• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีปฐมพยาบาลตนเองเมื่อข้อเท้าแพลง

ถาม : ณัฐพล/ร้อยเอ็ด

วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อข้อเท้าแพลงด้วยตนเองในเบื้องต้นทำอย่างไรบ้างครับ

ตอบ : นพ.มนต์ชัย เรืองชัยนิคม

ข้อเท้าเเพลงเกิดจากเส้นเอ็นด้านนอกมีการเคล็ดหรือฉีกขาดจากการหมุน หรือบิดของข้อเท้ามักเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าเคลื่อนไหวผิดท่าทาง

อาการโดยทั่วไปที่พบ ข้อเท้าจะปวด บวม และเคลื่อนไหวไม่ถนัดซึ่งความรุนแรงของข้อเท้าเคล็ดมีอยู่ ๓ ระดับคือ

ระดับแรก จะเกิดการปวดเล็กน้อยเวลากด หรือขณะเคลื่่อนไหวข้อ แต่ไม่มีอาการบวมสามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติข้อเท้าแพลงแบบนี้จะหายได้ภายใน ๒ สัปดาห์

ระดับที่สอง มีอาการบวมและฟกช้ำร่วมด้วย เนื่องจากหลอดเลือดเล็กๆ มีการฉีกขาด ทำให้เลือดออกใต้ผิวหนัง เวลาลงน้ำหนักจะรู้สึกปวดมาก อาการแบบนี้หายได้ใน ๔-๖ สัปดาห์

ระดับที่สาม เส้นเอ็นยึดข้อเกิดการฉีกขาดออกจากกัน ข้อจะบวมและฟกช้ำมาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อหรือลงน้ำหนักได้ ระดับความรุนแรงนี้ ต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ ๘-๑๒ สัปดาห์

สำหรับแนวทางการรักษาเบื้องต้นในช่วง ๒๔-๔๘ ชั่วโมงแรกควรใช้ความเย็นประคบที่บริเวณบาดเจ็บ เนื่องจากความเย็นจะช่วยให้หลอดเลือดหดตัวบรรเทาอาการเจ็บปวดและลดอาการบวมได้ และห้ามใช้ยาหม่องหรือครีมต่างๆ นวดเพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวมีเลือดออกมากและข้อจะบวมขึ้นอีก

นอกจากนี้ พยายามเคลื่อนไหวข้อเท้าให้น้อยที่สุด ควรยกเท้าไว้ในระดับที่สูงขณะนั่งหรือนอน จะช่วยให้อาการบวมลดลง ไม่ควรยืนหรือนั่งห้อยขานานๆ เพราะจะทำให้ข้อเท้าบวมและปวดมากขึ้นอาจใช้ผ้ายืดพันหรือใช้ไม้เท้าช่วยพยุงขณะเดิน ถ้ามีอาการบวมมากหรือยังไม่ดีขึ้นหลังดูแลเบื้องต้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินลงน้ำหนักแล้วปวดข้อเท้ามาก อาจเกิดจากมีกระดูกข้อเท้าแตกร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา