• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคปอดจากการสูบบุหรี่

โรคปอดจากการสูบบุหรี่

ผู้ถาม อรชร/แพร่
เป็นโรคปอดจากการสูบบุหรี่ ต้องใช้ยาอะไรบ้าง จะดูแลและรักษาได้อย่างไร

ดิฉันมีปัญหาจะขอเรียนปรึกษา คุณหมอดังนี้ค่ะ
มารดาของดิฉันอายุ ๖๓ ปี เป็นถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ตอนนี้เลิกสูบบุหรี่แล้ว ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอจากโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง คือ Aminophylline 1x3 pc และ Terbutaline 1/2x3 pc (เดิมใช้ Salbutamol 1x3 pc) ได้รับยาแก้ไอเป็นบางครั้งประเภท Dextro 1xpm หรือยาแก้ไอน้ำ อาการไม่เคยดีขึ้นเลย มีแต่ทรงกับทรุด ไปพบแพทย์ ๒ เดือนต่อครั้ง ได้รับยาพ่นและออกซิเจนเวลาหอบมาก แต่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ ไข้ และปอดบวม อยากทราบว่ามียาอื่นหรือวิธีการรักษาแบบอื่นที่จะทำให้อาการดีขึ้นหรือไม่ ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ


ผู้ตอบ นพ.ชาญ เกียรติบุญศรี  
คนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง (COPD) เรื่องหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังจากการสูบบุหรี่นั้น ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ พวกถุงลมโป่งพองและพวกหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทั้ง ๒ แบบจะเหนื่อยง่าย แต่พวกหลังมีอาการไอมีเสมหะอยู่เรื่อยๆ และติดเชื้อโรคง่ายกว่าคนปกติทั่วไป เช่น กลุ่มไวรัส (หวัด) และกลุ่มแบคทีเรีย เป็นต้น การรักษาควรเน้นหนักใน การใช้ยาพ่นขยายหลอดลมที่มียา Ipratropium เป็นตัวยืน ที่พอจะหาซื้อได้ง่าย คือยา BerodualTM (ipratropium + fenoterol) อีกอย่างที่จะเริ่มแพร่หลายมากขึ้น คือยา CombiventTM (ipratropium + salbutamol) ยาพ่นเหล่านี้ควรใช้วันละ ๔ ครั้ง ซึ่งสามารถให้ได้ทั้งในรูปแบบยากดและแบบน้ำสำหรับใส่เครื่องพ่นยา

ถ้าใช้ในแบบยากด ก็ต้องรู้จักจังหวะวิธีกดและสูดยาเข้าปอด หรือใช้ร่วมกับอุปกรณ์ที่ช่วยการกระจายตัวยา (Spacer) เช่น A.C.E. เป็นต้น การใช้ยาเม็ดพวก Theo-phyline หรือ Salbutamol หรือ Terbutaline จะช่วยในกรณีที่มีอาการหนักกว่านี้ ในปัจจุบันมียาพ่นกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยาว ซึ่งทำหน้าที่คล้ายยาเม็ด  คือ เป็นยาควบคุมอาการโดยที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเม็ด ยาพ่นกลุ่มนี้ในบ้านเรามี Salmeterol และ Formoterol ที่น่าแปลก คือ ในผู้ป่วยบางคนจะมีผลตอบสนองดีต่อยาจำพวกสตีรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นแบบยาพ่นหรือยาเม็ดก็ตาม การใช้ยากลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เป็นรายๆ ไป การใช้ออกซิเจนในผู้ป่วยบางกลุ่มสามารถยืดชีวิตออกไปได้บ้าง โดยที่ผู้ป่วยเหล่านี้ควรใช้ออกซิเจนอย่างน้อยคืนละ ๑๒ ชั่วโมง เรื่องการใช้ยาแก้ไอก็ต้องระวังในกรณีที่เสมหะมีลักษณะของการติดเชื้อ เพราะจะทำให้เอาเสมหะออกไปไม่ได้ ซึ่งจะทำให้แย่ลงกว่าเดิมได้

ข้อควรปฏิบัติอีกอย่างถ้ามีสุขภาพพอใช้ได้แล้ว คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน เป็นต้น ผู้ที่ฝึกมาดีแล้วจะเจ็บป่วยน้อยกว่า แต่การออกกำลังกายก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตยืนยาวกว่าที่ควรเป็นแพทย์ที่ให้การรักษายังอาจแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางอย่างให้ด้วย ปัจจุบันมีการทดลองรักษาด้วยการผ่าตัดเอาปอดบางส่วนออก แต่ยังถือว่าอยู่ในขั้นการทดลอง ควรปรึกษาอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคระบบหายใจก่อนตัดสินใจด้วย