• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อีคิว-ไอคิว

อีคิว-ไอคิว


ทักษิณา/มหาสารคาม : ผู้ถาม
ดิฉันดูโทรทัศน์ รายการเกี่ยวกับแม่และเด็ก พูดถึงอีคิวเคยได้ยินแต่ไอคิว อยากรู้ว่าอีคิวและไอคิวต่างกันอย่างไร เพราะหาข้อมูลยากพอควรที่มหาสารคามนี้
 

กองบรรณาธิการ : รวบรวมข้อมูลตอบ
อีคิว (EQ) มาจากคำว่า Emotional Quotient หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข อีคิว ถือเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงการศึกษาและจิตวิทยา เพราะเพิ่งได้รับความสนใจ และยอมรับในความสำคัญอย่างจริงจังประมาณ ๑๐ กว่าปีมานี้ เดิมเคยเชื่อกันว่าความสามารถทางเชาว์ปัญญาหรือไอคิว คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีและมีความสุข ความฉลาดทางอารมณ์ = เข้าใจตนเอง + เข้าใจผู้อื่น + แก้ไขความขัดแย้งได้

เข้าใจตนเอง ---- เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการในชีวิตของตนเอง

เข้าใจผู้อื่น ---- เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น และสามารถแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสม

แก้ไขความจัดแย้งได้ ---- เมื่อมีปัญหาสามารถแก้ไขจัดการให้ผ่านพ้นไปได้อย่างเหมาะสมทั้งปัญหาความเครียดในใจ หรือปัญหาที่เกิดจากการขัดแย้งกับผู้อื่น

อีคิวกับไอคิวต่างกันอย่างไร

ไอคิว (IQ) Intelligence Quotient หมายถึง ความฉลาดทางเชาว์ปํญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ การเชื่อมโยง

อีคิว (EQ) Emotional Quotient  หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์เป็นความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจอารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างไรเหมาะสมกับสภาวการณ์

ไอคิว เป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก
อีคิว ถึงแม้จะเป็นศักยภาพทางสมองเหมือนกัน แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นได้

ไอคิว สามารถออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนได้
อีคิว ไม่สามารถระบุชี้ออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลข

การวัดไอคิว เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๙๐๕ โดยนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ต้องการแยกบุคคลปัญญาอ่อนจากคนปกติเพื่อจะได้จัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม โดยใช้การเปรียบเทียบระหว่างความสามารถที่ควรจจะเป็นกับอายุสมองแล้วคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน การวัดไอคิวโดยมากนักใช้แบบทดสอบ ๑๑ กลุ่ม ดังนี้

๑. ข้อมูลทั่วไป เป็นคำถามเพื่อตรวจวัดความสนใจความรู้รอบตัว
๒. ความคิด ความเข้าใจ
๓. การคิดคำนวณ
๔. ความคิดที่เป็นนามธรรม โดยให้หาความเหมือน
๕. ความจำระยะสั้น โดยใช้การจำจากตัวเลข
๖. ภาษาในส่วนของการใช้คำ
๗. การต่อภาพในส่วนที่ขาดหายไป
๘. การจับคู่โครงสร้าง โดยดูจากรูปร่างหรือลวดลาย
๙. การเรียงลำดับภาพเหตุการณ์ต่างๆ
๑๐. การต่อภาพเป็นภาพเป็นรูป ด้วยการต่อจิ๊กซอว์
๑๑. การหาความสัมพันธ์ของตัวเลขและสัญลักษณ์

การวัดอีคิว เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ไม่มีแบบมาตรฐานที่แน่นอน เป็นเพียงการประเมินเพื่อให้ผู้วัดมองเห็นความบกพร่องของความสามารถทางด้านอารมณ์ที่ต้องพัฒนาแก้ไข โดยประเมินจากความสามารถด้านหลัก ๓ ด้าน คือ ดี เก่ง สุข

ดี 
๑. ควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง
๒. เห็นใจผู้อื่น
๓. รับผิดชอบ

เก่ง 
๔. รู้จักและมีแรงจูงใจในตนเอง
๕. ตัดสินใจและแก้ปัญหา
๖. มีสัมพันธภาพกับผู้อื่น

สุข 
๗. ภูมิใจในตนเอง
๘. พึงพอใจในชีวิต
๙. มีความสุขสงบ

เนื่องจากไอคิวสามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ จึงมีผู้ให้ความสำคัญกับไอคิวมาโดยตลอด เด็กที่เรียนเก่งจะมีแต่คนชื่นชม พ่อแม่ครูบาอาจารย์รักใคร่ ต่างจากเด็กที่เรียนปานกลาง หรือเด็กที่เรียนแย่ มักไม่ค่อยเป็นที่สนใจ หรือถูกดุด่า ทั้งๆ ที่เด็กเหล่านี้อาจจะมีความสามารถทางด้านอื่น เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพียงแต่ไม่มีความถนัดเชิงวิชาการเท่านั้นเอง

มาในช่วงหลังๆ ความเชื่อมั่นในไอคิวเริ่มสั่นคลอน เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการวัดและความสำคัญของไอคิว จนในที่สุดเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมาจึงยอมรับกันว่า แท้จริงแล้วไอคิวอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้คนๆ หนึ่งประประสบความสำเร็จในชีวิตได้ทุกด้าน เพราะในความเป็นจริง ชีวิตต้องการทักษะและความสามารถในด้านอื่นๆ อีกมากมายที่นอกเหลือไปจากการจำเก่ง การคิดเลขเก่ง หรือการเรียนเก่ง ความสามารถเหล่านี้อาจจะช่วยให้คนๆ หนึ่งได้เรียน ได้ทำงานในสถานที่ดีๆ แต่คงไม่สามารถเป็นหลักประกันถึงชีวิตที่มีความสุดได้

การจัดค่าระดับไอคิว

  • ฉลาดมาก   (very superior)   ๑๓๐ ขึ้นไป
  • ฉลาด   (superior)   ๑๒๐-๑๒๙
  • สูงกว่าปกติ  (bright normal)   ๑๑๐-๑๑๙
  • ปกติ   (normal)   ๙๐-๑๐๙
  • ต่ำกว่าปกติ  (dull normal)   ๘๐-๘๙
  • คาบเส้น  (borderline)   ๗๐-๗๙
  • ปัญญาอ่อน  (mental retardation)  ต่ำกว่า ๗๐