดเลือดผิดปกติ กลไกดังกล่าวนี้เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ก่อนหากความผิดปกติเกิดอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมองเป็นบริเวณกว้าง กลไกที่เกิดขึ้น ช้าเร็ว มากน้อย ขึ้นกับความรุนแรงของพยาธิสภาพ ในทางปฏิบัติแพทย์จะวินิจฉัยภาวะนี้จากอาการทางสมองที่เกิดขึ้นและภาพการบวมของสมองโดยดูภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือ ภาพคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าสมอง (MRI) หรือ ดูเนื้อสมองในระหว่างผ่าตัด
  
สมองบวมเป็นผลสืบเนื่องจากหลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยได้แก่ สมองช้ำจากอุบัติเหตุทางถนน โรคหลอดเลือดสมอง แตก ตีบ หรือ อุดตัน ทำให้สมองได้รับบาดเจ็บ โรคเนื้องอกสมอง โรคติดเชื้อ ภาวะสมองขาดออกซิเจน ภาวะไข้สูง เกลือแร่ น้ำตาล หรือสารน้ำในร่างกายผิดปกติมากหรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลังอาการชัก การที่ร่างกายได้รับพิษเป็นปริมาณเกินกำหนด หรือขึ้นไปในที่สูงมาก ๆ ในกลุ่มนักปีนเขา
  
อาการสมองจะบวมแตกต่างกันขึ้นกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น สาเหตุของโรค และตำแหน่งของสมองบวม ในรายที่ีการบวมเกิดเฉพาะที่และไม่ได้อยู่ในตำแหน่งสมองที่สำคัญผู้ป่วยอาจจะมีอาการแค่ ปวดศีรษะมาก ส่วนในรายที่การบวมเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง หรือ เกิดที่ตำแหน่งสำคัญผู้ป่วยอาจหมดสติ โคม่า และเสียชีวิต
  
ในกรณีที่การบวมของสมองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สมองส่วนที่บวมจะทำให้แรงดันในสมองส่วนนั้นเพิ่มขึ้นซึ่งจะมีผลทำให้ความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงขึ้นและถ้าไม่สามารถควบคุมความดันภายในกะโหลกที่สูงขึ้นได้ สมองส่วนที่บวมก็จะเคลื่อนตัวไปกดเบียดส่วนต่าง ๆ ภายในกะโหลกใกล้ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น หลอดเลือดแดง-ดำ  เส้นประสาทสมอง และ สมองส่วนต่าง ๆ ทำให้หากไปกดเบียดสมองมีหน้าที่สำคัญมาก ๆ เช่น ก้านสมองทำให้เกิดหน้าที่ของสมองทั้งหมดเสียไปและเกิดภาวะสมองตายได้หากแก้ไขไม่ทัน
  
ภาวะสมองบวมสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย และสืบค้นเพิ่มเติมจากเอกซเรย์สมอง เช่น คอมพิวเตอร์สมอง (CT) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) การแจ้งอาการและการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นให้แพทย์ทราบเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยและหาสาเหตุการเกิดสมองบวม ในรายที่ผู้ป่วยโคม่า การประเมินระดับความรู้สึกตัวเป็นไปได้ยาก การใส่สายวัดความดันภายในกะโหลกศีรษะจะช่วยในการประเมินและติดตามการเปลี่ยนแปลงความดันภายในกะโหลกศีรษะอย่างต่อเนื่อง
  
ในภาวะปกติความดันภายในกะโหลกศีรษะเป็นตัวแทนแสดงผลรวมของปริมาตรของสิ่งที่อยู่ในกะโหลกศีรษะ ได้แก่ สมอง น้ำในสมองและไขสันหลัง และเลือดในสมอง ค่าปกติความดันในสมองผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 15-20 มิลลิเมตรปรอท ในกรณีที่เกิดสมองบวมขึ้น ความดันภายในกะโหลกศีรษะจะสูงขึ้น
   
ระยะเวลาของสมองบวมจะขึ้นกับสาเหตุการเกิดของสมองและความรุนแรงของโรค ในรายที่สมองบวมจากอุบัติเหตุ อาการสมองบวมจะกินเวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์ การใส่สายวัดความดันภายในกะโหลกศีรษะจะช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองบวม สามารถประเมินและติดตามการเปลี่ยนแปลงของความดันภายในกะโหลกศีรษะอย่างต่อเนื่อง
  
การรักษาสมองบวมจะกระทำควบคู่กับการลดความดันกะโหลกศีรษะและรักษาการไหลเวียนของกระแสเลือดในสมองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในรายที่ผู้ป่วยโคม่าแนะนำให้ดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤติ (ไอซียู) การรักษามีขั้นตอน เริ่มจากการให้ยาลดสมองบวม ยาขับปัสสาวะ น้ำเกลือความเข้มข้นสูง ยาลดเกร็ง ยาคลายกล้ามเนื้อ ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยทั่วไป เช่น ยกศีรษะสูง 15-30 องศา ควบคุมสัญญาณชีพและอุณหภูมิกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองการรักษาตามขั้นตอนต่าง ๆ อาจพิจารณา ควบคุมความดันกะโหลกศีรษะโดยวิธีผ่าตัด เช่น เปิดกะโหลกศีรษะ ข้างเดียว สองข้าง ระบายน้ำในสมองและไขสันหลัง ตัดสมองส่วนที่มีภาวะบวม เป็นต้น การทำผ่าตัดมากน้อย ขึ้นกับความรุนแรงของภาวะความดันกะโหลกศีรษะ  อย่างไรก็ตาม การรักษาภาวะสมองบวมเป็นเรื่องที่สำคัญเร่งด่วน ในบางครั้งขั้นตอนการรักษาต่าง ๆ จากให้ยาจนถึงผ่าตัดอาจใช้เวลาสั้นเป็นนาทีหรือชั่วโมงทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
  
สมองบวมเป็นภาวะวิกฤติทางระบบประสาทที่สำคัญ ให้การดูแลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และแก้ไขสาเหตุอย่างทันท่วงที สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นจากความพิการ หรือ ลดการสูญเสียผู้ป่วยได้
  
โอกาสของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองจะได้รับการรักษาจนมีสภาพปกติ? พันเอก(พิเศษ) นพ.สิรรุจน์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค บริเวณของสมองที่ได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือน และความสามารถในการฟื้นตัวของคนไข้ ยกตัวอย่างเช่น คนไข้บาดเจ็บที่รุนแรงสมองได้รับความสูญเสียมาก การฟื้นตัวจะดีไม่เท่าคนไข้สมองช้ำหรือไม่มีภาวะการสูญเสีย ถ้าเกิดบริเวณตำแหน่งที่ควบคุมการทำงานของแขนขาซีกตรงข้าม การฟื้นตัวจะไม่ดีจะมีภาวะอ่อนแรงที่แขนขาซีกตรงข้าม ถ้าไปโดนสมองที่ควบคุมเรื่องของการพูดก็จะทำให้การพูดไม่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นตำแหน่งสมองต่าง ๆ ถ้าเป็นเด็กสามารถที่จะทำงานทดแทนกันได้ เช่น เด็กเล็ก ๆ แม้จะได้รับบาดเจ็บของสมองที่ควบคุมการทำงานของแขนขาการฟื้นตัวในระยะยาวก็สามารถกลับมาได้เกือบปกติหรือปกติเลย เพราะสมองส่วนอื่นทำงานทดแทนได้
  
พันเอก(พิเศษ) นพ.สิรรุจน์  กล่าวด้วยว่า อาการบาดเจ็บของสมองส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือ การป้องกัน  มีสติ ไม่ประมาท แต่ถ้ามีการบาดเจ็บเกิดขึ้นแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทก็อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กดู  ซึ่งโดยปกติคนไข้ที่ได้รับอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่หมดสติจะถูกนำส่งมารักษาที่ รพ. อยู่แล้ว แต่คนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองแล้วสลบไปชั่วครู่แล้วตื่นขึ้นมาเป็นปกติดี กรณีเช่นนี้ควรมาตรวจเช็กเพราะว่าการที่สลบไปแสดงว่าการบาดเจ็บมีความรุนแรงพอสมควร และอาจมีโอกาสเลือดออกในสมองภายใน 24-48 ชม.ได้ ถ้าหากคนไข้อยู่คนเดียวไม่มีใครอยู่ด้วย ก็อาจจะซึมลง การรู้สึกตัวลดลง สติไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่มีใครพามาโรงพยาบาลก็อาจจะทำให้สูญเสียตามมา.

นวพรรษ บุญชาญ

แหล่งที่มา: 
เดลินิวส์-x-ray-สุขภาพ