• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อยากรู้วิธีอ่านผลการตรวจเลือด

- บุญรัตน์/อุตรดิตถ์ : ผู้ถาม
ดิฉันเป็นประชาชนที่พยายามเรียนรู้และพึ่งตนเองเป็นชั้นต้น เพื่อลดภาระของหมอได้บ้าง ดิฉันมีความสนใจอยากทราบวิธีอ่านผลการตรวจเลือด การดูแลตัวเองเมื่อทราบผลเลือด ดิฉันพยายามค้นหาจากหนังสือและตำราถามตอบโรคทั่วไปของนายแพทย์ท่านหนึ่ง ก็ไม่มีบอกถึงวิธีการอ่านผล

เช่น HDL = 50 หมายถึงอะไร ควรดูแลตัวเองอย่างไร
และโปรดแนะนำหนังสือที่จะอ่าน เพื่อให้ได้คำตอบดังกล่าวด้วยจะเป็นพระคุณอย่างสูงค่ะ 

- นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ : ผู้ตอบ

อ่านจดหมายคุณแล้วรู้สึกชื่นใจที่ได้เห็นตัวอย่างของประชาชนคนไทยตื่นตัว พยายามเรียนรู้เพื่อพึ่งตนเองในการดูแลรักษาสุขภาพ คงเป็นหน้าที่ของสื่อต่างๆ ในสังคมที่จะต้องพยายามเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลที่มีประโยชน์ ถูกต้องทันสมัยและเหมาะสมกับบ้านเราให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบหรือค้นหาเพื่อนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน (ดังที่หมอชาวบ้านได้ทำหน้าที่นี้มาโดยตลอด)

การตรวจเลือดมีจุดมุ่งหมาย 2 อย่างใหญ่ๆ คือ เป็นการตรวจสุขภาพ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ก่อนเกิดโรค) หรือเป็นการวินิจฉัยเพื่อการบำบัดรักษา (หลังเกิดโรคแล้ว)
 
ค่าผลเลือดที่ควรจะเป็นในผู้ป่วยที่เกิดโรคแล้วอาจจะต่างจากคนที่ยังไม่เกิดโรค เช่น ค่าไขมัน Low Density Lipoprotein (เรียกย่อๆว่า LDL) ซึ่งเป็นไขมันตัวการสำคัญ ที่ไปพอกในหลอดเลือดแดงทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ ในผู้ป่วยโรคหัวใจควรจะต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ในคนปกติที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงควรจะต่ำกว่า 160 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นต้น
 
ผมเข้าใจว่าคุณคงจะถามมาในแง่ของการตรวจสุขภาพในคนปกติ ค่าไขมัน High Density Lipoprotein (เรียกย่อๆ ว่า HDL) ซึ่งเป็นไขมันที่ดี ทำหน้าที่เหมือนรถขน ขยะ จึงเป็นตัวนำพาเอาไขมัน LDL ที่ไม่ดีต่อหลอดเลือดออกไปทิ้ง คือขับถ่ายออกจากร่างกาย ดังนั้น ค่าHDL สูงจะป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือดดีกว่า หรือมีโอกาสเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดน้อยกว่า HDL ต่ำ นั่นก็ คือ HDL ยิ่งสูงยิ่งดี (ซึ่งจะต่างจากผลการตรวจเลือดทั่วไปที่เราเข้าใจกันว่า ถ้าค่าจากการตรวจเลือดสูง แสดงว่าไม่ดี หรือผิดปกติ)
ค่า HDL น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าต่ำกว่าปกติ
ค่า HDL อยู่ระหว่าง 40 ถึง 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าปานกลาง (ค่า HDL = 50 ที่ถามมาถือว่าปกติครับ)
และค่าที่สูงกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าสูงในผู้ที่มี HDL ต่ำ การออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะๆ เป็นประจำ ทำให้ HDL สูงขึ้นได้

อาหารทอด เนยเทียม (มาการีน) ขนมกรุบกรอบสำเร็จรูป เป็นซองๆ หรือขนมอบแบบฝรั่งในเบเกอร์รี เช่น คุกกี้ ขนมเค้ก อาหารเหล่านี้มีไขมันที่เรียกว่า transfatty acid ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นไขมันจากพืชที่ไม่มีโคเลสเตอรอล แต่เมื่อถูกความร้อนสูงๆ หรือถูกทำให้แข็ง (มาการีน) โครงสร้างโมเลกุลของน้ำมันพืชจะเปลี่ยน เมื่อกินแล้วทำ ให้ระดับ HDL ในเลือดต่ำลง และระดับไขมัน LDL สูงขึ้น

ดังนั้นผู้ที่มีค่า HDL ต่ำ ควรงดเว้นการกินอาหารดังกล่าว การกินปลา เต้าหู้ หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ก็จะเพิ่มระดับ HDL ในเลือดได้บ้าง นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก และการคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติในผู้ป่วยเบาหวาน ก็ทำให้ระดับ HDL ในเลือดลดลงได้

รายละเอียดการรักษาไขมันในเลือดปกติ และแนวทางการตรวจสุขภาพสำหรับผู้ใหญ่ไทย สามารถติดต่อขอได้จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย อาคารเฉลิมบารมี 50 ปี ชั้น 7 เลขที่ 2 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทรศัพท์. (02) 718-1649-51 โทรสาร. (02) 718-1652

ส่วนหนังสือเกี่ยวกับการอ่านผลเลือดสำหรับประชาชนทั่วไป ผมไม่ทราบว่ามีหรือไม่ โดยทั่วไปแพทย์จะเป็นผู้แจ้งผลการตรวจและแปลผลเลือดพร้อมกับวิธีปฏิบัติตัวกับผู้ตรวจเลือดโดยตรง และการแปลผล เลือดนั้น ควรดูควบคู่กับประวัติและตรวจร่างกายผู้ตรวจเลือดด้วย ดังนั้น จึงควรถามแพทย์ให้แน่ชัดเวลาไปรับผลเลือด

การตรวจสุขภาพโดยการตรวจเลือดที่แนะนำให้ทำในผู้ใหญ่ไทย มีการตรวจระดับโคเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด
ถ้าระดับโคเลสเตอรอลสูงกว่า 240 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าสูง ควรจะควบคุมอาหารโดยการลดการ กินอาหารมัน นมและไขมันจากสัตว์ เครื่องในสัตว์ เป็นต้น
ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ร่วมกับอาการ ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน

แต่ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 110 ถึง 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถึงแม้ว่าไม่เป็นเบาหวาน แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่ามีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานในอนาคตสูง โดยเฉพาะคนอ้วนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายเป็นประจำ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ดังนั้นจึงควรลดการกินอาหาร ขนม ผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ควร ออกกำลังกาย เช่น เดินอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ไม่นั่งๆ นอนๆ ทั้งวัน ลดน้ำหนัก (ถ้าจะให้ได้ผลในการป้องกันการเป็นเบาหวาน ต้องลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 4 ถึง 5 ของน้ำหนักตัวในคนอ้วน เช่น น้ำหนัก 80 กิโลกรัม ต้องลดลง 3.2 ถึง 4 กิโลกรัม เป็นต้น)

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคดีกว่าการรักษาเมื่อเป็นโรคแล้วครับ