• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เครื่องสำอางก่อมะเร็งหรือไม่?

เครื่องสำอางก่อมะเร็งหรือไม่?

ถาม : กฤษณะ/กรุงเทพฯ

ผมอ่านหนังสือพิมพ์ที่พาดหัว เกี่ยวกับสารเคมีที่สามารถก่อให้เกิด มะเร็งและทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมนั้น นักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยได้ยกตัวอย่างสารเคมี คือ สาร sodium lauryl sulfate, propylene glycol ที่อยู่ในโฟมล้างหน้าทั่วไป และสาร talc ที่อยู่ในแป้งทาตัวทั่วไป ปรากฏว่าทุกยี่ห้อมีสารที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
ผมจึงอยากทราบว่า สารที่ยกตัวอย่างมาสามารถก่อให้เกิดมะเร็งจริงหรือไม่ และร้ายแรงมากเพียงใด เพราะผมใช้เครื่องสำอางที่มีสารเหล่านี้มานาน จึงอยากขอความรู้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยครับ
 

ตอบ : นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร
การก่อให้เกิดมะเร็งมีปัจจัยร่วมทั้งจากสารภายนอกและจากร่างกายเอง เช่น แสงแดดก็มีผลต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง อาหารย่างก็มีผลต่อมะเร็งลำไส้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่กินจะเป็น บางคนมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนั้น เชื้อชาติ และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบจำนวนที่ได้รับในแต่ละครั้ง เช่น สาร talc ที่ใช้ในแป้ง ถ้าได้รับโดยการสูดดมมากๆ หรืออยู่ในโรงงานที่ทำก็มีโอกาสสัมผัสมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นทุกคนต้อง มีองค์ประกอบอื่นด้วย

การรายงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่าสารนั้นสารนี้ก่อมะเร็ง บางส่วนรายงานจากสัตว์ทดลอง เช่น หนู กระต่าย หรือบางครั้งก็เก็บแบบสำรวจจากคนที่ทำงานในที่นั้นมา แล้วดูว่ามีมะเร็งชนิดใดมาก ก็สรุปว่าสงสัยตัวนั้น

สารตัวที่ ๑ คือ sodium lauryl sulfate ในอุตสาหกรรมทำสบู่ เครื่องสำอาง ผมค้นข้อมูลจากศูนย์พิษที่สหรัฐอเมริกา จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอางไม่มีพิษ โดยการกิน สำหรับเรื่องมะเร็ง ผมค้นข้อมูลจากศูนย์วารสารรวม medline พบว่า มีเอกสาร ๑ ฉบับที่กล่าวถึงมะเร็งที่เกี่ยวข้องแต่ข้อมูลไม่บ่งชี้แน่ชัด เนื่องจากรายงานในภาวะที่รวมกับสาร ประกอบน้ำมันเชื้อเพลิงและสารที่ไม่ได้อยู่ในเครื่องสำอางรวมๆ กันหลายๆอย่าง สรุปว่ายังเชื่อไม่ได้ครับ

สารตัวที่ ๒ คือ propylene glycol เป็นสารที่ใช้ในยาทาผิวหนัง สบู่บางชนิด เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยเป็นตัวทำละลายที่ดี ข้อมูลจากศูนย์พิษที่สหรัฐอเมริการายงานว่า ถ้าใช้ผิดวิธีโดยนำมากิน และกินจำนวนมากๆ ก็มีพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ไต และระบบทางเดินหายใจได้ ข้อมูลเรื่องมะเร็ง...ผมค้นจากศูนย์รวมวารสารการแพทย์ medline พบว่ามีเอกสารอยู่ ๓ ฉบับ ฉบับที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ (คศ. ๑๙๗๕) ทำในหลอดทดลองแล้วมีเซลล์แบ่งตัวมากขึ้น อีก ๒ ฉบับ รายงานการทดลองในหนูจากปี    พ.ศ. ๒๕๐๔ (ค.ศ.๑๙๖๑) กับปี พ.ศ. ๒๕๐๘ (ค.ศ.๑๙๖๕) มีความเชื่อถือได้น้อยเหลือเกินครับ จากปี พ.ศ. ๒๕๐๙ (ค.ศ.๑๙๖๖) เป็นต้นมาไม่มีการรายงานในวารสารอีกเลย!

สารตัวที่ ๓ คือ talc ใช้ ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น แป้งฝุ่นทาตัว แป้งทาหน้า เป็นตัวทำให้มีสีขาว อุตสาหกรรมกระดาษ ข้อมูลจากศูนย์พิษ...การได้รับจำนวน มากๆ โดยการสูดดมมีผลต่อการอักเสบของปอด ถ้าได้รับโดยการกิน จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอางไม่มีพิษครับ ข้อมูลเรื่องมะเร็ง...มีรายงานการเกิดมะเร็งรังไข่ในสตรีที่ใช้แป้งทาบริเวณอวัยวะเพศ รายงาน ๓-๔ ฉบับจากรัสเซียและยุโรปตะวันออก จัดทำโดยการส่งแบบสำรวจ และเก็บข้อมูลมาประยุกต์ครับ รายงานเรื่องมะเร็งบางส่วนเก็บข้อมูลจากสตรีที่ทำงานโรงงานกระดาษและพบว่ามีปัญหามะเร็งของรังไข่มากขึ้น 

ดังนั้น รายงานทั้งหมดเป็นการเก็บข้อมูลแล้วกลับมาดูผลสุดท้าย เข้าได้กับมะเร็งชนิดไหนนะครับ สรุป ถ้าประกอบข้อมูลทั้งหมด เข้าด้วยกันจะพบว่า ปัจจัยการเกิดมะเร็งไม่ใช่สัมผัสแล้วเกิดอย่างทันทีทันใด ปัจจัยอื่นๆ เช่น กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ มนุษย์หรือสัตว์มีส่วนที่จะทำให้โอกาสเกิดมากหรือน้อย ด้วยการใช้สารที่กล่าวถึงอย่างถูกวิธี จำนวนที่ได้รับก็เป็นปัจจัยร่วมที่ต้องนำมาคำนึงถึงด้วยดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว