• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เครียดง่าย

เครียดง่าย
 
ผู้ถาม สุวิทย์/กรุงเทพฯ
ผมกลัวอากาศเย็นมาก อาบน้ำต้องใช้น้ำอุ่นทุกฤดู จะรู้สึกว่าเครียดง่าย ขี้ตกใจ เวลามีปัญหามากระทบจิตใจจะอ่อนเพลีย ใจสั่นต้องรีบไปพักผ่อนทันทีอาการก็จะดีขึ้น

ผมอายุ ๔๖ ปี สูง ๑๗๐ เซนติเมตร น้ำหนัก ๖๕ กิโลกรัม จะออกกำลังกายสัปดาห์ละ ๔ ครั้งๆละ ๒๐-๓๐ นาที ผมมีอาการแบบนี้มาประมาณ ๑๐ ปีแล้ว กินยาก็หลายอย่าง รวมทั้งผมเคยไปรักษาแพทย์แผนปัจจุบันตรวจคลื่นหัวใจ คุณหมอว่าปกติ ผมกลัวอากาศเย็นมาก อยู่ห้องแอร์หรือเปิดพัดลมนานๆ ไม่ได้ เวลาอาบน้ำต้องใช้น้ำอุ่นทุกฤดู ไม่ว่าจะหนาวหรือร้อน เพราอาบน้ำเย็นไม่ได้ ปกติผมเป็นคนที่เครียดง่าย กังวล ขี้ตกใจกลัว ไม่มีสมาธิ เวลามีปัญหาที่ไม่สบายใจมากระทบจิตใจ จะอ่อนเพลีย มึนงง ใจสั่น ต้องรีบไปพักผ่อนทันที อาการจึงจะดีขึ้น กลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ ต้องใช้ยานอนหลับช่วยและจะนอนฝันทุกคืน ไม่กล้าออกงานสังคม ถ้าจำเป็นจะต้องไปต้องหายาคลายเครียดกินไป ๑ เม็ด เวลาไปงานเหงื่อจะออกมากตามใบหน้าทั้งๆ ที่อากาศเย็น ผมเคยไปหาหมอจีนที่ใช้จับชีพจร หมอบอกว่า ผมเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจไม่มีกำลัง และเลือดน้อยแต่ไม่หาย จึงอยากรบกวนถามคุณหมอว่าผมเป็นโรคอะไรและมีวิธีทางแพทย์จีนวิธีใดบ้างที่จะรักษาให้หาย
 

ผู้ตอบ น.พ.วิทวัส วัณนาวิบูล

อาการสำคัญ คือ กลัวความเย็น ไม่ถูกกับเครื่องปรับอากาศ ลม น้ำเย็น มีภาวะเครียดง่าย วิตกกังวลตกใจง่าย ไม่มีสมาธิ นอนหลับยากหรือฝันบ่อย เมื่อมีอะไรมากระทบจิตใจ ใจจะสั่น มึนงง อ่อนเพลีย มีเหงื่อออกง่ายทั้งที่อากาศเย็น ตามประวัติที่เล่ามาโดยไม่ได้ตรวจร่างกายหรือเห็นผู้ป่วย มีอาการมาร่วม ๑๐ ปี เข้าได้กับโรคที่ทางแพทย์จีนเรียกว่าเป็นผลจากการเสียสมดุลของภาวการณ์กระตุ้นและยับยั้งของสมอง (ส่วนเปลือกนอก) ส่วนมากมาจากสาเหตุความเครียดทางจิตใจที่ไม่สามารถแก้ไขได้เป็นเวลายาวนาน ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสภาพการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายในที่สุด ผลทำให้มีอาการตกใจง่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ฯลฯ ร่วมกับการทำงานของร่างกายผิดปกติในหลายระบบ เช่น ใจสั่น ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย สมรรถภาพทางเพศน้อยลง ฯลฯ

ทางแพทย์จีนแยกแยะภาวะของโรคตามเงื่อนไขจำเพาะของผู้ป่วยแต่ละรายไป ซึ่งต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย คลำชีพจรร่วมด้วย เช่น ถ้ามีอาการร่วมกับตามัว เวียนศีรษะ ความดันสูง แน่นหน้าอก ปวดสีข้าง มีอาการซึมเศร้า ลิ้นแดงมีฝ้าขาว ชีพจรตึงและเบาแสดงว่าสาเหตุจากภาวะของไตยินพร่อง การรักษาต้องเพิ่มธาตุน้ำบำรุงไตยิน

สำหรับกรณีนี้น่าจะมาจากภาวะพร่องของพลังหัวใจและม้าม ซึ่งม้ามในความหมายของแพทย์แผนจีน คือระบบการย่อยอาหารและแหล่งกำเนิดพลังงานของร่างกาย ภาวะเครียดวิตกยาวนานกระทบกระเทือนระบบการย่อย (วิตกกังวลกระทบม้าม) ผู้ป่วยจะขาดพลัง (ชี่) ซึ่งแสดงออก คือ ความกลัวความเย็น เหงื่อออกง่าย (ขาดพลังในการพยุงน้ำในร่างกาย) ร่วมกับพลังหัวใจจะลดลงด้วย ทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ (หัวใจรวมถึงระบบประสาทด้วย)

แนวทางการรักษาหลัก ต้องเสริมและบำรุงม้ามและหัวใจ (ตามทรรศนะจีน)

ส่วนวิธีการมีหลายอย่างตามความเหมาะสม และสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ในรายที่มีภาวะเกี่ยวข้องกับเส้นลมปราณอย่างชัดเจน การฝังเข็มโดยวิธีการเพิ่มพลังสามารถกระทำได้ ร่วมกับการใช้ตำรายาสมุนไพรที่เสริมบำรุงม้ามและหัวใจ

การปฏิบัติตัวให้เหมาะสมในด้านอารมณ์ที่ไม่หมกมุ่นกับภาวะทางอารมณ์ โดยเฉพาะความวิตกกังวลยาวนานเกินไป ต้องฝึกและทำใจให้รู้จักปล่อยวางนับว่ามีความสำคัญมาก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคุณสมบัติเย็น ซึ่งจะบั่นทอนระบบการย่อย เช่น แตงโม น้ำมะพร้าว กล้วยหอม สับปะรด โดยเฉพาะเวลาท้องว่างหรือตอนกลางคืน ควรกินอาหารเป็นเวลา อาหารที่กินต้องเป็นอาหารที่สุกที่อุ่นร้อน และมีคุณสมบัติร้อน เช่น ลำไย ลิ้นจี่ โสม พุทราแดง ขิง พริกไทย เครื่องเทศ กระเพาะหมู ฯลฯ ตามเหมาะสม

การออกกำลังกายที่ทำอยู่ก็ดีอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องเน้นการมีเหงื่อออกมา ควรเน้นการบริหารจิตร่วมกับบริหารกายควบคู่กับการหายใจ เช่น การรำมวยจีน น่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น