• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งจอประสาทตา

ถาม : อนุทิน/ขอนแก่น
มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลาย ฉบับ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการผ่าตัดควักลูกตาเด็กที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัดควักลูกตาเด็กซึ่งในเบื้องต้น สงสัยว่าเป็นมะเร็งในจอประสาทตา แม้ในภายหลังผลการตรวจทางชิ้นเนื้อจะไม่พบเซลล์มะเร็งในตาเด็ก
ต้องการรู้จักโรคมะเร็งในจอประสาทตาเด็กชนิดนี้ เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง

ตอบ : นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์
โรคมะเร็งจอประสาทตาชนิด retinoblastoma เป็นมะเร็งของลูกตาชนิดที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก โดยในเด็ก อายุต่ำกว่า ๓ ขวบพบมากเป็นอันดับ ๓ ของมะเร็งทั้งหมดรองจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งในสมอง

ในต่างประเทศพบว่ามีเด็ก เป็นโรคมะเร็งจอประสาทตานี้ ๑ คนในเด็กปกติทุกๆ ๒๐,๐๐๐ คน เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้พบได้ทั้งมี การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์หรือเป็นขึ้นเองก็ได้

สำหรับในประเทศไทยพบเด็กเป็นมะเร็งชนิดนี้รายใหม่ประมาณ ๕๐_๖๐ รายต่อปี ซึ่งในเด็กกลุ่มนี้หากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม นับเป็นมะเร็งชนิดที่สามารถให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพบว่าเด็กจะเสียชีวิตเพียงไม่เกินร้อยละ ๑๐ บุคลากรทางการแพทย์จึงควรมีความ เข้าใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยเบื้องต้นและแนวทางการรักษาโรคนี้

โรคมะเร็ง retinoblastoma จะพบเฉพาะในเด็กส่วนมากอายุน้อยกว่า ๗ ขวบ โดยอายุเฉลี่ยประมาณ ๑ ขวบครึ่ง อาการที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งชนิดนี้คือการมองเห็นในตาดำของเด็กเป็นสีขาววาวๆ (leukocoria) ๑ หรือทั้ง ๒ ตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ตาเด็กมองไม่เห็นหรือมีตาเขร่วมด้วย ควรให้เด็กไปพบจักษุแพทย์โดยเร็วเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษามีหลายวิธีตั้งแต่การฉายเลเซอร์ การผ่าตัดควักลูกตาข้างที่เป็นมะเร็งออก และอาจร่วมกับการให้เคมีบำบัดและรังสีรักษา ซึ่งพบว่า ถ้าได้รับการรักษาในระยะที่มะเร็งยัง ไม่กระจาย ส่วนใหญ่เด็กจะสามารถ รอดชีวิตได้

อาการเบื้องต้นของผู้ป่วย คือ ตาดำมีลักษณะเป็นสีขาววาวๆ (leukocoria) อาจพบในโรคอื่นๆ ของตาได้ เช่น หลอดเลือดผิดปกติใน วุ้นลูกตา (persistent hyperplastic primary vitreous) จอประสาทตาหลุด ลอก หรือพยาธิในจอประสาทตาก็ได้ ข้อจำกัดของการจะได้รับการวินิจฉัย ที่แน่ชัดสำหรับโรคมะเร็ง retinoblastoma คือการวินิจฉัยด้วยผลชิ้นเนื้อ ซึ่งไม่สามารถเลือกตัดเฉพาะก้อนเนื้อ ที่สงสัย (biopsy) ได้ เพราะหากเป็นมะเร็ง retinoblastoma จริง จะทำให้ มะเร็งกระจายไปทั่วตัวและเด็กเสียชีวิตได้

ในรายที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง retinoblastoma และตาข้างนั้นบอดไม่สามารถมองเห็นได้อยู่แล้ว จักษุแพทย์จะทำการปรึกษากับพ่อแม่เผื่อจำเป็นต้องผ่าตัดควักลูกตาข้างที่สงสัยนั้นออก เพื่อการวินิจฉัยทางชิ้นเนื้อที่แน่นอน และจะได้นำมาวางแผนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

โรคนี้อาจมีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ดังนั้น ในครอบครัวที่เคยมีบุตรเป็นมะเร็ง retinoblastoma มาก่อนหรือพบเด็กที่มีอาการต้องสงสัย ควรรีบแนะนำให้ไปตรวจกับจักษุแพทย์โดยเร็ว เพราะการได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก นอกจากจะสามารถรักษาชีวิตของเด็กไว้ได้แล้ว อาจสามารถเก็บลูกตาข้างนั้นไว้ได้ด้วยการรักษาโดยการใช้แสงเลเซอร์หรือเคมีบำบัด ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวได้เป็นอย่างมาก