• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จำเป็นต้องเสริมฟลูออไรด์หรือไม่

 ปณิตา/กรุงเทพฯ : ผู้ถาม

ครอบครัวดิฉันมีกันอยู่ ๖ คน ค่ะ คือคุณตาอายุ ๗๖ ปี คุณยายอายุ ๗๒ ปี สามีและดิฉันอายุ ๔๐ ปี ลูกสาวอายุ ๑๑ ปี และหลานชายอายุ ๖ ปี เราใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์สำหรับแปรงฟันกันทุกคน สำหรับหลานชายนั้นยังใช้แบบของเด็กอยู่ค่ะ
น้ำที่ใช้ดื่มใช้จากเครื่องกรองแบบที่มีแสงยูวี (UV) สำหรับฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย นอกจากนั้นก็กินอาหารตามปกติค่ะ แต่อาจจะมีผัก และผลไม้น้อยไปบ้าง ถ้าเทียบกับอาหารพวกแป้งและเนื้อสัตว์ ไม่ทราบว่าครอบครัวของเราจะได้รับฟลูออไรด์เพียงพอหรือไม่คะ จำเป็นต้องเสริมในรูปแบบไหนบ้างหรือไม่เพื่อใช้ป้องกันฟันผุ   โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งอาจจะแปรงฟันไม่ค่อยดีเท่าไร และดิฉันก็มักจะไม่ค่อยได้ตรวจดู (เนื่องจากทั้ง ๒ คน ไม่ยอมให้เช็กเรื่องความสะอาดค่ะ)
คุณหมอช่วยกรุณาแนะนำด้วยค่ะ



ทพ.ไพฑูรย์ สุริยะวงศ์ไพศาล : ผู้ตอบ
หมอจะขอตอบปัญหาของคุณ โดยแบ่งเป็น ๓ ส่วน ตามช่วงอายุ ๓ ช่วงในครอบครัวของคุณดังนี้ครับ
๑. วัยสูงอายุ
ปัญหาสำคัญของคนในวัยนี้คือ โรคเหงือก และการเกิดฟันผุบริเวณคอฟันและรากฟันส่วนบน ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของคนในวัยนี้มักจะพบว่า การไหลของน้ำลายลดน้อยลง ผลที่ตามมาคือ การชะล้างสิ่งตกค้างในช่องปากจะลดลง จะเกิดหินปูนง่ายและเร็วกว่าเดิม ประกอบกับการร่นของเหงือกบริเวณคอฟัน ทำให้ฟันดูยาวขึ้น จึงยิ่งเพิ่มพื้นที่เกาะของหินปูนและเศษอาหาร และ plaque มากขึ้น ทำให้การดูแลความสะอาดซับซ้อนขึ้นที่ซอกหลืบเล็กๆ ที่ยากแก่การเข้าถึงเพื่อทำความสะอาดหลายแห่ง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ควรระลึกถึงและพึงปฏิบัติเป็น ประจำคือ

- ควบคุมอาหาร โดยเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เน้นอาหารพวกผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืช อาหารที่มีเส้นใยเพื่อช่วยขัดสีฟัน ดื่มน้ำเปล่าและบ้วนปากหลังอาหารทุกมื้อ ไม่กินจุบจิบ ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุรา เพราะเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อตนเองและคนรอบข้าง
- การทำความสะอาด ควรแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ ถ้ามีเหงือกร่นมากจนเกิดเป็นช่องเห็นได้ชัด หรือรู้สึกได้ คือมีเศษอาหารติดง่าย ควรใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน หรือแปรงสำหรับทำความสะอาดซอกฟันโดยเฉพาะ (proxa brush) เพิ่มเติมหลังแปรงฟัน เพื่อขจัดเศษอาหารจากบริเวณดังกล่าว อาจใช้เกลือ แกงเล็กน้อยนวดเหงือกวันละครั้ง (ทั่วทั้งปาก) เพื่อลดการอักเสบของเหงือก และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวเหงือก
- การใช้ฟลูออไรด์ คนกรุงเทพฯที่ใช้น้ำประปาอาจต้องให้ฟลูออไรด์เสริมในรูปของน้ำยาอมบ้วนปาก ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ๐.๒ เปอร์เซ็นต์ อม นาน ๑ นาที วันละ ๑-๒ ครั้ง เพื่อช่วยป้องกันฟันผุที่ส่วนผิวเรียบของฟัน
- การรับการตรวจฟัน ผู้สูงอายุควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเหงือกและฟันปีละ ๑-๒ ครั้ง (หรือมากกว่า ในกรณีที่มีโรคเหงือกเรื้อรัง) และปรึกษาขอคำแนะนำเพิ่มเติม
- การเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย เนื่องจากเหงือกและฟันเป็นส่วน หนึ่งของระบบร่างกาย ดังนั้นความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับระบบร่างกายโดยรวมด้วย หากร่างกายมีโรคประจำตัวคุกคาม ย่อมส่งผลกระทบไปสู่ส่วนต่างๆ ได้ ทั้งนี้รวมถึงการมีสุขภาพจิตที่ดี (ไม่ถูกอารมณ์และความคิดด้านลบครอบงำ) ผู้สูงอายุควรใส่ใจ หมั่นฝึกจิตและกายอยู่เสมอทุก วันอย่างเป็นระบบ
สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาวะทุพพลภาพ ไม่อาจทำความสะอาดช่องปากได้ดี อาจต้องใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าแทนแปรงสีฟันทั่วไป เพื่อเพิ่มประสิทธิ-ภาพในการทำความสะอาดช่องปาก
๒. วัยกลางคน
ปัญหาของวัยนี้มักจะเป็นโรคเหงือกในระยะต้นหรือกลาง เริ่มมีเหงือกร่นบ้าง ฟันผุจะลดน้อยลงกว่าวัยรุ่นและเด็ก เนื่องจากวัยนี้อยู่ในช่วงที่ต้องรับภาระด้านการงานสูง ถ้าเป็นนักธุรกิจก็มักจะอยู่ในระดับผู้บริหารระดับกลางหรือระดับสูง จึงมักจะมีความเครียดสูงด้วย จึงพบปัญหา ฟันสึกจากการขบกราม (มักเป็นในผู้ชาย) หรือกัดเน้นกรามบ่อยๆ โดยไม่รู้ตัว ส่วนในผู้หญิงก็จะนอนกัดฟัน
ข้อพึงระลึกถึงและปฏิบัติเป็นประจำคล้ายกับของผู้สูงอายุ ยกเว้นในรายที่มีปัญหาการนอนกัดฟัน ควรให้ทันตแพทย์ทำเครื่องมือป้องกันฟันสำหรับใส่เวลานอน (night guard) เพื่อป้องกันฟันสึกจากการเสียดสีอย่างรุนแรงขณะกัดฟัน และยังช่วยลดเสียงรบกวนต่อคนที่นอนข้างๆ ด้วย
๓. วัยเด็ก ปัญหาสำคัญของวัยนี้คือ เรื่องโรคฟันผุ เพราะเป็นวัยเจริญเติบโตมักชอบกินจุบจิบ แต่ขาดการดูแลความสะอาดอย่างเพียงพอ การควบคุมอาหารเป็นพื้นฐานของการป้องกันโรคฟันผุ ควรฝึกกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย อาหารว่างควรเป็นผลไม้จำพวกเนื้อแข็งสักหน่อย มีเส้นใยมาก เพื่อช่วยขัดสีผิวฟันให้สะอาด เช่น ฝรั่ง มันแกว แห้ว มะม่วง เป็นต้น
โรงเรียนทุกแห่งควรจัดกิจกรรมรณรงค์แปรงฟันหลังอาหารเที่ยงทุกวัน โดยเฉพาะในเด็กอนุบาล และชั้นประถมศึกษา เพื่อสร้างสุขนิสัยที่ดี รวมทั้งจัดนิทรรศการส่งเสริมเรื่องสุขภาพฟันสักปีละครั้ง ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การประกวดเรียงความประกวดฟันดี เป็นต้น เพื่อกระตุ้นความตื่นตัว ของเด็กๆ ให้เห็นความสำคัญของการดูแลอนามัยช่องปาก โรงเรียนใดมีผู้ปกครองเป็นทันตแพทย์หรือทันตบุคลากรระดับอื่นๆ ควรเชิญชวนให้มาร่วมจัดกิจกรรมตรวจแนะนำทันตสุขภาพแก่เด็ก หรือ ติดต่อคลินิกใกล้โรงเรียนมาช่วยก็ได้ อีกอย่างที่ควรทำคือการห้ามขายอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น พวกขนมขบเคี้ยวและฟาสต์ฟู้ดในโรงเรียน พวกน้ำอัดลมก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะการดื่มน้ำอัดลมเป็นนิจ (บางคนดื่มแทนน้ำเปล่าเลย) จะเท่ากับเอาฟันไปแช่ในกรด เป็นต้นเหตุให้ฟันผุอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โรงเรียนควรจัดหาน้ำดื่มที่สะอาดและสะดวก เช่น ตู้บริการแบบกดหรือเหยียบให้น้ำพุ่งออกมา เด็กๆ จะได้ไม่ต้องซื้อ น้ำหวาน น้ำอัดลมดื่มบ่อยนัก ช่วยลดความเสี่ยงได้ไม่น้อย

ในครอบครัว ผู้ใหญ่ควรจะชวนเด็กๆ แปรงฟันร่วมกันหลังอาหารเที่ยง เวลาอยู่กับบ้าน หรือ เมื่อโอกาสอำนวย และทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นเสมอ การพาเด็กไปพบทันตแพทย์ทุก ๖ เดือน และเคลือบฟลูออไรด์จะช่วยได้มาก การสอนเด็กให้รู้จักเลือกอาหารที่ ดีและหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษ เป็นเรื่องสำคัญที่พึงกระทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ สอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกับที่โรงเรียนดังกล่าวแล้ว

ในเรื่องการสร้างพฤติกรรมที่ดีด้านต่างๆ นั้น พึงระลึกถึงภาษิตที่ว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก " และ นิทานเรื่อง "ลูกปูกับแม่ปู " นะครับ