• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำไมยาลดความอ้วนมีหลายชนิด

ศรันยา : ผู้ถาม

คน " อ้วน " ถือว่าเป็นโรค หรือ แค่อ้วนเฉยๆ แล้วถ้าปล่อยให้อ้วนจะเป็นอันตรายร้ายแรงอย่างไรบ้างเคยไปถามซื้อยาทางคลินิกลดความ อ้วนทั่วไป เขาบอกว่ายาลดความอ้วนมีหลายแบบ แต่ไม่ได้อธิบายอะไรมาก แล้วแต่ละแบบก็มีราคาแพง ดิฉันเลยยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อยา มากิน เพราะอยากจะหาข้อมูลเพิ่ม เติมก่อน

เรียนถามว่า ยาลดความอ้วนมีกี่แบบ แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และถ้าเลิกกินยานี้แล้วจะกลับมาอ้วนอีกหรือไม่  ถ้าหากไม่ต้องการกินยา มีวิธีอื่นอีกไหมที่จะลดความอ้วนได้ หรือควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างในการควบคุมน้ำหนัก
 

เภสัชกรหญิงธารดี ปักเข็ม : ผู้ตอบ

คำว่า " อ้วน " นั้น อาจจะมีความหมายเพียงแค่ความรู้สึก และกระแสแฟชั่น ค่านิยม แต่ในทาง การแพทย์แล้ว คำว่า " อ้วน " จัดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ  เช่น โรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูง เป็นต้นทั้งนี้ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้อ้วนหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นนั้นมีได้หลายประการ เช่น กรรมพันธุ์ โรคของต่อมไร้ท่อ การกินอาหารที่อุดมไปด้วยแป้งและ ไขมัน ชอบกินจุบจิบ ขาดการออก กำลังกาย ได้รับยาบางชนิดที่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ภาวะทางจิตใจ เป็นต้น

การลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนนั้น มีวิธีการหลายอย่างแตกต่าง กันไป แต่เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า การลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือ การออก กำลังกายร่วมกับการควบคุมอาหาร แต่ต้องอาศัยความอดทนและความตั้งใจจริงของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักซึ่งมักจะไม่ให้ผลที่ทันใจ ประกอบกับ การใช้วิธีศัลยกรรมนั้นก็ต้องเจ็บตัว และเสียค่าใช้จ่ายสูง ผู้คนในปัจจุบัน จึงนิยมหันมาใช้ยาลดความอ้วนกันเป็นจำนวนมาก โดยนึกไม่ถึงว่ายาลดความอ้วนเหล่านี้ส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย โดยปกติแพทย์จะสั่งจ่ายให้เฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน และไม่สามารถลดน้ำหนักโดย วิธีอื่นได้ และใช้ในระยะเวลาสั้นๆ

หลักโดยทั่วไปในการใช้ยาลดน้ำหนักคือ หากพบว่าน้ำหนักตัวไม่ ลดลงภายใน ๔-๖ สัปดาห์หลังการใช้ยาก็ควรหยุดยาทันที และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน ๑๒ สัปดาห์ เนื่อง จากอาจทำให้ติดยาและมีผลข้างเคียง อื่นๆ ตามมาได้ และพึงทราบไว้ว่าเมื่อหยุดยาแล้ว หากไม่ทำการควบคุม น้ำหนักให้ดี น้ำหนักก็จะกลับขึ้นมา อีกในไม่ช้า

สำหรับประเภทของยาลดความอ้วนที่ถามมานั้น ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด ขึ้นอยู่กับการออกฤทธิ์ของยาประเภทนั้น การ ออกฤทธิ์ดังกล่าว ได้แก่ ยาที่ออกฤทธิ์ ลดความอยากอาหาร ยาที่ทำให้ลดปริมาณอาหารที่กินต่อมื้อ ยาที่ลดการดูดซึมสารอาหารจำพวกไขมัน และ ยาที่เพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย ซึ่งยาเหล่านี้บางตัวไม่ได้ผลิตขึ้นมา เพื่อใช้ในการลดน้ำหนัก แต่ก็ถูกนำ มาใช้เนื่องจากผลข้างเคียงของมันสามารถลดน้ำหนักได้ ตัวอย่างของยาเหล่านี้ได้แก่
๑. ยาไทรอยด์ (thyroid ex-tract) แพทย์จะใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องไทรอยด์ จัดเป็นยาตัวแรก ที่เริ่มใช้ในการลดความอ้วน มีผล ทำให้เบื่ออาหารและมีการใช้พลังงาน ในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งยาตัวนี้หากได้รับในปริมาณที่มากจะทำให้การหลั่ง ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และมีผลกระตุ้นหัวใจและตับ
๒. ยาระบาย ควรใช้ยาระบายทำให้ถ่ายอุจจาระออกและน้ำหนักที่ลดลงไปนั้นเป็นน้ำหนักของกากอาหารและน้ำที่ร่างกายขับออกมา ส่วนสารอาหารต่างๆ ก็ถูกดูดซึมเข้า ร่างกายก่อนที่จะระบายออกไป แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมงน้ำหนักก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นเท่าเดิมนอกจากนี้การใช้ยาระบายเป็นระยะ เวลานาน จะทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ และทำ ให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุที่สำคัญไป
๓. ยาขับปัสสาวะ เป็นยาที่ให้ผลเช่นเดียวกับยาระบาย น้ำหนักที่ เสียไปเป็นผลจากการขับน้ำออกจาก ร่างกาย ซึ่งไม่นานนักน้ำหนักก็จะกลับมาเท่าเดิม การกินยาขับปัสสาวะ เป็นเวลานานจะทำให้เกิดภาวะที่  แร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุล ทำให้การ ทำงานของหัวใจผิดปกติได้
๔. ยากลุ่มแอมเฟตามีน หรือยาบ้า เป็นยาที่ออกฤทธิ์ทำให้เบื่ออาหาร และยังทำให้ร่างกายมีการใช้ พลังงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากยาในกลุ่ม นี้ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท อาการข้างเคียงจากการกินยาในกลุ่มนี้คือกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ กระวน-กระวาย ติดยา ประสาทหลอน
๕. ยาฟีนิลโพรพาโนลามี หรือ ที่เราได้ยินกันติดหูว่า พีพีเอ (PPA) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ความอยากอาหารลดลง ซึ่งเดิมเคยถูกใช้เป็นยา แก้คัดจมูก เมื่อใช้ยาตัวนี้เป็นเวลา นาน อาจส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดของร่างกายผิดปกติได้
๖. ยาอีฟีดรีนและกาเฟอีน จะออกฤทธิ์ในการเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย เป็นยาที่ใช้ร่วมกันแล้ว ให้ผลดีในการลดน้ำหนักมากกว่าใช้ตัวใดตัวหนึ่ง  ผลข้างเคียงจากการใช้  ยานี้ได้แก่ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นผิดปกติเป็นต้น
๗. ยากลุ่มที่ลดการดูดซึมของไขมัน เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ที่ใช้ในการย่อย ไขมัน เป็นผลให้ไขมันไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ซึ่งจะเป็นผลให้ร่างกาย ไม่สามารถดูดซึมวิตามินกลุ่มที่ละลาย ในไขมันไปใช้ได้ ทำให้ผู้ที่ได้รับยา กลุ่มนี้มักมีอาการขาดวิตามินกลุ่มที่ ละลายได้ในไขมัน

นอกจากยาที่กล่าวมาแล้ว ยัง มียาอีกมากมายที่มีการนำมาใช้ในการลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นยาฟลู-ออกซิทีน (Fluoxitine) ที่ใช้ในผู้ป่วยซึมเศร้า ยาดิจิทาลิส (Digitalis) ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่ายาลดน้ำหนักส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงสูง บางตัวก็มีรายงานว่ามีผู้เสีย ชีวิตเนื่องจากการใช้มาแล้ว ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

ปัจจุบัน ยังมีการศึกษาวิจัยยาใหม่ๆ อยู่เสมอ และยาส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ถูกกฎหมายควบคุม ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ผู้คนจึงหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยาสมุนไพรลดน้ำหนักเป็นจำนวนมาก เพราะคิดแค่ว่าเป็นแค่อาหาร และสมุนไพรไม่น่าจะมีอันตราย
ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ผลิต-ภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบระยะยาว บางตัวก็มีสารเคมีที่ออกฤทธิ์เป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ หากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ดังเช่นที่ยกตัวอย่างในกลุ่ม ยาอีฟีดรีนและกาเฟอีน

ดังนั้น การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จึงควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา และ ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักต่างๆ เหล่านี้แล้วหันมาออกกำลังกายและควบคุม อาหารจะดีที่สุด