• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะมีบุตรยากและการแก้ไข

ภาวะมีบุตรยากและการแก้ไข

ภาวการณ์มีบุตรยากเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตสมรส คู่สามีภรรยาที่สมรสมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วยังไม่มีบุตร จะมีความรู้สึกว่าชีวิตสมรสไม่สมบูรณ์ เนื่องจากขาดสิ่งผูกพันยึดเหนี่ยวระหว่างกันและไม่มีอะไรแปลกใหม่เกิดขึ้นในชีวิตสมรส นอกจากนี้แล้วการไม่มีบุตรสืบสกุลก็อาจนำไปสู่การหย่าร้างหรือสามีมีภรรยาใหม่
ภาวการณ์มีบุตรยากนี้ทางการแพทย์ถือว่าเกิดขึ้นเมื่อคู่สามีภรรยาอยู่กินกันมาเป็นเวลา 1 ปี และมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอแล้วยังไม่มีบุตร
เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงสาเหตุของการมีบุตรยาก และวิธีแก้ปัญหา ผู้เขียนจะขอสมมติเหตุการณ์ของคู่สมรสที่แต่งงานมาได้ 2 ปี แล้วยังไม่มีบุตร มาพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา รวมทั้งขอรับการรักษาเพื่อให้มีบุตร
สมพล : คุณหมอครับ เราสองคนแต่งงานกันมา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีบุตร สุขภาพโดยทั่วไปของเราสมบูรณ์ดี ผมอยากทราบว่ามีวิธีการรักษาอะไรบ้างมั้ยที่จะทำให้เรามีบุตร
แพทย์ : ก่อนที่จะพูดถึงการรักษา ผมขอชมคุณทั้งสองว่าเป็นคู่แต่งงานที่น่ารักมาก เมื่อมีปัญหาก็มาพบแพทย์ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ผลการรักษาดีขึ้นมาก โดยทั่วไปปัญหาการมีบุตรยากนี้ ฝ่ายชายมักจะไม่ค่อยยอมมาพบแพทย์ เนื่องจากกลัวว่าแพทย์จะตรวจพบว่าตัวเองเป็นหมัน ทำให้เสียหน้าความเป็นชายอะไรทำนองนั้น ที่จริงแล้วสาเหตุของการมีบุตรยากนั้นเป็นผลจากทางฝ่ายหญิงร้อยละ 50-60 ที่เหลือเกิดจากสาเหตุทางฝ่ายชาย หรือสาเหตุร่วมทั้งสองฝ่าย
ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือปัญหาทางด้านจิตใจ จิตใจที่มีความเครียด วิตกกังวล จะเป็นปัจจัยซึ่งทำให้ทางฝ่ายหญิงมีประจำเดือนผิดปกติ ไข่ไม่สุก ฝ่ายชายก็อาจมีการสร้างตัวอสุจิที่ไม่สมบูรณ์ ไม่แข็งแรง ผลที่ตามมาก็คือไม่ตั้งครรภ์นั่นเอง
สุดา : นอกจากที่กล่าวมา ยังมีปัจจัยหรือสาเหตุอะไรอีกมั้ย
แพทย์ : มีอีกมากครับ ก่อนอื่นผมจะขออธิบายถึงปัจจัยที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ก่อน เมื่อทราบอันนี้แล้ว สาเหตุอะไรที่ทำให้ปัจจัยดังกล่าวบกพร่องหรือผิดปกติไปก็ย่อมจะทำให้เกิดการมีบุตรยาก จริงมั้ยครับ

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์นั้นแบ่งออกได้เป็น
1. ฝ่ายชาย
ต้องสามารถผลิตอสุจิที่มีจำนวนมากพอ มีลักษณะรูปร่างปกติ เคลื่อนไหวได้เป็นปกติ รวมทั้งสามารถหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอดของฝ่ายหญิง เพื่อให้ตัวอสุจิสามารถเคลื่อนที่ผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก ไปยังท่อนำไข่เพื่อผสมกับไข่ของฝ่ายหญิง
2. ฝ่ายหญิง ต้องสามารถผลิตไข่ที่ปกติ ผ่านเข้าไปในท่อนำไข่เพื่อผสมกับตัวอสุจิ แล้วเคลื่อนไปฝังตัวในโพรงมดลูกซึ่งมีเยื่อบุโพรงมดลูกที่สมบูรณ์ปกคลุมอยู่
3. ปัจจัยร่วม คือจะต้องมีเพศสัมพันธ์ในวันที่มีการตกไข่ ซึ่งโดยปกติแล้วในแต่ละรอบเดือนของฝ่ายหญิงจะมีการตกไข่ครั้งเดียว และไข่นี้จะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง หลังจากตกไข่แล้วเท่านั้นจึงจะผสมพันธุ์ได้
สุดา : เราพอจะทราบได้เองมั้ยว่าวันไหนในรอบเดือนที่มีการตกไข่
แพทย์ : การตรวจหาว่ามีไข่ตก รวมทั้งวันตกไข่ เป็นสิ่งที่แพทย์จะต้องหาในผู้มารับบริการทุกราย
โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีคู่สมรสมาปรึกษา แพทย์จะทำการซักประวัติภรรยาเกี่ยวกับประจำเดือนว่าเริ่มมีอายุเท่าใด มีมาสม่ำเสมอหรือไม่ มีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วยหรือไม่ ฯลฯ ถ้าประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ บางคนนานๆมาครั้ง ก็อาจจะไม่มีการสุกของไข่ หรือวันที่ไข่สุกไม่แน่นอน ในรายที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ไข่มักจะสุกประมาณ ๑๔ วันก่อนมีประจำเดือนวันแรก
สุดา : ในฝ่ายหญิงยังมีสาเหตุอื่นอีกหรือเปล่าคะ นอกจากปัญหาไข่ไม่สุกตามปกติแล้ว
แพทย์ : สาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก ได้แก่
1. มีอวัยวะเพศพิการมาแต่กำเนิด เช่น ไม่มีมดลูก รังไข่ หรือไม่มีช่องคลอด เป็นต้น
2. สาเหตุจากช่องคลอด เช่น ช่องคลอดตีบตัน เยื่อพรหมจารีไม่ทะลุ และมีการอักเสบ เป็นต้น
3. สาเหตุจากปากมดลูก เช่น มีการอักเสบ ตีบตัน ฯลฯ
4. สาเหตุจากตัวมดลูก ที่พบได้บ่อยเกิดจากเนื้องอกของมดลูกชนิดต่างๆ และเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
5. สาเหตุจากท่อนำไข่ตีบตัน ซึ่งเป็นผลมาจากเคยเป็นปีกมดลูกอักเสบ หรือมีเนื้องอกมากด
6. สาเหตุจากต่อมไร้ท่อและรังไข่ ทำให้ไม่มีไข่สุก หรือเนื่องจากเนื้องอกบางชนิดของรังไข่
สาเหตุต่างๆเหล่านี้อาจตรวจพบได้โดยการซักถามประวัติ การตรวจร่างกาย และตรวจภายใน ผมจึงขออนุญาตตรวจร่างกาย และตรวจภายในคุณก่อนนะครับ เพราะจากประวัติที่ทราบมาคุณก็มีประจำเดือนสม่ำเสมอ ไม่มีโรคประจำตัว รวมทั้งไม่เคยได้รับการผ่าตัดช่องท้องมาก่อน ซึ่งอาจมีพังผืดยึดท่อนำไข่ให้คดงอ ทำให้โอกาสที่เชื้อและไข่จะผสมกันน้อยลง
สุดา : ตกลงค่ะ
แพทย์ : จากการตรวจภายในพบว่า อวัยวะเพศของคุณปกตินะครับ ไม่มีการอักเสบของช่องคลอดและปากมดลูก รวมทั้งตรวจคลำไม่พบก้อนเนื้อใดๆ เนื่องจากประจำเดือนของคุณเริ่มมาเมื่อ 10 วันก่อน ผมคิดว่าเป็นเวลาเหมาะสมที่จะทำการตรวจท่อนำไข่ว่ามีการตีบหรือตันมั้ย โดยการเป่าท่อ
สุดา : การเป่าท่อนำไข่เจ็บมั้ยคะ
แพทย์ : มีอาการเจ็บบ้างเวลาติดตั้งเครื่องมือ ถ้าท่อนำไข่ไม่ตันอาจจะมีอาการปวดหัวไหล่บ้างหลังจากเป่าท่อเสร็จ เนื่องจากก๊าซที่เป่าผ่านท่อเข้าไปในช่องท้องจะไปดันกะบังลมทำให้มีอาการปวดร้าวไปที่หัวไหล่ได้ ผลการเป่าท่อนำไข่ของคุณพบว่าท่อไม่ตันนะครับ
สุดา : ตอนนี้รู้สึกปวดหัวไหล่ทั้งสองข้างแล้วค่ะ
แพทย์ : ไม่เป็นไรครับ อาการปวดหัวไหล่นี้จะเป็นประมาณ 1-2 วันก็จะหายไปเอง ต่อไปผมขอถามคุณผู้ชายว่าเคยป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือเคยเป็นคางทูมหรือไม่ และเคยผ่าตัดร่างกายส่วนไหนหรือไม่
สมพล : ไม่เคยเลยครับ เอ...ผมสงสัยว่าโรคคางทูมจะเกี่ยวข้องอะไรกับการมีบุตรยากครับ
แพทย์ : ถ้าเป็นคางทูมและทำให้ลูกอัณฑะอักเสบก็อาจทำให้การผลิตน้ำเชื้อลดลง หรือผลิตไม่ได้เลยก็ได้ นอกจากนี้การป่วยเป็นโรคเรื้อรังก็มีผลทำให้การผลิตน้ำเชื้อน้อยลงเช่นกัน คุณสูบบุหรี่และดื่มเหล้าหรือเปล่าครับ
สมพล : ไม่ทั้งสองอย่างครับ
แพทย์ : ดีแล้วครับ เพราะการสูบบุหรี่และดื่มเหล้าจะมีผลทำให้การสร้างน้ำเชื้อลดลง และน้ำเชื้อก็ไม่แข็งแรงด้วย
จากการตรวจร่างกายของคุณโดยทั่วไปสมบูรณ์ดี อวัยวะเพศของคุณปกตินะครับ ไม่มีไส้เลื่อน หรือหลอดเลือดขอด รวมทั้งขนาดของอัณฑะก็ปกติ ต่อไปผมคิดว่าจะต้องตรวจน้ำเชื้อหน่อยนะครับ
สมพล : เดี๋ยวนี้เลยหรือครับ
แพทย์ : ยังครับ การตรวจน้ำเชื้อจะต้องทำหลังจากงดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 2-5 วัน คุณจะต้องเอาน้ำเชื้อออกมาโดยใช้วิธีสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองใส่ในขวดแก้วปากกว้างที่ผมจะมอบให้นี้ และนำมาส่งที่ห้องทดลองภายใน 2 ชั่วโมงนะครับ การเก็บโดยใช้วิธีการมีเพศสัมพันธ์และใส่ถุงยางอนามัยใช้ไม่ได้นะครับ เพราะในถุงยางอนามัยมีตัวยาที่จะฆ่าเชื้ออสุจิอยู่
สุดา : คุณหมอจะตรวจอะไรต่ออีกมั้ย และเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร คุณหมอช่วยแนะนำเพิ่มเติมด้วยค่ะ
แพทย์ : สำหรับวันนี้ ผมคิดว่าตรวจแค่นี้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ข้อแนะนำหลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้วภรรยาไม่ควรจะลุกจากที่นอนทันทีเพราะจะทำให้น้ำเชื้อฝ่ายชายไหลออกจากช่องคลอดได้ ควรจะนอนพักอยู่ก่อนสักครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จึงลุกไปทำความสะอาด และไม่ควรใช้น้ำสวนล้างช่องคลอดเป็นอันขาด

ขั้นตอนในการตรวจและรักษา
ฝ่ายหญิง

- ตรวจหาวันมีไข่สุก โดยการวัดอุณหภูมิ และการดูดเอาเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกมาตรวจถ้าไม่มีไข่สุก แพทย์ก็จะทำการกระตุ้นให้มีการตกไข่โดยการให้ยากิน หรือยาฉีดกระตุ้น
- ถ้าทำการเป่าท่อแล้วสงสัยว่ามีการตีบตันของท่อนำไข่อยู่ แพทย์จะทำการฉีดสี(สารทึบแสง)เข้าไปในมดลูกและท่อนำไข่ แล้วทำการเอกซเรย์ดูว่ามีการตีบหรือตันจริงหรือไม่ ในกรณีที่มีการตันของท่อนำไข่แพทย์จะทำการส่องกล้องเข้าไปในท้องแล้วฉีดสีเข้าโพรงมดลูก เพื่อดูว่ามีสีผ่านท่อนำไข่หรือไม่ ถ้าตันก็จะทำการผ่าตัดแก้ไขโดยวิธีจุลศัลยกรรม
- ถ้าการตรวจภายในพบว่าปากมดลูกมีแผล แพทย์ก็จะทำการจี้ปากมดลูกด้วยน้ำแข็งหรือด้วยไฟฟ้า
ฝ่ายชาย
ตรวจหาน้ำเชื้อถ้าผลปกติก็จะทำการตรวจสอบหลังการมีเพศสัมพันธ์ โดยให้คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ แล้วจึงไปพบแพทย์ตามที่นัดกันไว้ แพทย์จะทำการตรวจหาเชื้ออสุจิจากปากมดลูกว่ามีจำนวนพอหรือไม่ มีการเคลื่อนไหวแข็งแรงดีมั้ย ในกรณีที่สงสัยว่ามีการสร้างสารต้านทานเชื้ออสุจิ จะต้องทำการทดสอบอย่างละเอียดต่อไป

ถ้าพบว่ามีน้ำเชื้อน้อยก็จะต้องหาสาเหตุ ซึ่งบางส่วนเกิดจากหลอดเลือดขอดบริเวณถุงอัณฑะ โรคนี้รักษาได้โดยการผ่าตัด แต่ถ้าน้ำเชื้อน้อยโดยสาเหตุอื่น ก็ต้องอาศัยการรักษาทางยาต่อไป

คุณผู้อ่านที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่คงพอเข้าใจถึงสาเหตุภาวการณ์มีบุตรยาก รวมทั้งการตรวจและคำแนะนำเบื้องต้นพอสมควรแล้วนะครับ หากแพทย์ทำการตรวจหาสาเหตุไปตามลำดับขั้น เมื่อพบสาเหตุก็จะทำการแก้ไข ยังไม่สายเกินไปสำหรับคนหนุ่มสาวที่ต้องการมีบุตรไว้เป็นสักขีพยานของความรัก