• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แผลเป็นอีสุกอีใส

แผลเป็นอีสุกอีใส

 
ผู้ถาม วิชาญ/เชียงใหม่
ตอนเด็กเป็นอีสุกอีใสพอหายแล้วเป็นแผลเป็นติดตัวอยู่ที่หน้าอก เมื่อโตขึ้นแผลเป็นนี้ก็ใหญ่ตามขึ้นมาด้วย ไม่ทราบว่ามีวิธีใดบ้างที่ทำให้แผลเป็นนี้หายหรือจางไปได้บ้าง

ผมมีบุตรสาว เมื่อตอนเด็กเป็นอีสุกอีใส พอหายแล้วเป็นแผลเป็นติดตัวอยู่ที่หน้าอก (แผลเป็นที่เกิดจากการเป็นอีสุกอีใส) เมื่อเด็กโตขึ้นแผลเป็นนี้ก็ใหญ่ตามขึ้นมาด้วย ขณะนี้เด็กอายุ ๑๘ ปี แผลเป็นใหญ่ขนาด ๑ นิ้ว กว้างครึ่งนิ้ว เคยไปพบแพทย์และแพทย์ฉีดยาให้แต่ไม่ได้ผล ผมขอเรียนถามคุณหมอว่า ถ้าจะผ่าตัดออกจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และปล่อยทิ้งไว้จะได้หรือไม่ ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะครับ

 
ผู้ตอบ พ.ญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน

แผลเป็นซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนนูนทางการแพทย์เรียกว่า คีลอยด์ (keloid) ซึ่งมักจะพบบริเวณหน้าอก หัวไหล่ในผู้ป่วยบางราย การเกิดคีลอยด์จะเกิดหลังจากมีบาดแผลเพียงเล็กน้อยที่ผิวหนัง เช่น จากเข็มฉีดยา สิวอักเสบ หรือในกรณีผู้ป่วยรายนี้เกิดจากอีสุกอีใส ลักษณะแผลเป็นนี้ในระยะแรกจะโตช้าๆ และมีอาการเจ็บคัน หลังจากนั้น ก็จะมีขนาดคงที่โดยที่ไม่มีอาการเจ็บปวด

วิธีการรักษาในระยะแรกใช้ยาทากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์ที่มีฤทธิ์รุนแรงหรือการฉีดยาประเภทเดียวกันเข้าได้รอยแผลซึ่งมักจะต้องฉีดหลายครั้งทุก ๒-๔ สัปดาห์ จนกว่าจะยุบลง และหลังจากนั้นเฝ้าระวัง ถ้ามีการนูนขึ้นมาอีกก็ควรจะได้รับการฉีดยาอีก นอกจากนี้การใช้แผ่นซิลิโคนปิดแผลไว้ทุกวันๆละ ๑๒ ชั่วโมง เป็นเวลา ๓-๖ เดือน ก็จะช่วยให้แผลคีลอยด์ขนาดเล็กยุบลงได้


ในกรณีที่แผลคีลอยด์ไปตอบสนองด้วยการฉีดยาหรือใช้แผ่นซิลิโคนก็สามารถทำศัลยกรรมโดยการตัดออกด้านเลเซอร์และนำหนังเดิมมาปิดไว้ หลังจากนั้นต้องป้องกันการเกิดแผลเป็นโดยการฉีดยาคอร์ดิโคสตีรอยด์ไว้ หรือการฉายรังสีชนิดตื้น แผลเป็นประเภทนี้ไม่มีอันตราย การรักษาทำเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรได้พบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อน