• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรครำมะนาด

ถาม : สุวิทย์/ขอนแก่น

การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรครำมะนาดจริงหรือครับ?

 

ตอบ : ทพญ.สุธาสินี ฉันท์เรืองวณิชย์

การสูบบุหรี่เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากโดยตรงคือ ทำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบ หรือ "โรครำมะนาด" เนื่องจากสารพิษจำพวกนิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดฝอยหดตัว เลือดไปเลี้ยงผิวหนังรวมทั้งริมฝีปากน้อยลง ทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่มีริมฝีปากคล้ำกว่าคนทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่ และมีผลเสียต่อตัวฟัน เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก รวมถึงเกิดมะเร็งในช่องปากได้

อาการที่พบได้คือ เหงือกเป็นสีแดงช้ำ มีเลือดออกขณะแปรงฟันมีกลิ่นปาก เหงือกบวมเป็นหนองรู้สึกว่าฟันยาวขึ้น ฟันห่างหรือมีฟันโยกร่วมด้วย ส่วนอาการปวดอาจพบได้เมื่อโรคมีอาการรุนแรงมากขึ้น

การรักษาทำโดยการกำจัดหินปูนและเกลารากฟัน เพื่อให้ผิวรากฟันเรียบ เป็นการกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เกาะบนผิวรากฟันให้สะอาด ขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานโดยเฉพาะที่ร่องเหงือกลึกๆ และฟันหลังที่มีหลายราก ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะต้องทำหลายครั้ง

เมื่อรักษาเสร็จ ประมาณ ๒-๕ สัปดาห์ จะนัดมาดูอาการอีกครั้งถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่อาจจำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อแก้ไขกระดูกเบ้าฟันที่ถูกทำลายไป ดังนั้น ผู้สูบบุหรี่ที่มีปัญหาโรครำมะนาด จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพราะสุขภาพในช่องปากของผู้สูบบุหรี่จะไม่สะอาด มีการสะสมของหินปูนและมีโอกาสเป็นโรครำมะนาดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ทันตแพทย์จึงต้องขูดหินปูนเพื่อทำความสะอาดฟันทุกๆ ๓-๖ เดือน

วิธีที่ดีที่สุดของการป้องกันไม่ให้โรครำมะนาดกลับมาอีก คือการดูแลรักษาความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี และการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวันที่สำคัญการเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดความรุนแรงของโรครำมะนาดและช่วยให้ผลของการรักษาดีขึ้น