• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไทรอยด์เป็นพิษ รักษาอย่างไรดี

คุณพรสุดา/ปราจีนบุรี : ผู้ถาม
ดิฉันเป็นไทรอยด์เป็นพิษค่ะ คุณหมอที่รักษาให้เวลาคิดว่าจะเลือกการรักษาวิธีไหน ระหว่าง
- กินยาประมาณ 2 ปี พร้อมกับอธิบายว่ามีโอกาสหาย 1 ใน 3 และมีโอกาสกลับมาเป็นอีก 1 ใน 3
- กินน้ำแร่รังสี พร้อมกับบอกว่าหายขาดแน่นอน แต่จะต้องกินยาตลอดไป

ดิฉันอยากทราบว่าควรเลือกวิธีไหนดี ที่จะเป็นผลดีต่อร่างกายและปลอดภัยด้วยค่ะ โดยเฉพาะการกินน้ำแร่รังสี ฟังแล้วน่ากลัว จะมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมาหรือไม่

นพ. มานพ พิทักษ์ภากร : ผู้ตอบ
วิธีรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่นิยมทั่วไป มี 2 วิธีนั่นแหละครับ คือกินยาต้านไทรอยด์และกินน้ำแร่ (ส่วนวิธีผ่าตัดนิยมใช้กับก้อนหรือเนื้องอกมากกว่า)

การกินยา ข้อดีคือ สามารถปรับขนาดยาเพื่อควบคุมอาการของไทรอยด์เป็นพิษได้ และกินยาเพื่ออาศัยลักษณะการดำเนินโรคที่ผู้ป่วยโรคนี้มีโอกาสที่โรคจะสงบเอง หลังจาก 2 ปีไปแล้ว ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือต่อมไทรอยด์ครับ ถ้าขนาดโตโอกาสที่โรคจะสงบลงได้เองจะน้อยกว่า โดยทั่วไปจึงแนะนำให้กินยาประมาณ 2 ปี แล้วลองหยุดยาดูครับ
 
ถ้ากินยาไปแล้ว 2 ปี ไม่สามารถหยุดยาได้จะทำอย่างไร คำตอบก็มีให้เลือก 2 ประการคือ เลือกจะกินยาต่อไปก็ไม่เสียหายอะไร โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการของไทรอยด์เป็นพิษได้ ในขนาดยาต่ำ ๆ ก็ไม่มีผลข้างเคียงอะไรที่ร้ายแรง

นอกจากนี้ ผู้ที่กินยาต้านไทรอยด์นานขึ้นก็มีโอกาสที่โรคจะสงบเองมากขึ้นไปด้วย (ยืนยันแล้วจากการศึกษาในต่างประเทศว่ายิ่งกินยานาน ยิ่งทำให้โรคสงบได้มากและนาน)

หรือเลือกอย่างที่สอง คือเลือกจะทำลายต่อมไทรอยด์ ด้วยการกินสารไอโอดีนกัมมันตรังสี ซึ่งมีความปลอดภัยมาก ผลของรังสีต่อร่างกายนั้นน้อยมาก เนื่องจากไอโอดีนรังสีจะถูกต่อมไทรอยด์จับไปจนเกือบหมด ส่วนที่เหลือร่างกายจะได้รับรังสีน้อยมาก ซึ่งปลอดภัยมาก

ข้อดี คือ ผู้ป่วยจะหายจากไทรอยด์เป็นพิษได้ง่ายกว่าและหายสนิทได้ (หรือกินแล้วไม่พอ คืออาการยังไม่หายสนิทก็กินเพิ่มได้ด้วย)

ข้อเสีย คือ ผู้ที่กินไปแล้วจะมีโอกาสเกิดต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ เพราะเนื้อต่อมถูกทำลายไปมากกว่าที่คำนวณได้ จำเป็นต้องกินไทรอยด์ฮอร์โมนเสริมเข้าไปแทน ซึ่งก็กินง่ายกว่ายาต้านไทรอยด์ เฉลี่ยวันละ 1-2 เม็ดเท่านั้น การกินก็ง่าย แพทย์จะคำนวณปริมาณสารรังสีจากขนาดต่อม การทำงานของต่อม กินแล้วกลับบ้านได้ หมอจะนัดมาตรวจอีกที แต่วิธีนี้มีแต่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เช่น ศิริราช จุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี เท่านั้น

สรุป แล้วแต่ความชอบและดุลยพินิจของแพทย์และผู้ป่วยร่วมกัน ถ้าต่อมโตมากต้องกินยาในขนาดสูง ลดยาลำบาก ก็กินน้ำแร่ดีกว่า

แต่ถ้าสามารถควบคุมอาการและลดการกินยาวันละ 1-2 เม็ด ก็ไม่ต่างกัน เพราะสำหรับการกินน้ำแร่ ในที่สุดก็ต้องกินฮอร์โมนวันละ 1-2 เม็ดเหมือนกันครับ