• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระเพาะ

ถาม : ขวัญตา/กรุงเทพฯ
ดิฉันอายุ ๔๗ ปี มีอาชีพค้าขาย มีปัญหาคือ ดิฉันเป็นโรคกระเพาะไป หาหมอมา ๒ ครั้ง กินยาติดต่อกันมา ๑ เดือนแล้ว อาการดีขึ้น จึงหยุดยา ต่อมากินข้าวไม่ตรงเวลา รู้สึกว่าแสบ ท้องขึ้นมาอีก ขณะนี้กินยาลดกรดอยู่
จึงขอเรียนถามว่า
- ควรจะปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันอย่างไร
- ยาลดกรดนี้เมื่อกินไปนานๆ จะมีผลข้างเคียงหรือไม่
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยแนะนำด้วยนะคะ

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
โรคกระเพาะอาหารมักจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากินข้าวไม่ตรงเวลา หรือเผลอกินยาแก้ปวดที่เข้ายาแอสไพริน (รวมทั้งยาแก้ปวดชนิดซองยี่ห้อต่างๆ) หรือเผลอดื่มเหล้า (รวมทั้งยาดองเหล้า) ก็มักจะทำให้เกิดอาการกำเริบได้

การปฏิบัติตัวขอแนะนำดังนี้
๑. อย่าปล่อยให้ท้องหิว ต้องพยายามกินอาหารให้ตรงเวลา ถ้ารู้สึกก่อนเวลา ควรดื่มนม น้ำข้าว หรือยาลดกรด
๒. อย่ากินอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น เหล้า เบียร์ น้ำอัดลม ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ ยาชุดที่เข้าสารสตีรอยด์ เป็นต้น
๓. ควรงดบุหรี่ ชา กาแฟ รวมทั้งน้ำอัดลม
๔. ที่สำคัญที่สุดคือ ควรหมั่นออกกำลังกาย (เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ) นอกจากมีผลให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้จิตใจสดชื่นเบิกบาน คลายเครียด ซึ่งจะมีส่วนช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารได้มาก

ส่วนยาที่จำเป็นก็คือ ยาลดกรด ควรกินชนิดน้ำ (มักเป็นน้ำสีขาวขุ่นๆ) เขย่าขวดก่อนกิน จะเป็นยี่ห้อไหนก็ ได้ ครั้งละ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร ๑ ชั่วโมง และก่อนนอน ถ้ารู้สึกแสบท้องหรือหิวก่อนเวลา ก็สามารถให้ดื่มยาเพิ่มเติมได้

ยาลดกรดนี้สามารถกินติดต่อกันได้นานๆ (เป็นเดือน เป็นปี) โดยไม่มีโทษอะไรมาก นอกจากบางชนิด อาจทำให้ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเดิน ก็ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม
ก่อนจบขอย้ำอีกครั้งว่า โรคนี้ขึ้นกับการปฏิบัติตัวเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายคลาย เครียดจะช่วยให้โรคนี้หายขาดได้