• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการอัมพาตเฉียบพลัน

อาการของอัมพาตแบบเฉียบพลันเป็นอย่างไร และมีวิธีการรักษาให้หายหรือไม่
ผู้ถาม ยงศักดิ์/ศรีสะเกษ
ผู้ตอบ พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ 

ถาม ผมอายุ ๗๒ ปี สูง ๑๖๗ เซนติเมตร หนัก ๖๗ กิโลกรัม เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ผมเป็นโรคกระเพาะ ถ่ายเป็นสีดำ นอนโรงพยาบาล ๑๐ วัน หมอให้กินยา Ranidine และ ให้เลือด ตรวจเอกซเรย์พบว่าหายดีแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ผมเป็นโรคหัวใจ ไปรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ ศูนย์โรคหัวใจ หมอฉีดยาสี ให้ ซึ่งตัวยานี้ทำให้เห็นหลอดเลือด หัวใจข้างซ้ายถูกกล้ามเนื้อหัวใจกด ทำให้หลอดเลือดตอนกลางแคบนิดหนึ่ง หมอบอกว่าเป็นโรคหัวใจประเภทโคโรนารี หมอให้กินยา ๓ อย่าง เพื่อขยายหลอดเลือดแดง มียา Ismo ยา Cardil และยา Aspirin กินติดต่อกันถึงทุกวันนี้ เห็นว่าอาการของผมบรรเทาลง

เดือนมีนาคม ๒๕๔๑ ผมมีความดันเลือดสูง ๒๐๐/๑๕๐ torr แล้วชาครึ่งตัวข้างขวา ผมกินยา วิตามินบี ๑ อาการดีขึ้น กินวันละ ๓ เม็ดๆละ ๑๐๐ มิลลิกรัม เดี๋ยวนี้ยังมีอาการหนักมือขวา ตั้งแต่ต้นแขนถึงปลายนิ้ว และขาขวาตั้งแต่สะโพกถึงหัวเข่า เวลาอากาศเย็นจะทำให้ร่างกายตึงและหนัก แต่ก็ยังเดินได้

ผมอยากจะเรียนถามคุณหมอว่า ผมเป็นโรคอะไร และต้องใช้ยาอะไรบ้าง รวมถึงควรจะออกกำลังกาย อย่างไร ผมได้ซื้อหนังสือ “หมอชาวบ้าน” ประจำเดือนติดต่อกัน ๒ ปี เห็นว่าได้ผลดีทั้งทางกายและจิตใจ แก้ปัญหาได้เป็นส่วนมาก ผมไปตรวจเลือดประจำปีเห็นว่าปกติทุกอย่าง มีแต่ Acid uric สูงนิดหน่อย ที่ทำให้เป็นโรคเกาต์ แต่ไม่เป็นปัญหาหนักหนาอะไร

อีกอย่างหนึ่งเวลานอนขาจะกระตุก โดยเฉพาะขาขวา ผมกินยา Clonazepam ตามคำแนะนำของหมอชาวบ้าน แต่ยังไม่หายขาด

อีกอย่างหนึ่งผมมีอาการกล้ามเนื้อสะโพกขวาอักเสบ เพราะผมเคยหกล้ม ๒-๓ ครั้ง ฉะนั้นผมขอเรียนถามคุณหมอว่าผมเป็นโรคเหน็บชาหรือโรคอัมพาตเฉียบพลัน หรือเป็นโรคชนิดอื่น และต้องรักษาอย่างไร เดี๋ยวนี้ผมมีความดันปกติ ๑๔๐/๘๐ torr ชีพจร ๖๐-๗๐ ต่อนาที โรคดังกล่าวมีทางรักษาหายขาดหรือไม่ ขอความกรุณาคุณหมอช่วยแนะนำด้วยครับ 

ตอบ คุณมีอาการที่สำคัญคือชาครึ่งซีกข้างขวา ร่วมกับอาการหนักมือและขาขวามา ๑ ปี ปัจจุบันอาการดีขึ้นบ้างแต่ยังไม่หายสนิท

น่าจะเกิดจากโรคในสมอง ไม่ใช่อาการเหน็บชาซึ่งเกิดจากการขาดวิตามิน คุณไม่ได้เล่าว่าอาการดังกล่าวเป็นรวดเร็วเพียงใด แต่พอจะอนุมานได้ว่าค่อนข้างจะรวดเร็ว ซึ่งน่าจะบ่งบอกถึงว่ามีปัญหากับหลอดเลือดในสมอง ซึ่งจะเป็นหลอดเลือดตีบหรือหลอดเลือดแตก ในกรณีของคุณน่าจะเป็นชนิดหลอดเลือดสมองตีบ โดยทั่วไปผู้ที่มีหลอดเลือดสมองตีบมักจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีกทันทีทันใด หรือค่อยเป็นค่อยไปอย่างมากไม่เกิน ๗ วัน หลังจากนั้นอาการจะคงที่ ถ้าเป็น มากอาจจะเป็นอัมพาตพิการถาวร แต่ถ้าเป็นน้อยอาการอาจค่อยๆดีขึ้นเอง ในกรณีของคุณนับว่ายังโชคดีที่อาการเป็นไม่มากและค่อยๆดีขึ้นเอง สำหรับความดันเลือดซึ่งสูงมากในช่วงที่คุณมีอาการนั้นคงจะเป็นจากอาการที่เกิดจากโรคสมอง หรือคุณอาจมีความกังวลตกใจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น มีหลายคนที่เข้าใจผิดว่าอาการชาอ่อนแรงครึ่งซีกอาจเป็นจากโรคความดันเลือดสูง แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ จริงๆแล้วมักจะ เป็นอาการเริ่มต้นของอัมพาต ผู้ที่มีความดันเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะมีผลทำให้หลอดเลือดทั้งร่างกายเสื่อมและแข็ง เกิดปัญหาตามมาได้แก่โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตหรือโรคอัมพฤกษ์จากหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก

                         

สำหรับผู้ที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบ ถ้ามาพบแพทย์ในระยะแรกก็อาจต้องได้รับการตรวจสมอง โดยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และมียาที่อาจช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้ ส่วนในกรณีที่เป็นมานานเป็นปีการรักษาอาจแบ่งได้เป็น

๑. การรักษาตามอาการ ในกรณีที่มีอาการเกร็ง เช่นที่คุณมีอาการกล้ามเนื้อที่ขาขวาเกร็งกระตุกหรือกล้ามเนื้อที่สะโพกขวาอักเสบ น่าจะเป็นจากการที่ขาขวาอ่อนแรงและเกร็งเนื่องจากหลอดเลือด ในสมองตีบ ในกรณีนี้อาจต้องใช้ยาบางอย่างช่วย ยาที่คุณกินคือ Clonazepam อาจช่วยได้บ้าง ถ้ายังมีอาการเกร็งมากควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณายาชนิดอื่นๆที่จะช่วยใน การลดเกร็ง กระตุก

๒. การทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่แขนขายังอ่อนแรงอาจต้อง ใช้วิธีการออกกำลังกายช่วยให้มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและกระตุ้น ให้มีการฟื้นตัว นอกจากนี้ยังป้องกันข้อติดได้ กรณีของคุณเนื่องจากมีโรคหัวใจอยู่ด้วยจึงควรออกกำลังกาย พอสมควร อย่าหักโหมจนเกินไป อาจใช้การเดิน การออกกำลังกายโดยการยกแขนแกว่งไปมา หรือถีบจักรยานน่าจะเหมาะสม

๓. การดูแลรักษาโรคที่เป็นปัจจัย เสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดหลอดเลือดตีบซ้ำซ้อน ซึ่งคุณได้ปฏิบัติดีอยู่แล้ว โดยการตรวจวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ และตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีโรคเบาหวาน ไขมันในหลอดเลือดสูงหรือไม่ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือดื่มสุรา ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดเสื่อมมากขึ้น

๔. การกินยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคอัมพาตซ้ำ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะคุณอาจไม่โชคดีเหมือนครั้งแรก ถ้าเป็นซ้ำอาจมีอาการ อ่อนแรงมาก กลายเป็นอัมพาตถาวร ในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้ป้องกัน การเกิดโรคซ้ำ ได้แก่ยา Aspirin ซึ่งใช้ได้ทั้งในการป้องกันโรคหลอด-เลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองตีบ แต่การใช้ต้องระมัดระวังในเรื่องโรคกระเพาะ ซึ่งคุณเคยมีประวัติเป็นอยู่เก่า เนื่องจาก Aspirin อาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ส่วนยาอื่นๆที่อาจใช้ได้ ได้แก่ Ticlopidine ซึ่งควรจะพิจารณาตามคำแนะนำของแพทย์

๕. ถ้ามีอาการเช่นเดิมอีก ได้แก่ อาการหรืออ่อนแรงครึ่งซีกที่เป็นมากขึ้น อาการเวียนศีรษะ เดินเซ อาการพูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง หรือพูดไม่ออก ไม่ควรรอดูอาการ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ท่านสะดวก โดยเร็วที่สุด