• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อยากทราบเกี่ยวกับอาหารที่มีกรดยูริกสูงที่ควรงด

ผู้ถาม : จันทร์เพ็ญ/จันทบุรี
ดิฉันอายุ ๕๐ ปี ส่วนสูง ๑๕๐ เซนติเมตร น้ำหนัก ๔๗ กิโลกรัม หมดประจำเดือนอายุ ๔๖ ปี สถานภาพโสด
- ตรวจสุขภาพครั้งล่าสุด เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ สิ่งผิดปกติ โคเลสเตอรอลสูง ๒๔๔ ยูริก ๖.๖  มีอาการปวดตามข้อนิ้วเกือบทุกข้อ เป็นครั้งคราวไม่มาก
- ไม่ดื่มเหล้า หรือสิ่งมึน   เมาต่างๆ ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเนื้อสัตว์ (ยกเว้นปลา) ดื่มน้ำเต้าหู้ (ทำเองจาก ถั่วเหลืองล้วนๆ ชนิดเข้มข้น) วันละ  ๑ ลิตร หรือมากกว่านั้น และที่ชอบกินคือ พืชผัก ผลไม้ ธัญพืช 
- เท่าที่ทราบจากแพทย์ และข้อมูลจากเอกสาร อาหารและพืช  ผักที่สมควรงดคือ เครื่องในสัตว์ เนื้อ สัตว์ กุ้ง กะปิ หน่อไม้ ผักทอดยอด เห็ดทุกชนิด เป็นต้น
ดิฉันมีปัญหาอยากจะขอเรียน ถามคุณหมอดังนี้ค่ะ
๑. ยอดผัก ผักทอดยอด รวมถึงผักบุ้งจีน (ขึ้นเป็นต้น) ยอดผักหวานรวมอยู่ในผักที่ควรงดด้วยหรือไม่
๒. พืชผักทอดยอด ห้ามกินผลของพืชผักเหล่านั้นด้วยหรือไม่ เช่น ฟักแฟง ฟักทอง+เมล็ดฟักทองอบแห้ง และเมล็ดงาดำ (งดดำป่นจะกินเป็นประจำ)
๓. ธัญพืชทุกชนิดด้วยหรือไม่ คือจะกินเมล็ดทานตะวันอบแห้งเป็นประจำ ควรหยุดกินหรือไม่
๔. ถั่วเหลืองที่แปรรูปเป็น น้ำถั่วเหลืองมียูริกสูงหรือไม่ ดื่มมากๆ จะเป็นอันตรายไหม
๕. อยากทราบอาหารที่ควรกินและควรงด และการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ

                  
ผู้ตอบ : รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล
คุณรักษารูปร่างได้ดี ค่าดัชนีมวลกายอยู่ในค่าปกติ ค่าโคเลสเตอรอลสูงเล็กน้อย
มีปัญหาเรื่องมีอาการของเกาต์ ซึ่งปกติพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในผู้หญิงมักพบหลังหมดประจำเดือน 
ค่าปกติของยูริกในเลือด ๒.๓-๗.๑ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตร ซีรั่มของคุณนภา ๖.๖ มิลลิกรัม ถือว่าอยู่ในค่าปกติ แต่มีอาการ ดังนั้น ควรให้ความสำคัญในเรื่องอาหาร
๑. ขณะที่เกิดอาการ หรือผู้ที่เป็นโรคเกาต์ ควรงดยอดผักทุก ชนิด เพราะส่วนที่กำลังงอกจะมี  สารพิวรีนสูงเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้ ยอดผักบุ้งจีน ผักทอดยอด ยอดคะน้า และยอดผักหวานก็เป็นอาหาร ที่ควรละเว้น  โดยเฉพาะที่เกิดอาการ
๒. ผลของพืชไม่ได้ห้าม แต่เมล็ดพืชควรงด รวมทั้งงาด้วย ให้สังเกตว่าอะไรที่สามารถงอกได้จะ มีการสะสมสารพิวรีนแม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม
๓. เช่นเดียวกับข้อ ๒ คือเมล็ดพืชทุกชนิดที่งอกได้จะมียูริกค่อนข้างมาก ควรงดโดยเฉพาะขณะมีอาการ
๔. ถั่วเมล็ดแห้งทั้งหลายมีสารยูริกสูงปานกลาง หากกินไม่มาก ก็ไม่เป็นไร แต่ในที่นี้คุณดื่มนมถั่วเหลืองชนิดเข้มข้นวันละ ๑ ลิตร หรือมากกว่านับว่าปริมาณมากเกิน ทำให้ได้รับพิวรีนมาก ประกอบกับโปรตีนก็สูง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นการสร้างกรดยูริกภายในร่างกายได้ ควรลดปริมาณการดื่มนมถั่วเหลืองลงให้เหลือวันละ ๒ แก้ว ถ้าอาการ ยังไม่ดีขึ้นอาจต้องงดสักระยะหนึ่งก่อน ให้เวลาร่างกายขับยูริกออกก่อน ปกติเมื่อปรึกษาแพทย์ๆ จะให้ยาขับยูริก และอาการจะดีขึ้นใน ๓-๔ วัน
๕. การเกิดกรดยูริกมาจาก ๒ ปัจจัย
- ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สารต่างๆ ในอาหารทั่วไปที่มีผลทำให้ปริมาณกรดยูริกในร่างกายสูงขึ้นได้ เช่น สารพิวรีน กรดยูริก หรือเกลือของกรดยูริกในอาหาร สารพวกนี้จะถูกเผาผลาญเป็นกรดยูริกได้
- เกิดจากปัจจัยภายใน กรดยูริกที่เกิดจากการสลายตัวของเซลล์ต่างๆในร่างกาย เช่น ถ้ากล้ามเนื้อทำงานมากขึ้นหรือในภาวะอดอาหารมีการสลายของกล้ามเนื้อ จะมีสารพิวรีนเกิดมาก กรดยูริกก็เกิดมากด้วยอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่  เครื่องในสัตว์ ปลาซาดีน ตับ ไต น้ำสกัดจากเนื้อน้ำต้มกระดูก อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง  ได้แก่  เนื้อ ไก่ ปลา อาหารทะเล หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม ถั่วต่างๆ เห็ด กะหล่ำดอก ยอดผักต่างๆ อาหารที่มีพิวรีนต่ำ ได้แก่  ผักเกือบทุกชนิด ผลไม้ ไข่  นม เนยแข็ง เมล็ดข้าวขัดสี แป้ง (ยกเว้นแป้งสาลี)

นอกจากนี้ ยาบางอย่าง เช่น แอสไพริน และยาที่เข้าซาลิไซเลต ยับยั้งการขับยูริกออกจากร่างกาย อาหารที่มีไขมันสูงจะยับยั้งการขับยูริกออกจากร่างกาย น้ำดื่มก็นับว่าสำคัญ ควรดื่มน้ำให้มาก อาจถึง ๓ ลิตรต่อวัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีกรดยูริกเข้มข้นมากจนตกตะกอนและจับตัวเป็นผลึก ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้

สำหรับเรื่องการออกกำลังกาย ขณะที่มีอาการไม่ควรออกกำลังกาย เพราะกล้ามเนื้อทำงานมาก ก็มีสารพิวรีนมากขึ้น และมีการสร้างสาร  แลคเตท ทำให้การขับยูริกลดลง ในภาวะปกติที่ไม่มีอาการกำเริบ คือสามารถควบคุมอาการของโรคได้ ก็ออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่หนักเกินไป เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ โยคะ เป็นต้น