• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไวรัสตับอักเสบบี

โรคไวรัสตับอักเสบบีมีที่มาและสาเหตุเกิดจากอะไร และจะเกิดโรคแทรกซ้อนอะไรหรือไม่หรือจะมีวิธีป้องกันอย่างไร
ผู้ถาม
กรรณิการ์/กรุงเทพฯ
ผู้ตอบ นพ.อมร ลีลารัศมี 

ถาม ดิฉันมีข้อสงสัยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบี ดังนี้ค่ะ
๑. โรคไวรัสตับอักเสบบีมีที่มาและสาเหตุเกิดจากอะไรคะ เคยได้ยินว่ามีคนเป็นหลายคนแล้ว
๒. โรคนี้สามารถป้องกันได้หรือไม่อย่างไร
๓. โรคนี้จะมีอาการหรือโรคแทรกซ้อนหรือไม่อย่างไรคะ
๔. โรคนี้มีวิธีการรักษาอย่างไร รักษาหายขาดหรือไม่ 

ตอบ ๑. โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า ไวรัสตับอักเสบบี เชื้อชนิดนี้อาศัยอยู่ในคน สามารถติดต่อกันได้โดยการรับเชื้อเข้าทางกระแสเลือดโดยตรง เช่น การรับเลือดที่มีเชื้อหรือการฉีดยา โดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกันจากผู้ป่วยรายหนึ่งไปอีกรายหนึ่งโดยที่มีเลือดปนเปื้อนอยู่, การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดและทวารหนักและการที่แม่ติดเชื้อถ่ายทอดเชื้อไปสู่ลูก โดยเฉพาะขณะที่กำลังคลอด

โรคชนิดนี้ไม่ติดต่อกันโดยสัมผัสทางผิวหนัง, การกอดจูบ, การมองหน้ากัน, การไอจามรดหน้าและการกินอาหารร่วมกัน(แนะนำให้ใช้ช้อนกลาง) ในประเทศไทย มีผู้ที่เป็นพาหะเรื้อรังและมีสุขภาพดีประมาณร้อยละ ๕ ของประชากรทั้งหมด คือประมาณ ๓ ล้านคน
 
๒. โรคนี้สามารถป้องกันได้ไม่ยาก การป้องกันการติดเชื้อคือการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากวิธีติดต่อดังกล่าวข้างต้น เช่น ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ไม่รับเลือดโดยไม่จำเป็น (ถึงแม้ธนาคารเลือดจะมีการตรวจกรองเพื่อคัดเลือกเลือด ที่ปนเปื้อนเชื้อออกไปแล้วก็ตาม) การสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะ สำหรับบุตรที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ เราฉีดวัคซีนและอิมมูนโกลบูลินที่แขนคนละข้างขณะแรกเกิด จะป้องกันการติดเชื้อได้ ส่วนบุตรที่คลอดจากแม่ที่ไม่ติดเชื้อ ควรฉีดวัคซีนป้องกัน ตั้งแต่แรกเกิดและในระยะต่อมา เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่จัดหาวัคซีนมาฉีดให้เด็กแรกคลอดอยู่แล้ว สำหรับในเด็กเล็กและผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปีและไม่เคยทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน อาจจะฉีดวัคซีนป้องกันได้เลย ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีอายุเกิน ๒๐ ปีขึ้นไป ควรตรวจเลือดก่อนว่าเคย ได้รับเชื้อหรือไม่ เพราะผู้ที่เคยได้รับเชื้อและหายขาด จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสู้โรคนี้ไปตลอดชีวิต

๓. โดยทั่วไป การติดเชื้อชนิดนี้ อาจจะมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็ก น้อยจนไม่ทันสังเกต หรือป่วยจนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ แต่ผู้ป่วยร้อยละ ๙๐ หาย ขาดใน ๒-๔ สัปดาห์ อีกร้อยละ ๕ จะเป็นพาหะเรื้อรังโดยไม่มีหรือมีการอักเสบที่ตับเล็กน้อยหรือเป็นครั้งคราว(กลุ่มที่ติดเชื้อเรื้อรังมักติดเชื้อมาตั้งแต่เด็ก) และอีกร้อยละ ๕ อาจจะมีอาการจากอักเสบเรื้อรังร่วมด้วย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืดแน่นและน้ำหนัก ลดเล็กน้อย กลุ่มที่ติดเชื้อเรื้อรังนี้ทำให้ตับแข็งได้และนานไปกลายเป็น มะเร็งตับ มีไม่ถึงร้อยละ ๑ ที่ถึงแก่กรรมเนื่องจากตับวายเฉียบพลันขณะติดเชื้อครั้งแรก

๔. ยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการรักษาโรคนี้ เนื่องจากโรคหายได้เองในประชากรส่วนมากถึงร้อยละ ๙๐ การรักษาในขณะที่เจ็บป่วยจึงทำโดยให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ให้อาหารอ่อนที่ย่อยง่าย ไม่มีไขมันปนหรือในกรณีที่เป็นเรื้อรังอาจจะให้อาหารเสริมหรือสารอาหารทางหลอดเลือด ถ้าติดเชื้อเรื้อรังและป่วยอยู่นาน บางรายเป็นตับอักเสบร่วมด้วยจนตาเหลือง อาจจะฉีดยาในกลุ่ม อินเตอร์เฟียรอน แอลฟา (interferon alfa) ซึ่งได้ผลเฉลี่ยร้อยละ ๓๓ (หายเองร้อยละ ๑๒) หรืออาจจะใช้ยาใหม่คือ ลามิวูดีน (lamivudine) กินวันละครั้ง ครั้งละ ๑๐๐ มิลลิกรัม นาน ๑ ปี ก็จะ ช่วยบรรเทาอาการและลดการเสื่อม เสียของเนื้อตับได้โดยมีผลข้างเคียงน้อยมาก แต่เมื่อหยุดยาก็จะมีเชื้อเพิ่มขึ้นใหม่อีก ยังไม่มีข้อมูลว่าการกินยานานกว่า ๑ ปี จะมีประสิทธิภาพดีเท่าการกินยาในปีแรก เพราะเริ่มมีเชื้อดื้อยาเกิดขึ้นในร่างกายหลังกินยามานานๆ แต่การรักษาแบบนี้มีราคาแพง และเมื่อตัดสินใจรักษา ต้องรักษาต่อเนื่องนานเป็นปี จึงจะได้ผลดี