• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต่อมธัยรอยด์

ต่อมธัยรอยด์คืออะไร และอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ โรคธัยรอยด์เป็นพิษ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม
ผู้ถาม วิสิทธิ์/กรุงเทพฯ
ผู้ตอบ น.พ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ 

ถาม ผมมีเรื่องขอเรียนปรึกษาคุณหมอดังนี้ครับ
๑. ต่อมธัยรอยด์คืออะไร และอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดต่อม ธัยรอยด์เป็นพิษ
๒. อาการแรกเริ่มของโรคต่อม ธัยรอยด์เป็นพิษ จะแสดงอาการให้เห็นอย่างไรบ้าง และทำอย่างไรจึงจะรู้แต่แรกว่าเป็นโรคนี้
๓. ชายและหญิงใครมีโอกาสเป็นได้ง่ายกว่ากัน
๔. โรคธัยรอยด์เป็นพิษรักษาหายขาดได้ไหม มีวิธีการรักษาอย่างไร และใช้เวลานานเพียงไร ในการรักษา
๕. วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคต่อม ธัยรอยด์เป็นพิษจะทำได้อย่างไร
 
ตอบ ๑. ต่อมธัยรอยด์เป็นต่อมฮอร์โมนขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่ตรงด้านหน้าของลำคอ ต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย มีรูปร่างเหมือนเกือกม้า แบ่งเป็นปีกซ้ายและปีกขวา ซึ่งเชื่อมต่อด้วยคอคอดตรงกลาง ปกติจะมีขนาดใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย และมองเห็นจากภายนอกไม่ชัดเจน

ต่อมนี้ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่เรียกว่า “ฮอร์โมนธัยรอยด์” โดยใช้สารไอโอดีนจากอาหาร(เช่น อาหารทะเล, เกลือทะเล, เกลืออนามัย) ที่เรากินเข้าไปเป็นวัตถุดิบ ฮอร์โมนชนิดนี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายมีการเผาผลาญสารอาหารให้เกิดพลังงาน และ กระตุ้นให้เซลล์ต่างๆทั่วร่างกายทำงานเป็นปกติ

ต่อมธัยรอยด์จะถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมอง (ต่อมฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งซึ่งอยู่บริเวณใต้สมอง) โดยที่ต่อมใต้สมองจะมีการสร้างฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมธัยรอยด์” ออกมาในกระแสเลือดไปกระตุ้นให้ต่อมธัยรอยด์หลั่งฮอร์โมนธัยรอยด์ในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย ทั้งนี้มีกลไกถ่วงดุลระหว่างกัน อย่างน่ามหัศจรรย์ยิ่ง กล่าวคือ ถ้าระดับฮอร์โมนธัยรอยด์ในกระแสเลือด มีน้อยเกินไป ต่อมใต้สมองก็จะเร่งสร้างฮอร์โมนกระตุ้นต่อมธัยรอยด์ให้ผลิตฮอร์โมนธัยรอยด์ให้มากขึ้นจนพอ ตัวอย่างเช่น คนที่เป็นโรคคอพอก(ต่อมธัยรอยด์โต) เนื่องจากการขาดสารไอโอดีน ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนได้น้อย ต่อมใต้สมองก็จะสร้างฮอร์โมนกระตุ้นต่อมธัยรอยด์ให้ทำงานมากขึ้น โดยทำให้ต่อมธัยรอยด์โตขึ้นกว่าปกติ เพื่อจะได้สร้างฮอร์โมนธัยรอยด์ได้เพียงพอ

ในทางตรงข้าม ถ้าระดับฮอร์โมนธัยรอยด์ในกระแสเลือดมีมากเกินไป ต่อมใต้สมองก็จะชะลอการสร้างฮอร์โมนกระตุ้นธัยรอยด์ ซึ่งจะ ส่งผลให้ต่อมธัยรอยด์ลดการสร้างฮอร์โมนลงให้เหลือปริมาณเท่าที่ร่างกายต้องการ

กลไกถ่วงดุลระหว่างต่อมธัยรอยด์ฮอร์โมนทั้ง ๒ นี้ ช่วยให้ ร่างกายเกิดความปกติสุข

                                                                        

แต่คนบางคนอาจมีการสร้างฮอร์โมนธัยรอยด์ในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีการสร้างสารชนิด หนึ่ง (ภาษาอังกฤษเรียกว่า long-acting thyroid stimulator เรียกย่อๆว่า LATS) สารชนิดนี้จะออกฤทธิ์แบบเดียวกับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมธัยรอยด์ แต่ออกฤทธิ์นานกว่าและจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของกลไกถ่วงดุลดังกล่าวข้างต้น จึง กระตุ้นให้ต่อมธัยรอยด์มีขนาดโตขึ้น และผลิตฮอร์โมนธัยรอยด์จำนวนมากออกมาในกระแสเลือด ทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารมากผิดปกติ เกิดอาการไม่สบายต่างๆ เรียกว่า ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงาน เกิน (บ้างก็เรียกว่า โรคคอพอก เป็นพิษ, ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ)

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีการสร้างสารประหลาดดังกล่าวนั้น ยังบอกไม่ได้แน่ชัด เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของปฏิกิริยา ภูมิต้านทานภายในร่างกาย นอกจากนี้ความเครียดทางจิตใจก็มีส่วนกระตุ้นให้โรคกำเริบได้
๒. อาการแรกเริ่มของโรคนี้ ได้แก่ อาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น, ใจหวิว, ขี้ร้อน, เหงื่อออกมาก, น้ำหนักลดทั้งๆที่กินได้ปกติหรือกินเก่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายมีการเผาผลาญอาหารมากกว่าปกติ ถ้าคลำชีพจรดูจะพบว่าเต้นเร็ว (นาที ละ ๑๐๐-๑๓๐ ครั้งต่อนาทีขึ้นไป)
บางคนอาจมีอาการมือสั่น, ถ่ายเหลวบ่อย, นอนไม่หลับ, คอโต (คอพอก) หรือตาโปนร่วมด้วย แพทย์ผู้ชำนาญอาจวินิจฉัย จากการซักถามอาการและการตรวจร่างกายเพิ่มเติม แต่การวินิจฉัยที่แน่ชัด คือการเจาะเลือดตรวจดูระดับฮอร์โมนธัยรอยด์ ซึ่งจะพบว่าสูงผิดปกติ
๓. โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่า ผู้ชาย และมักพบในช่วงอายุ ๒๐- ๔๐ ปี
๔. โรคนี้มีทางรักษาให้หายได้ การรักษามี ๓ วิธี ได้แก่
๑) การให้ยาต้านธัยรอยด์ กดการทำงานของต่อมธัยรอยด์ทำให้ ผลิตฮอร์โมนธัยรอยด์น้อยลงจนกลับ สู่ระดับปกติ ต้องกินนาน ๑๘-๒๔ เดือน
ข้อเสียคือ หลังจากหยุดยาแล้วบางคนอาจมีอาการกำเริบได้อีก
๒) การผ่าตัดเอาต่อมธัยรอยด์บางส่วนออก
๓) การกินน้ำแร่ซึ่งมีรังสี ทำลายเนื้อเยื่อต่อมธัยรอยด์

สองวิธีหลังนี้เป็นการทำลาย เนื้อเยื่อต่อมธัยรอยด์บางส่วน เพื่อให้เหลือบางส่วนไว้ผลิตฮอร์โมน ธัยรอยด์ในปริมาณที่ไม่สูงเกินความต้องการของร่างกาย
ข้อเสียคือ ถ้าผ่าตัดหรือใช้รังสีน้ำแร่ปริมาณน้อยเกินไปก็จะรักษาไม่ได้ผล ต้องทำซ้ำ แต่ถ้าผ่าตัด หรือใช้รังสีน้ำแร่ปริมาณมากเกินไปก็ทำให้ต่อมธัยรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ในกรณีนี้ คนไข้จำเป็นต้องกินฮอร์โมนธัยรอยด์เสริมทุกวัน(วันละ ๑-๒ เม็ด)ไปจนตลอดชีวิต
การจะเลือกใช้วิธีไหน ต้องขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์ผู้รักษา เป็นสำคัญ