• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดท้องประจำเดือนและวัยหมดประจำเดือน

ปวดท้องประจำเดือนและวัยหมดประจำเดือน

ผู้ถาม ปนัดดา/สมุทรสงคราม
อาการปวดประจำเดือน เกิดจากสาเหตุอะไร และจะรักษาให้หายได้หรือไม่

ดิฉันอายุ ๑๘ ปี บ่อยครั้งที่มีประจำเดือน ดิฉันจะปวดท้อง (บริเวณหน้าท้อง) กินยาพาราเซตามอล แก้ปวดก็ไม่หาย ปวดจนต้องหยุดงาน ดิฉันอยากจะถามว่าอาการแบบนี้ เป็นโรคอะไรภายในหรือเปล่าคะ เกิดจากสาเหตุอะไร และจะรักษาอาการปวดท้องนี้ให้หายได้ อย่างไร อีกเรื่องหนึ่ง ดิฉันได้ยินบ่อยๆว่า พอผู้หญิงอายุมากขึ้น ก็จะถึงวัยหมดประจำเดือน แต่ทำไมถึงได้ให้ความสำคัญกับการหมดประจำเดือน (สังเกตจากที่มีการอบรมให้ความรู้ต่างๆ จะมีเรื่องนี้บ่อยๆ เช่น ผู้ชาย-ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะเตรียมตัวอย่างไร) ไม่ทราบว่า การหมดประจำเดือนมีผลข้างเคียงหรืออันตรายอะไรหรือเปล่าคะ

ผู้ตอบ อาจารย์จริยาวัตร คมพยัคฆ์
การปวดท้องน้อยของสตรี จะหมายถึง การปวดท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี ได้แก่ มดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ รวมทั้งเยื่อบุช่องท้องส่วนอุ้งเชิงกราน และลำไส้ส่วนล่างๆ การปวดท้องน้อยในระยะมีประจำเดือน มักเรียกกันว่า "การปวดประจำเดือน" การปวดประจำเดือนพบได้ในสตรีที่มีภาวะร่างกายปกติโดยทั่วไป แต่ถ้ามีการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของตัวมดลูก เช่น มีการหดรัดตัวมากเกินไป หรือมีเนื้องอกในโพรงหรือตัวมดลูก และยังอาจพบได้ในคนที่มีความวิตกกังวลสูง มีความเครียดมาก

การปวดท้องน้อยที่พบได้บ่อย คือ มีการอักเสบของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากการติดเชื้อ อาการแสดงอาจมีมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการติดเชื้ออย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง

๑. การอักเสบชนิดเฉียบพลัน ทำให้มีการปวดท้องน้อยมากร่วมกับการมีไข้ มีตกขาวที่ผิดปกติ เชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบส่วนใหญ่เป็น "เชื้อหนองใน" บางส่วนเกิดจากการติดเชื้ออื่นๆ ภายหลังแท้งหรือคลอด

๒. การอักเสบชนิดเรื้อรัง มักเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มี "การปวดประจำเดือน" "ประจำเดือนออกมากกว่าปกติ" "เจ็บปวดขณะร่วมเพศ" และ "เป็นหมัน" การอักเสบชนิดเรื้อรังจะมีอาการปวดท้องน้อยไม่รุนแรงนัก อาจเป็นๆหายๆ และส่วนใหญ่สตรีที่ปวดท้องน้อยจะซื้อยากินเองทั้งยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะ สำหรับ "ยาปฏิชีวนะ" นั้น ถ้ากินเพียงเพื่อหายปวดท้อง จะทำให้ได้รับยาในจำนวนที่ไม่ถูกต้อง มีโอกาสให้เชื้อดื้อยาในภายหลัง

การปวดท้องน้อยทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ควรได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุที่ถูกต้อง แนะนำให้คุณไปพบหมอที่โรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านก็ได้ แล้วแต่สะดวก เพื่อหมอจะได้วินิจฉัยได้ถูกต้อง สำหรับการรักษานั้นแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรรักษาอย่างไร ซึ่งมีทั้งการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด คำถามอีกข้อที่คุณถามมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหมดประจำเดือน หมอขออธิบายให้คุณว่า การหมดระดูหรือหมดประจำเดือนในที่นี้หมายถึง "การไม่มีประจำเดือนตามวัยอันสมควร" เนื่องจากรังไข่หยุดการเจริญเติบโตไม่มีการสุกของไข่ เยื่อบุมดลูกไม่หนาขึ้นเพื่อรองรับไข่ที่ถูกผสมอีกแล้ว จึงไม่มีการลอกหลุดเป็นประจำเดือน วัยของการหมดประจำเดือน คือ อายุระหว่าง ๔๕-๕๕ ปี

ความเข้าใจเกี่ยวกับการหมดประจำเดือน มีความสำคัญต่อสตรีและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เพราะมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกายที่มีผลกระทบต่อภาวะจิตใจ จึงอาจทำให้สตรีวัยหมดประจำเดือนมีอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ วิตกกังวล ใจน้อย เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ ถ้าผู้ใกล้ชิดไม่เข้าใจจะรู้สึกรำคาญ อาจมีปฏิกิริยาบางอย่างที่ทำให้ผู้หมดประจำเดือนมีความไม่สบายใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่รังไข่เจริญเต็มที่ คือ ระยะที่มีประจำเดือนทุกเดือน รังไข่จะผลิตฮอร์โมนบางอย่างออกมา ทำให้ผิวพรรณงดงาม สดใส เต่งตึง แต่เมื่อรังไข่เสื่อมลงตามวัย ฮอร์โมนดังกล่าวจะน้อยลงทำให้ร่างกายมีการปรับตัว เกิดอาการที่พบได้บ่อย คือ ร้อนวูบวาบตามตัว เหงื่อออก ผิวหนังบริเวณหน้าและคอเป็นรอยเหี่ยวย่น ผิวหนังทั่วไปแห้ง เต้านมหย่อนเหี่ยว ช่องคลอดหย่อนยาน แห้ง เยื่อบุผิวบาง ทำให้เกิดการอักเสบตกขาวได้ง่าย มีความเจ็บปวดขณะร่วมเพศ บางคนมีอาการปัสสาวะเล็ด กลั้นไม่ได้ อาการที่แสดงออกเหล่านี้สตรีส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร จึงมีความวิตก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผิวพรรณ ความสวยงาม และเพศสัมพันธ์ จึงแสดงออกด้วยการหงุดหงิด ปวดศีรษะ วิตกกังวล นอนไม่หลับ อย่างไรก็ตามคุณคงไม่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะอาการเหล่านี้ อาจไม่เกิดกับสตรีบางคนเลย โดยเฉพาะสตรีที่ทราบว่า เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามวัยดังกล่าว

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการหมดประจำเดือนมีความสำคัญที่สตรีและผู้ใกล้ชิด ควรมีความเข้าใจร่วมกัน เห็นอกเห็นใจ และช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น วัยของการหมดประจำเดือนอาจเร็วหรือช้า อาจมีอาการมากหรือน้อยหรือไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะภาวะจิตใจ ภาวะครอบครัว อาการแสดงที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจมีในระยะใกล้การหมดประจำเดือน หรือในระยะที่หมดประจำเดือนใหม่ๆ และควรจะหายไปเมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้ว การมีงานอดิเรกทำในชีวิตประจำวัน การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย การทำบุญ และการช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้จิตใจแจ่มใส เป็นสุข พบว่า สตรีเหล่านี้ไม่มีอาการของวัยหมดประจำเดือนเกิดขึ้นเลย

อาการแสดงของการหมดประจำเดือนอาจมีมากในสตรีบางคน จึงควรขอคำปรึกษาและคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้บ้าน สำหรับสตรี วัยหมดประจำเดือนที่ไม่มีอาการใดๆ เลยก็ถือว่าเป็น "ลาภอันประเสริฐ"  ขอให้คุณนำความรู้ที่ได้รับนี้เผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไปด้วย สำหรับสตรีที่มีโรคบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับรังไข่หรือได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งหมด จะทำให้ไม่มีประจำเดือน อาจมีอาการดังกล่าวได้เช่นกัน นอกจากนี้สตรีบางคนที่ได้รับรังสีรักษา เช่น การฉายแสงรักษามะเร็งปากมดลูกมะเร็งเต้านม ผลของรังสีจะทำให้เกิดการหมดประจำเดือน หรือหมดระดูก่อนวัย ดังนั้นเมื่อคุณมีข้อสงสัยใดๆ ขอให้ถามแพทย์ผู้รักษาให้ละเอียดด้วย