• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การพยุงผู้สูงอายุ

ถาม : ณัช/กรุงเทพฯ
ผมพาคุณแม่ไปเยี่ยมญาติที่โรงพยาบาล ได้ยินเจ้าหน้าที่รถเข็นของโรงพยาบาลถามผู้ป่วยสูงอายุรายหนึ่งว่าจะใช้บริการรถเข็นหรือไม่ เพราะลูกหลาน ๒-๓ คนช่วยประคับประคองผู้สูงอายุอย่างทุลักทุเล
การพยุงผู้สูงอายุ ลูกหลานจะต้องทำอย่างไร จึงจะปลอดภัยทั้งผู้สูงอายุและลูกหลาน

 

ตอบ : นพ.อรรถฤทธิ์  ศฤงคไพบูลย์
ความปลอดภัยของผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น ๒ เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้
๑. ระวังหกล้ม สำคัญมาก ถ้าหกล้ม โอกาสกระดูกหัก (ผู้สูงอายุกระดูกบางอยู่แล้ว) หรือเกิดปัญหาของหลอดเลือดในสมองมีได้สูงมาก สิ่งที่ต้องระวังดูแลคือ 

♦ รองเท้า ส่วนมากจะนึกว่าผู้สูงอายุอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปไหน รองเท้าแตะเก่าๆ ก็ใช้ได้แล้ว แต่ผู้สูงอายุไม่ค่อยจะแข็งแรงอยู่แล้ว การทรงตัวก็ไม่ค่อยดี ดังนั้นจึงต้องหารองเท้าที่สภาพดีๆ พื้นไม่ลื่น

♦ สภาพแวดล้อม อย่าวางของเกะกะ การหลบหลีกรวมทั้งการตัดสินใจของผู้สูงอายุไม่ค่อยดี พื้นที่ลื่นๆ โดยเฉพาะในห้องน้ำที่เป็นขั้นสูงๆ ต่ำๆ ยิ่งอันตรายมาก

♦ การประคองลุกนั่งยืนหรือเดิน บ่อยครั้งที่เราต้องช่วยพยุงผู้สูงอายุไปห้องน้ำหรือพาไปเดินออกกำลังกาย ถ้าตัวโตและอ่อนแรงมากเท่าไร คนช่วยพยุงจำเป็นต้องแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น ถ้าผู้สูงอายุยังพอมีแรงอยู่ก็หาเครื่องช่วยพยุง เช่น ไม้เท้า จะช่วยเพิ่มความมั่นคงและผ่อนหนักให้เป็นเบาได้มาก รวมถึงการหาเข็มขัดเส้นใหญ่ๆ คาดเอวท่านไว้เราจะได้จับยึดประคองด้านหลังได้ถนัดๆ

๒. ระวังจะเป็นลมหรือเหนื่อยเกินไป
ต้องค่อยๆ เปลี่ยนจากท่านอนไปนั่งและลุกยืน ต้องให้เวลาปรับตัวในแต่ละช่วง มิเช่นนั้นเลือดจะไปเลี้ยงสมองไม่ทัน เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมล้มได้ อีกอย่างที่สำคัญคืออย่าให้เหนื่อยเกินไป จะเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจได้

โดยทั่วๆ ไปแล้วหัวใจไม่ควรเต้นเกิน ๑๒๐ ครั้งต่อนาทีในการออกกำลังกาย ใช้จับวัดชีพจรเอาก็ได้ ถ้ามากกว่านี้แสดงว่าทำมากเกินไป ควรให้ออกกำลังกายเบาๆ ต่อเนื่องประมาณ ๑๕-๒๐ นาที จะได้ประโยชน์มากกว่า

นอกจากนี้ ผู้ช่วยพยุงจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
๑. ประมาณกำลังของตนเองให้ดี ต้องแน่ใจว่าช่วยไหว การช่วยยกหรือพยุงผู้สูงอายุก็เหมือนกับการยกของหนัก ซึ่งถ้ามากเกินกำลังก็มักทำให้เกิดบาดเจ็บได้หลายๆ ที่ เช่น ปวดหลัง เอว ข้อมือ หรือหัวไหล่ เป็นต้น

๒. ขณะที่ออกแรงยก (เช่น พยุงจากนั่งให้ลุกยืน) พยายามยืนให้ใกล้ๆ และรักษาแนวกระดูกสันหลังของตัวเราให้ตรงไว้ (อย่าก้มมาก ใช้งอเข่าต่ำลงแทน) เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องเอาไว้ด้วย ทำแบบนี้จะช่วยลดและป้องกันปัญหาปวดหลังได้

๓. อย่าอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น ขณะที่ช่วยประคองเดินออกกำลังกาย ให้เราพยายามเปลี่ยนมือ ขยับเปลี่ยนข้างยืนบ้าง