• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นเกาต์ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

สมโภชน์/ลพบุรี : ผู้ถาม

ปัจจุบันผมอายุ ๕๕ ปี ผมมีอาการปวดข้อบ่อยๆ มักจะเริ่มปวดตอนกลางคืน และจะปวดที่ข้อเท้า ข้อเข่า โดยเฉพาะบริเวณหัวแม่เท้า จะปวดมากจนบางครั้งเดินไม่ไหวเลยครับ ผมสังเกตดูผิวหนังบริเวณ ที่ปวดจะร้อนและแดง พอเริ่มทุเลา ผิวหนังบริเวณนั้นมักจะลอกและคันด้วย เคยไปตรวจคุณหมอ
บอกว่าเป็นโรคเกาต์ให้ยามากินก็ค่อยยังชั่วขึ้น แต่หลังจากนั้นอีกไม่นาน ผมก็มีอาการเหมือนเดิมอีก ผมไม่ทราบว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่ และควรดูแลตนเองอย่างไร
รบกวนคุณหมอช่วยกรุณาแนะนำด้วยครับ
 

นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ : ผู้ตอบ

โรคเกาต์เป็นโรคที่มีทางรักษาให้หายได้ครับ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น อาจทำให้เกิดภาวะข้อพิการ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนตามมาได้ และยังพบว่าอาจมีโอกาสเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากกว่าคนปกติ และถ้าไม่ได้ควบคุมโรคเหล่านี้ ในที่สุดก็อาจกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ และไตวายได้ครับ

ดังนั้น จึงควรรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยกินยาควบคุมกรดยูริก และหมั่นตรวจดูระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน
ส่วนการปฏิบัติตัวนั้นทำดังนี้ ครับ
๑. ดื่มน้ำมากๆ ทุกวันอย่างน้อยวันละ ๓ ลิตร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในไต
๒. ถ้าคุณมีน้ำหนักมากควร ลดน้ำหนักลงทีละน้อย อย่าลดฮวบฮาบ เพราะจะทำให้มีการสลายตัวของเซลล์รวดเร็ว และมีการสร้างกรดยูริก ทำให้ข้ออักเสบ กำเริบได้
๓. ขณะที่มีอาการปวดข้อ ควรงดดื่มเหล้า เบียร์ และอาหาร ที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด กะปิ น้ำสกัดจากเนื้อ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อกระต่าย กุ้ง หอย กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเป็ด เนื้อห่าน เนื้อไก่ เนื้อไก่งวง ปลาซาร์ดีน ไข่แมงดา ชะอม กระถิน แตงกวา หน่อไม้ เห็ด แอสปารากัส ดอกกะหล่ำ ถั่วต่างๆ ถั่วงอก ยอดแค ดอกสะเดา สาหร่าย ยอด ผักต่างๆ เป็นต้น แต่ถ้าไม่มีอาการ ปวดข้อ และกินยาลดกรดยูริกอยู่เป็นประจำ ก็ไม่ต้องงดอาหารเหล่า นี้อย่างเคร่งครัด
๔. ยาบางชนิดเช่น แอสไพริน หรือยาขับปัสสาวะไทอาไซด์ อาจทำให้ร่างกายขับกรดยูริกได้น้อยลง ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อยามากินเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

ถึงแม้คุณจะไม่มีอาการผิดปกติแล้ว ก็ควรไปรับการตรวจกรดยูริกในเลือดเป็นระยะๆ เพื่อดูว่าระดับกรดยูริกในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ครับ