• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ส่องกล้องรักษาอาการปวดเข่า

ส่องกล้องรักษาอาการปวดเข่า

ถาม : สุรีรัตน์/กรุงเทพฯ
ดิฉันอายุ ๖๕ ปี น้ำหนัก ๕๘ กิโลกรัม สูง ๑๕๗ เซนติเมตร มีปัญหาเรื่องปวดเข่า บริเวณที่ปวดอยู่ด้านหลังข้อเข่า รักษามาประมาณ ๗ เดือนแล้ว  ทั้งที่โรงพยาบาลและคลินิกแต่ก็ไม่หาย หมอเอกซเรย์ดูแล้วบอกว่าเป็นข้อเสื่อม ได้รับการรักษาด้วยวิธีต่างๆ กัน บางแห่งก็รักษาโดยการเจาะน้ำในเข่าออก แล้วก็ฉีดยาสตีรอยด์เข้าไป และให้ยาแก้อักเสบ มากิน ๑ เดือน ก็หายปวด แต่ขณะเดินก็ยังปวดและงอเข่าไม่ได้เลย

ครั้งสุดท้ายได้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หมอวินิจฉัยว่าเซลล์ในเนื้อเยื่อเข่าผิดปกติ และนัดให้ไปส่องกล้อง วิธีส่องกล้อง ก็คือ เจาะใส่กล้องลงไปตรวจรักษา ค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่หมอก็ยังไม่ยืนยันว่าจะหายเป็นปกติ ดิฉันจึงอยากเรียนถามคุณหมอดังนี้ 

๑. อาการของข้อเสื่อม เมื่อกินยาก็หายปวด แต่งอเข่าไม่ได้ (เคยเป็นแบบนี้กับเข่าอีกข้างหนึ่ง แต่กินยาก็หายและงอเข่าได้ปกติ)

๒. การรักษาโดยการเจาะน้ำออก เวลาปวดบวมขึ้นมา จะมีผลเสียในระยะยาวหรือไม่ (ดิฉันเคยเจาะน้ำออก ๒ ครั้ง ในระยะเวลา ๔ เดือน)

๓. ดิฉันควรไปรักษาด้วยการส่องกล้องหรือไม่ แล้วมีสิทธิ์หายขาดไหมคะ แล้วถ้าไม่รักษาจะปล่อยเอาไว้โดยไม่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาจะมีอันตรายไหมคะ

๔. พออาการเริ่มทุเลาก็จะกินๆ หยุดๆ ไม่ทราบว่าจะเป็นอันตรายต่อตับและไตหรือไม่ แล้ววิธีรักษาการอักเสบโดยไม่ต้องกินยาได้ไหม (เพราะว่าเป็นโรคกระเพาะ แล้วที่ไตยังมีถุงน้ำอีกด้วย ดิฉันกินยามาหลายเดือน)

๕. ควรเดินออกกำลังกายไหม จะทำให้เกิดอันตรายต่อข้อไหม (เพราะถ้าไม่เดินก็จะไม่มีแรง)
 

ตอบ : นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์   
อาการข้อเข่าเสื่อม มีสาเหตุร่วมกันหลายประการ ได้แก่ อายุ หญิงวัยหมดประจำเดือน น้ำหนักตัวมาก และการใช้งานข้อเข่า เมื่อเป็นแล้วจะให้กลับดีดังปกติไม่ได้ แต่ถ้า ดูแลรักษาตัวดีๆ ก็อาจไม่เจ็บปวดมาก และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ

๑. เหตุที่คุณยังงอเข่าไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ค่อยปวด อาจเกิดจากเวลางอจะปวด จึงเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้งอลำบากหรือเกิดจากในระหว่างที่ปวด ไม่ได้เคลื่อนไหวข้อเข่าทำให้ข้อติดยึด ซึ่งถ้าไม่ได้ติดยึดมานาน ค่อยๆ ฝึกงอและเหยียดก็สามารถหายเป็นปกติได้

๒. ปกติข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าอาจไม่บวม การที่ข้อเข่าบวมและมีน้ำในข้อ อาจเกิดจากได้รับการกระทบกระแทกในการทำงานในชีวิตประจำวัน หรือเกิดการอักเสบจากการเสียดสีของผิวกระดูกที่มีหินปูนเกาะในข้อเข่า ถ้ามีน้ำมาก การเจาะเข่าก็ช่วยให้อาการทุเลาเร็วขึ้น ไม่มีผลเสียในระยะยาว แต่การเจาะต้องเจาะโดยแพทย์เท่านั้น เพราะถ้าเทคนิคการเจาะไม่ถูกต้อง อาจทำให้ข้อเข่าได้รับบาดเจ็บมากขึ้น เช่น ทำให้เลือดออกในข้อ หรือเกิดการอักเสบติดเชื้อได้

๓. การรักษาโดยการส่องกล้อง เป็นวิธีที่ในปัจจุบันมีความนิยมมากขึ้น เพราะว่าไม่ต้องผ่าตัดเป็นแผลใหญ่ การส่องกล้องสามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยพยาธิสภาพภายใน ข้อเข่าได้แม่นยำ และสามารถผ่าตัดแก้ไขพยาธิสภาพภายในข้อเข่าได้ ผู้ป่วยที่รักษาโดยวิธีส่องกล้องสามารถฟื้นฟูสภาพได้รวดเร็วกว่าผู้ป่วยที่ผ่าตัด ส่วนอาการจะหายขาดหรือไม่ ขึ้นกับพยาธิสภาพของโรค ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาให้ชัดเจน ถ้าค่าใช้จ่ายสูงมาก คุณอาจเลือกไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐบาลก็สามารถทำได้เช่นกัน

๔. ยาต่างๆ ส่วนมากจะมีฤทธิ์แก้ปวด จึงควรกินเฉพาะในช่วงที่มีอาการปวด ถ้าไม่ปวดไม่ต้องกินยาก็ได้ ยาส่วนมากต้องผ่านตับและไต จึงอาจมีผลต่อตับและไต และยาหลายตัวอาจจะระคายกระเพาะอาหาร การรักษาข้อเสื่อมที่สำคัญขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพทั่วไป รู้จักการใช้ข้อเข่าที่ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ การออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อข้อเข่าแข็งแรง การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป รวมทั้งอาหารการกิน

๕. ถ้าเดินได้ ควรเดินออกกำลังกาย ถ้าต้องเดินมาก ควรใส่รองเท้าที่เหมาะสม รองเท้าผ้าใบสำหรับวิ่งจ๊อกกิ้งช่วยลดแรงกระแทกและควรเดินบนพื้นเรียบ ถ้าพื้นขรุขระ อาจเดินสะดุด ถ้าเดินเร็วๆ ติดต่อกันวันละ ๑๕-๓๐ นาที สัปดาห์ละ ๓-๔ วัน จะเป็นการบริหารหัวใจและหลอดเลือดด้วย ถ้าเดินแล้วปวดมากขึ้น ควรลดความเร็ว หรือระยะทางเดินในวันต่อไป ถ้าร่างกายแข็งแรงขึ้นก็สามารถเดินได้เร็วขึ้นหรือระยะทางมากขึ้นตามลำดับ