• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้ร้อนและไข้เย็น

ไข้ร้อนและไข้เย็น


ผู้ถาม สุริยะ/มหาสารคาม

ไข้ร้อนและไข้เย็น ไม่ทราบว่ามีอาการเป็นอย่างไร และจะวินิจฉัยโรคได้อย่างไร

เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะความป่วยไข้ที่มักจะมาพร้อมกับฝน อยากจะขอเรียนถาม เพื่อขอทราบการวินิจฉัยอาการตามทัศนะแพทย์แผนจีน ดังนี้ ร่างกายมีภาวะเป็นยินหรือหยางขณะมีอาการเหล่านี้

๑. ไข้หวัด น้ำมูกไหล
๒. ไอ, เจ็บคอ
๓. มีเสมหะในลำคอ

จากความเข้าใจเดิมๆของผม เมื่อมีน้ำมูกไหล ผมจะคิดว่าร่างกายเย็นเกินไป (เป็นยิน) เสมอ แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้ฟังจากบางคนว่าอาการบางอย่าง เช่น ไข้ อาจเกิดได้จากร่างกายมีภาวะยินก็ได้ หรือเกิดจากขณะมีภาวะหยางก็ได้ เรียกว่ามีทั้งไข้ร้อนและไข้เย็น ผมจึงเกิดความสงสัยว่า อาการทั้ง ๓ ข้อที่ยกมาข้างต้นนี้ อาจเกิดจากขณะที่ร่างกายมีภาวะยินหรือหยางได้ด้วยหรือไม่ ถ้าอาจเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง แล้วจะสังเกตได้อย่างไรว่าขณะใดเป็นยินและขณะใด เป็นหยาง(รวมทั้งไข้ร้อนและไข้เย็น ด้วย) ที่ต้องแยกแยะให้ออกว่าร่างกายในขณะนั้นๆเป็นยินหรือหยาง เพื่อจะปรับร่างกายให้กลับสู่สมดุลได้ถูกต้อง เพราะถ้าวินิจฉัยภาวะอาการผิด ก็คงจะปรับร่างกาย ได้ไม่ถูกต้องใช่ไหมครับ ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะครับ


ผู้ตอบ นพ.วิทวัส วัณนาวิบูล

อาการดังกล่าวข้างต้นสามารถแบ่งได้เป็นยินและหยาง (ดูตามตาราง) ตัวอย่าง ไข้หวัด น้ำมูกไหล มีไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะ ถ้าเป็นไข้หวัดจากความเย็น (ไข้หวัดเกิดจากลม+ความเย็น) จะไม่มีเหงื่อ เสมหะจะเหลวไม่ข้น ปวดเมื่อยตามแขนขาแบบหนักๆ ลิ้นมีฝ้าสีขาวบาง ชีพจรจะลอยและแน่น คล้ายๆ กับคนที่เริ่มเป็นหวัดใหม่ๆ จากการติดเชื้อไวรัส ในการแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่า หวัดเย็น



ถ้าเป็นหวัดจากความร้อน (ไข้หวัดเกิดจากลม+ความร้อน) คล้ายกับโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น คออักเสบ ทอนซิลอักเสบในแผนปัจจุบัน อาการสำคัญคือ มีไข้ แน่นจมูก น้ำมูกจะข้น เหงื่อออก ปวดศีรษะ คอแห้ง ปากแห้ง ไอมีเสมหะ เหลืองข้น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ตรวจลิ้นดู มีฝ้าเหลืองบาง ชีพจรลอยและเร็ว

การแยกแยะสภาพของร่างกายหรือหลักการวินิจฉัยโรคทั้ง ๘ (ปากังเปี่ยนเจิ้ง) มีความสำคัญมาก บางครั้งโรคมีอาการคล้ายกัน แต่สภาพรายละเอียดและอาการอื่นๆ ที่ร่วมด้วยต่างกัน การวินิจฉัยและการวางแผนการรักษา ตลอดจนวิธีการรักษาก็แตกต่างกันด้วย หลักการวินิจฉัยต้องแยกแยะว่าเป็นยิน-หยาง, ใน-นอก, เย็น-ร้อน, พร่อง-แกร่ง โรคบางโรคมีอาการหยางแต่พื้นฐานมียินเป็นเหตุ หรือบางโรคมีอาการยิน แต่พื้นฐานมีหยางเป็นเหตุ เรียกว่าเป็นยินในหยาง หรือเป็นหยางในยิน ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนการรักษาทั้งอาการที่เกิดและรักษาต้นเหตุ สมดุลพื้นฐาน ควบคู่กับปัจจัยหลายอย่างครับ