• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 2)

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 2)
 

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 2
หญิงไทยอายุ 45 ปี หน้าตามีแววกังวลและไม่สบาย เดินอย่างระโหยโรยแรงเข้ามาพบหมอ
หญิง : “อิชั้นมาขอตรวจโรคหัวใจค่ะ”
หมอ : “ทำไมคุณรู้ว่าคุณเป็นโรคหัวใจครับ”
หญิง : “อิชั้นไปตรวจมาหลายแห่งแล้วค่ะ ครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หมอบอกว่าเป็นโรคหัวใจค่ะ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย ”
หมอ : “คุณเอายาที่กินอยู่มาด้วยหรือเปล่าครับ”
หญิง : “กินยาหมดไปหลายชุดแล้วค่ะ อาการไม่ดีขึ้น เพื่อนบ้านเลยแนะนำให้มาหาหมอ”
หมอ : “ที่จริงถ้าคุณต้องการเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาล คุณขอใบส่งตัวจากหมอคนที่รักษาคุณอยู่ด้วย เพราะเขาจะเขียนบอกว่าคุณเป็นโรคอะไรในความเห็นของเขา และเขาให้ยาอะไรไว้บ้าง
ถ้ายาเหล่านั้นใช้ไม่ได้ผล หมอจะได้ไม่ให้คุณไปอีก คุณมาแบบนี้ หมอก็ไม่รู้ว่าคุณใช้ยาอะไรมาแล้วไม่ได้ผล หมออาจให้ยาเหมือนกับที่คุณใช้มาแล้วไปอีกมันก็จะไม่ได้ผลอีก คุณก็ต้องเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลอีก เจ็บตัวและเปลืองเงินอีกโดยไม่จำเป็น”
หญิง : “คุณหมอกรุณาตรวจให้อิชั้นก่อนได้มั้ยคะ แล้วพออิชั้นสบายขึ้น อิชั้นจะไปขอใบส่งตัวจากหมอคนเก่ามาให้”
หมอ : “ที่จริงหมอไม่อยากตรวจให้คุณ เพราะหมอไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เพราะทำให้สิ้นเปลืองมาก
คุณเปลี่ยนหมอทีไร หมอก็ต้องเริ่มต้นใหม่หมด ตั้งแต่ถามประวัติและตรวจร่างกายใหม่ รวมทั้งตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และอื่นๆอีกด้วย ทำให้ผู้ป่วยเสียเงินเสียเวลา และเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น และหมอก็ต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็นด้วย โดยเฉพาะเมื่อคุณไม่เอาใบส่งตัวมาจากหมอคนเก่า
นอกจากนั้น กว่าหมอจะรู้จักคุณดีเหมือนกับหมอคนเก่า อาจจะต้องเสียเวลาให้คุณมาตรวจหลายครั้ง ทำให้การรักษาในระยะแรกๆอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร นอกจากนั้นการเปลี่ยนหมอบ่อยๆ ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นผลเสียแก่คุณเองทั้งนั้น”
หญิง : “ค่ะ อิชั้นขอโทษค่ะ แต่อิชั้นไปหาหมอคนเก่าที่โรงพยาบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเสียเงินเป็นพันๆบาท แล้วก็กินยาตามหมอสั่งทุกอย่างมาหลายเดือนแล้วนะคะ แต่มันไม่ดีขึ้นถึงได้เปลี่ยนหมอค่ะ คุณหมอกรุณารักษาอิชั้นเถิดนะคะ”
หมอ : “แต่คุณต้องไปขอใบส่งตัวหรือผลการตรวจต่างๆที่คุณทำไว้แล้วมาให้หมอในคราวหน้าด้วยนะ”
หญิง : “ค่ะ ขอบคุณค่ะ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น คุณลองเล่าอาการป่วยตั้งแต่ต้นของคุณจนถึงปัจจุบันให้หมอฟังก่อน”
หญิง : “อิชั้นเป็นมาหลายปีแล้วค่ะ อยู่ดีๆก็มีอาการเสียวแปลบเข้าไปที่หัวใจแล้วรู้สึกใจสั่น ใจหวิวๆ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก บางครั้งก็มีเหงื่อแตกด้วยค่ะ”
หมอ : “ส่วนใหญ่คุณหมอมักมีอาการเวลาไหนครับ เวลาเช้า กลางวัน เย็น หรือกลางคืน”
หญิง : “ไม่แน่นอนค่ะ เป็นเวลาไหนก็ได้”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น อาการมักเกิดเวลาคุณนั่ง นอน ยืน เดิน หรือทำอะไรอยู่”
หญิง : “ก็ไม่แน่นอนอีกเหมือนกันค่ะ อยู่เฉยๆก็เป็น บางครั้งพูดโทรศัพท์หรือดูโทรทัศน์อยู่ก็เป็นค่ะ บางคืนกำลังจะหลับก็เป็น ทำให้นอนไม่หลับเลยค่ะ”
หมอ : “ปกติคุณนอนหลับสนิทมั้ยครับ”
หญิง : “หลับได้ค่ะ บางครั้งก็หลับสนิทดีค่ะ”
หมอ : “กลางคืนตื่นกี่ครั้งครับ”
หญิง : “ตื่นหลายครั้งค่ะ ตื่นแล้วก็หลับต่อค่ะ”
หมอ : “คุณตื่นขึ้นมาทำไม และหลังตื่นขึ้นมาแล้วนานมั้ยกว่าจะหลับต่อได้”
หญิง : “บางครั้งก็ตื่นขึ้นมาปัสสาวะ บางครั้งก็ตื่นขึ้นมาเฉยๆ กว่าจะหลับได้ใหม่ก็ต้องพลิกไปพลิกมาสักครึ่งชั่วโมงค่ะ”
หมอ : “คุณนอนหลับแบบนี้มานานแล้วหรือครับ”
หญิง : “ก็หลายปีแล้วค่ะ พอๆกับที่มีอาการเจ็บหัวใจนี่แหละค่ะ”
หมอ : “แล้วคุณไปหาหมอมาหลายแห่ง หมอเขาว่าคุณเป็นโรคหัวใจหรือครับ”
หญิง : “ค่ะ หมอบางคนก็บอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ บางคนก็บอกว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อิชั้นก็ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคหัวใจอะไรแน่ค่ะ”
หมอ : “แล้วทำไมคุณไม่ถามคุณหมอค่ะ ให้เขาอธิบายให้คุณเข้าใจล่ะครับ”
หญิง : “ไม่กล้าหรอกค่ะ เพราะหมอคนแรกที่ไปหา พออิชั้นถามว่าเป็นโรคอะไรคะ
หมอก็ว่าอิชั้นเสียๆหายๆ ว่าอีกหน่อยอิชั้นก็จะตายแล้ว เพราะกินไขมันมาก และก็ไม่ออกกำลังกาย ไขมันจะอุดหลอดเลือดหัวใจตายในอีกไม่นานค่ะ
คิดดูสิคะ หมอไม่ได้ถามอิชั้นสักคำว่ากินอาหารอะไรบ้าง อิชั้นไม่ชอบของมันเลย กินแต่ข้าวกับผักน้ำพริกปลาทู และก็ทำงานขายของ ขายอาหาร ทำอาหารเองทุกวัน แล้วมาว่าอิชั้นไม่ออกกำลังได้อย่างไร อิชั้นเลยไม่ไปหาหมออีก และก็ไม่กล้าถามคุณหมอคนอื่นอีก”
หมอ : “คุณหมอคนนั้นคงกำลังเหนื่อยหรืออารมณ์ไม่ดีอยู่ เขาเลยมาระบายออกที่คุณ ให้อภัยเขาเถิดครับ เพราะหมอก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเหมือนคนอื่นๆ มีโกรธ โลภ หลง เหมือนกันจึงอาจพลาดพลั้งหรือเผลอตัวได้เหมือนกัน แล้วคุณหมอคนอื่นๆก็บอกว่าคุณเป็นโรคหัวใจหรือครับ”
หญิง : “ค่ะ ส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นโรคหัวใจ มีน้อยคนที่บอกว่าไม่ใช่ บางคนก็บอกว่าอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ จนอิชั้นสับสนไปหมด
พอไปโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายนี้ หมอบอกว่าเป็นโรคหัวใจแน่ แต่เอายามากินหลายเดือน เปลี่ยนยาก็หลายครั้ง บางครั้งก็ดีขึ้น แต่ไม่นานก็เป็นอีก ก็เปลี่ยนยาอีก อิชั้นไม่แน่ใจ เพื่อนจึงแนะนำให้มาหาหมอ”
หมอ : “แล้วคุณแน่ใจหรือว่าหมอจะรักษาให้คุณหายได้”
หญิง : “ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยหมอก็ยังถามประวัติอิชั้นมากกว่าคนอื่นๆ หมอบางคนถามอิชั้นคำเดียว แล้วก็สั่งยาให้เลย แทบไม่ได้ตรวจด้วยซ้ำไป”
หมอ : “อืม...คุณนี่ผ่านหมอมามาก จึงเกิดปัญหามาก เพราะคุณลืมคำพังเพยที่ว่า ‘มากหมอมากความ’ นั่นเอง
เอาล่ะ ทีนี้คุณขึ้นนอนบนเตียงตรวจ แล้วหมอจะได้ตรวจร่างกายคุณเสียที เราคุยกันมานานแล้ว”
หลังจากตรวจร่างกายและระบบหัวใจโดยละเอียดแล้ว
หมอ : “ร่างกายคุณเท่าที่ตรวจได้ไม่มีปัญหาหรือความผิดปกติที่จะทำให้เกิดอาการอย่างที่คุณเล่าให้หมอฟังแม้แต่นิดเดียว หัวใจเท่าที่ตรวจได้ก็ปกติ ประวัติที่คุณเล่าให้หมอฟังก็ไม่ทำให้คิดถึงโรคหัวใจ เพราะฉะนั้นในความเห็นของหมอคุณไม่ได้เป็นโรคหัวใจ”
หญิง : “จริงหรือหมอ หมอแน่ใจนะคะ”
หมอ : “ค่อนข้างแน่ใจทีเดียวครับ แต่ถ้าคุณนำผลการตรวจครั้งก่อนๆมาให้หมอดูด้วย ก็จะยิ่งทำให้แน่ใจมากขึ้น”
หญิง : “เอ...ทำไมหมอส่วนใหญ่เค้าลงความเห็นว่าอิชั้นเป็นโรคหัวใจล่ะคะ”
หมอ : “อาจจะเป็นเพราะเขาไม่ได้ถามประวัติอาการของคุณให้ดีจึงเข้าใจผิดได้”
หญิง : “คุณหมอไม่ตรวจเพิ่มเติมให้แน่ใจกว่านี้หรือคะ”
หมอ : “จะตรวจเพิ่มเติมก็ได้ครับ แต่เห็นว่าคุณเพิ่งตรวจมาแล้วจากโรงพยาบาลก่อน จึงคิดว่าคุณควรนำไปนำผลการตรวจที่มีอยู่แล้วมาให้หมอดูก่อน ถ้าหมอเห็นว่าสมควรจะตรวจอะไรเพิ่มเติม จึงจะแนะนำให้คุณตรวจ”
หญิง : “ถ้าเขาไม่ยอมให้ผลการตรวจเก่ามาล่ะคะ หมอจะตรวจใหม่เลยไม่ได้หรือ”
หมอ : “เขาควรจะยอมให้คุณขอผลการตรวจเก่ามาได้ เพราะอันที่จริงคุณได้เสียเงินค่าการตรวจนั้นๆให้เขาแล้ว คุณจึงเป็นเจ้าของของผลการตรวจนั้นๆ และผลการตรวจนั้นๆก็เป็นของคุณโดยเฉพาะเขานำไปใช้กับคนอื่นๆไม่ได้ เขาไม่เก็บไว้ให้รกโรงพยาบาลของเขาหรอกครับ”
หญิง : “อิชั้นเคยไปขอผลและฟิลม์เอกซเรย์จากโรงพยาบาลจุฬาฯ รามาฯ และศิริราช แต่เขาไม่ยอมค่ะ แล้วโรงพยาบาลนี้เขาจะยอมให้หรือคะ”
หมอ : “โรงพยาบาลจุฬาฯ รามาฯ และศิริราชเป็นโรงพยาบาลของรัฐฯ และเป็นโรงเรียนแพทย์ ค่าการตรวจต่างๆจึงเป็นเพียงค่าใช้จ่ายของสิ่งของที่ถูกใช้ไปเท่านั้น ไม่ได้คิดค่าบริการของแพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิค ฯลฯ รวมทั้งค่าสึกหรอของเครื่องมือและอื่นๆเข้าไปด้วย
โรงพยาบาลเหล่านี้จึงถือว่า ผลการตรวจเหล่านี้ยังเป็นของโรงพยาบาล ไม่ยอมให้คนไข้เอาไปเพราะสามารถใช้ผลการตรวจเหล่านี้ เช่น ฟิล์มเอกซเรย์ไว้สอนนักเรียนแพทย์ และนักเรียนพยาบาลต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณต้องการจริงๆ คุณบอกให้หมอที่ดูแลคุณอยู่เขียนจดหมายไปขอยืมผลเหล่านั้นมาดูได้ เมื่อคุณเอาจดหมายของหมอไปแสดง เขาก็จะยอมให้คุณยืมผลการตรวจเหล่านั้นไป แล้วคุณต้องเอากลับไปคืนเขาด้วย
แต่ในโรงพยาบาลเอกชน คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายเต็มที่ ผลการตรวจต่างๆจึงเป็นของคุณโดยสมบูรณ์ และโรงพยาบาลเอกชนเขาก็ไม่รู้จะเก็บผลการตรวจของคุณไว้ทำไมให้รกโรงพยาบาลเขาเปล่าๆ เพราะเขาไม่ได้นำไปใช้สอนนักเรียนแพทย์หรือใช้ทำอะไรอื่นได้อีก”
หญิง : “แสดงว่าคุณหมอจะไม่ยอมตรวจเพิ่มให้อิชั้นใช่มั้ยคะ”
หมอ : “เอ...คุณนี่ไม่ยอมเข้าใจเสียเลยว่าหมอพยายามจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจให้กับคุณ ช่วยทำให้คุณไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลาในการตรวจเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการตรวจบางอย่างก็ต้องเจ็บตัวด้วย เช่น การตรวจเลือด การสวนหัวใจ เป็นต้น
เอาล่ะครับ นี่เป็นรายการตรวจเพิ่มเติมสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คุณพิจารณาเอาเองก็แล้วกันว่าอยากจะตรวจกี่อย่าง จะได้เตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมเงินค่าใช้จ่ายไว้ด้วย”


รายการการตรวจเพิ่มเติมสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และราคาสำหรับการตรวจแต่ละอย่างสำหรับผู้ป่วยสามัญและผู้ป่วยพิเศษที่โรงพยาบาลรามาธิบดี สำหรับ พ.ศ. 2537 (ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา สำหรับโรงพยาบาลเอกชนอาจจะมีราคาสูงกว่านี้ได้มากๆ) หมอขอยกตัวอย่าง ดังนี้
1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography หรือ ECG หรือ EKG) ราคาค่าตรวจครั้งละ 200 บาทสำหรับผู้ป่วยสามัญ และ 300 บาทสำหรับผู้ป่วยพิเศษ
ข้อดี : ตรวจได้ง่าย ไม่เจ็บตัว ไม่เหนื่อย ไม่เสียเวลามาก และมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบการตรวจอื่น
ข้อเสีย : ผลการตรวจบอกไม่ได้เด็ดขาดว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจเกิดขึ้นได้ในโรคหลายโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ และเกิดขึ้นจากผลของยาหลายชนิด หรือผลของการเปลี่ยนแปลงอย่างปกติอื่นๆ เช่น หลังการหายใจเข้า-ออกแรงๆ หลังตื่นเต้น ตกใจ โกรธ หรือหลังการออกกำลัง เป็นต้น


2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะวิ่งบนสายพาน (treadmill exercise test) ราคาค่าตรวจครั้งละ 1,800 บาทสำหรับผู้ป่วยสามัญ และ 2,000 บาทสำหรับผู้ป่วยพิเศษ
ข้อดี : ตรวจภาวะหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) ได้ละเอียดและไวกว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบธรรมดา (ขณะพักอย่างเดียว)
ข้อเสีย : ราคาแพงกว่าเกือบ 10 เท่า และอาจมีอันตรายถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น (หัวใจวาย) ทันที หรือมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายอย่างเฉียบพลันเกิดขึ้นได้ในขณะวิ่งบนสายพาน หรือหลังการวิ่งแล้ว
ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยมักจะเหนื่อยหรือเมื่อยขา หรือมีอาการอื่นๆจนวิ่งไม่ได้ครบตามที่กำหนด ทำให้แปรผลการตรวจไม่ได้ ทำให้เสียเงินและเสียเวลาไปเปล่าๆ
นอกจากนั้นผลการตรวจยังไม่เด็ดขาด ขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุและแนวโน้มว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากน้อยเพียงใด (สำหรับคนที่ไม่มีอาการและมีอายุน้อย อาจให้ผลผิดปกติปลอมๆ ทำให้เกิดเป็นโรคประสาทได้)


3. การตรวจเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiography) ราคาค่าตรวจครั้งละ 1,200 บาทสำหรับผู้ป่วยสามัญ และ 1,800-2,500 บาทสำหรับผู้ป่วยพิเศษ
ข้อดี : ตรวจได้ไม่ยากนัก ไม่เจ็บตัว ไม่เหนื่อย ไม่เสียเวลามากเมื่อเทียบกับการตรวจอื่น นอกจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ข้อเสีย : ผลการตรวจบอกไม่ได้เด็ดขาดว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะเป็นการตรวจลักษณะโดยทั่วไปของหัวใจ ไม่สามารถตรวจเจาะจงลงไปถึงหลอดเลือดหัวใจได้

ฉบับนี้ขอยกตัวอย่างแค่ 3 ข้อก่อนนะครับ ที่เหลือขอขยักไว้ฉบับหน้าครับ

                                                                                                                             (อ่านต่อฉบับหน้า)