• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหลอดอาหารตีบ

ศิริวรรณ : ผู้ถาม

ดิฉันอายุ ๒๒ ปี และเริ่มมีอาการกลืนอาหารลำบากมาประมาณ ๑ ปีแล้ว และเริ่มกลืนลำบากขึ้น จึง ได้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจโดยการเอกซเรย์และแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดอาหารตีบ (achalasia cardia)

บางครั้งกินอาหารแข็งหรือพวกที่เป็นเม็ดจะกลืนไม่ได้เลย จะมี อาการติดคอและอาเจียนออกมา แต่ ถ้ากินอาหารตรงเวลาและกินอาหาร อ่อนจะอาเจียนน้อยกว่า

อยากทราบสาเหตุและวิธีการ รักษาของโรคนี้ และไม่ทราบว่าโรคนี้ จะมีโอกาสหายเป็นปกติหรือไม่คะ

 

พญ.จวงจันทร์ ชัยธชวงศ์  : ผู้ตอบ

 เนื่องจากรายละเอียดที่แจ้งมาไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย ทั้งนี้เพราะไม่ทราบรายละเอียด ลักษณะอาการของหลอดอาหารตีบ ไม่ทราบว่าเป็นมานานเท่าไร กลืนอาหาร น้ำ ข้าวต้ม ข้าวสวย ได้มากน้อยอย่างไร โดยไม่อาเจียน หรือลักษณะการอาเจียนรสจะเปรี้ยว ขม หรือไม่มีรส จึงขอตอบกว้างๆ ดังนี้

ถ้าเป็น achalasia cardia จริง คือ การหด แกว่งตัว ของหลอด อาหารส่วนปลายที่ต่อกับกระเพาะ-อาหาร สาเหตุที่พบเกิดจากกล้ามเนื้อ หลอดอาหารหดเกร็ง ไม่ยอมคลายตัว ทำให้การกลืนอาหารผ่านได้ลำบาก

วิธีรักษาคงต้องกลืนแป้งเพื่อถ่ายเอกซเรย์ดูความผิดปกติของหลอดอาหารก่อน แล้วศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดแก้การหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็น อาการจะดีขึ้น

อีกสาเหตุหนึ่งของหลอดอาหารตีบ ไม่ใช่ achalasia cardia แต่เป็นจากกรดในกระเพาะอาหารที่เข้าสู่หลอดอาหาร ทำให้มีการย่อย ผนังหลอดอาหารเกิดเป็นแผล พอแผลหายก็เกิดเป็นแผลเป็นที่หดรั้งทำให้หลอดอาหารคับแคบลง ผู้ป่วย จะมีประวัติว่า แสบท้อง มีโรคกระเพาะอาหารมาก่อน บางคนอาจมีเรอเปรี้ยว หรืออาเจียนเปรี้ยวจากกรดในกระเพาะอาหาร

นอกจากนี้การกินยาลดกรด ยาคลายเครียด หรือกินอาหารให้บ่อยขึ้นแต่ไม่มาก เพื่อลดกรดในกระเพาะอาหารประมาณ ๖-๑๒ ชั่วโมง อาการจะดีขึ้น

สำหรับผู้ป่วยรายนี้ ลองสังเกตดูว่า กินอาหารชนิดอ่อนเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นอาหารอ่อนแล้วอาการดีขึ้นก็คงเป็นจากในกระเพาะมีกรดมากเกินไป แต่ถ้าไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อเอกซเรย์และรับการตรวจอย่างละเอียด