• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาหมดอายุ

ยาหมดอายุ

ถาม : พันทิวา/ชลบุรี
ดิฉันเป็นคนที่สนใจเรื่องสุขภาพ ทั้งๆ ที่สมาชิกในบ้านก็มีเพียง ๔ คน เท่านั้น แต่ในตู้ยามีสารพัดยาเตรียมไว้ ไม่ว่าจะเป็นยาของเด็ก เช่น ยาน้ำแก้ปวดท้อง ยาแก้ไข้ชนิดน้ำเชื่อม หรือยาของผู้ใหญ่ จำพวกยาแก้ไข้ ยาธาตุน้ำแดง ยาหยอดตา

๑. สิ่งที่สงสัยอยากรู้ ก็คือ ยาแต่ละชนิดมีอายุเท่ากันหรือไม่ เพราะบางเดือนหรือหลายเดือนไม่เคยเปิดตู้ยาสักครั้ง

๒. ยาที่หมดอายุแล้ว ไม่รู้ว่าหมดอายุแล้วนำมากินจะอันตรายหรือไม่

๓. ยาชนิดใดควรเก็บอย่างพิถีพิถัน

๔. ยาอะไรมีอายุการใช้งานสั้น
 

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ก่อนอื่นต้องขอชมว่าคุณมีความละเอียดรอบคอบในการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของยาเก่าเก็บ หรือยาหมดอายุ ถ้าใช้ผิดๆ ก็อาจมีอันตรายได้ ดังนั้น จึงขอแนะนำว่า ถ้าเป็นยาที่ได้จากแพทย์สั่งให้ในการรักษาโรคแต่ละคราว ควรใช้ให้ครบตามระยะที่แนะนำ ส่วนที่เหลือควรทิ้งเสีย ยกเว้น ยาพาราเซตามอล ยาลดกรด ยาแก้แพ้ ที่ทราบวันหมดอายุจริง (โรงพยาบาลบางแห่งจะระบุอยู่บนฉลากยา ถ้าไม่ระบุควรถามเภสัชกร ห้องยา หรือแพทย์ที่สั่งให้ตามคลินิก ถึงวันหมดอายุของยา) ถ้าเป็นยาที่ซื้อไว้ใช้เองในตู้ยาประจำบ้าน เช่น ยาแก้ไข้ แก้ปวด ยาแก้แพ้ ยาลดกรด ก็ควรซื้อในปริมาณไม่มากนัก ควรใช้ประมาณ ๕-๗ วันก็พอ เพราะถ้าไม่หายก็ควรไปพบแพทย์ หรือถ้าหมดก็หาซื้อมาทดแทนใหม่เป็นคราวๆ ไป และอย่าลืมเวลาซื้อยาทุกครั้งควรถามวันหมดอายุจากผู้ขายก่อนซื้อ ตรงนี้เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอข้อมูลจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการ สำหรับคำถามของคุณ ขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

๑. ยาแต่ละชนิดมีอายุการเก็บ ไม่เท่ากัน โดยทั่วไป ยาที่มีอายุสั้นมักจะมีการระบุวันหมดอายุไว้ชัดเจน ส่วนยาที่ไม่ระบุวันหมดอายุหรือระบุเพียงวันที่ผลิตมักจะมีอายุยาว แต่นานสุดไม่เกิน ๕ ปี

  • วันหมดอายุ อาจเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "Expiry Date" หรือ "Exp. Date" หรือ "Used before"
  • วันที่ผลิต อาจเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "Manu. Date" หรือ "Mfg. Date"

๒. ปกติยาเม็ด ยาแคปซูล อาจมีอายุนานกว่ายาน้ำ ถ้าหมดอายุอาจมีการเปลี่ยนแปลงของรูปลักษณ์ สี กลิ่น รส เช่น

  • ยาแคปซูลเตตราไซคลีน (ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะใช้ฆ่าเชื้อ) เปิดเปลือก แคปซูลดูผงยาภายใน จะเปลี่ยนจากสีเหลืองนวลเป็นสีน้ำตาลหรือช็อกโกแลต
  • ยาเม็ดแอสไพริน เมื่อถูกความชื้นจะเสื่อมง่าย เกิดเป็นเกล็ดใสๆ ปลายแหลมๆ เกาะตามเม็ดยา มีกลิ่นเปรี้ยวฉุนมาก
  • ยาเม็ดวิตามินซี เมื่อถูกความชื้นจะเสื่อมง่าย เปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น
  • ยาแคปซูลต่างๆ ถ้าเก่าเก็บ อาจมีราขึ้นบนเปลือกแคปซูล ก็ควรทิ้งเสีย
  • ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน ถ้าเสียจะเห็นราขึ้น หรือเขย่าไม่เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน หรือเปลี่ยนสี หรือมีรสเปรี้ยว
  • ยาพวกอีมัลชั่น (เป็นยาน้ำผสมน้ำมัน) ปกติเมื่อตั้งทิ้งไว้จะแยกเป็นชั้น และเมื่อเขย่าจะเข้ากันดี แต่ถ้ายาเสื่อมแล้วจะไม่เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
  • ยาหยอดตา ถ้าเสื่อมจะเปลี่ยนจากน้ำใสๆ เป็นน้ำขุ่น หรือหยอดแล้วมีอาการแสบตามากกว่าปกติ

๓. การกินยาที่หมดอายุ นอกจากไม่ได้ผลในการรักษา อาจทำให้โรคลุกลามเป็นอันตรายได้แล้ว บางครั้งตัวยาที่เสื่อมอาจก่อโทษต่อร่างกายได้ เช่น ยาเตตราไซคลีน (ที่มักจะมียี่ห้อที่ลงท้ายด้วยคำว่า "ไมซิน") ที่หมดอายุจะเปลี่ยนเป็นสารที่มีอันตรายต่อไต ทำให้ไตอักเสบ ไตวาย อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ยาแอสไพรินที่หมดอายุจะเปลี่ยนเป็นกรดซาลิกไซลิก มีกลิ่นเปรี้ยวฉุนมาก กินแล้วอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร กลายเป็นโรคกระเพาะได้ เป็นต้น

๔. โดยทั่วไป เรามักจะแนะนำให้เก็บยาไว้ในตู้ยาหรือลิ้นชักตู้ที่มิดชิด เพื่อไม่ให้ถูกแสงสว่างและความร้อน ซึ่งจะทำให้ยาเสื่อมง่าย อีกทั้งป้องกันมิให้เด็กๆ หยิบฉวยไปกินเล่น (ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นของกินเล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาน้ำเชื่อมที่มีรสหวาน) บางคนนิยมเก็บยาน้ำหรือน้ำเชื่อมไว้ในตู้เย็น  ข้อนี้นับว่าไม่จำเป็น แต่ก็ไม่มีข้อเสียอะไร ยาที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำ ก็คือ ยาพวกวัคซีนที่ใช้ฉีด รวมทั้งยาฉีดลดภูมิแพ้  ซึ่งยาเหล่านี้แพทย์ที่สั่งใช้จะมีข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีเก็บยา อธิบายให้ผู้ใช้ได้เข้าใจต่างหาก

๕. ยาที่มีอายุการใช้งานน้อยมักจะเป็นพวกยาน้ำ โดยเฉพาะยาน้ำที่อาจเสื่อมง่ายเมื่อถูกแสง เช่น ยาน้ำไฮโป (โซเดียมไทโอซัลเฟต) ที่ใช้ทารักษาโรคเกลื้อน ยาน้ำเอฟีดรีน ที่ใช้ป้ายจมูก แก้อาการคัดจมูก มักจะเสื่อมเร็ว อาจต้องใช้แบบที่เตรียมให้ใหม่ๆ และมีอายุใช้งานประมาณ ๒ สัปดาห์ ถ้าเกินจากนี้ก็ควรจะเปลี่ยนใหม่

ขอย้ำว่า "ยามีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์" ในการใช้ยาจึงต้องศึกษาให้เข้าใจถึงสรรพคุณ ขนาดที่ใช้ ผลข้างเคียง อันตราย ข้อควรระวัง รวมทั้งต้องหมั่นอ่านฉลากยาให้รู้แน่ว่ายายี่ห้อที่ใช้นั้นประกอบด้วยชื่อยาแท้หรือชื่อสามัญทางยาว่าอะไร (การทราบชื่อยาแท้ จะทำให้เรามีโอกาสเลือกซื้อยายี่ห้อที่ราคาถูกกว่า ไม่ต้องจ่ายแพงโดยไม่จำเป็น) ข้อสำคัญจะต้องถามให้รู้แน่ชัดว่ายาหมดอายุเมื่อไร ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้มั่นใจในการใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิด "โรคยาทำ" ตามมา