• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ่ายเป็นมูกเลือด

ศรีสุดา : ผู้ถาม
ลูกชายอายุ 11 เดือนค่ะ มีอาการถ่ายบ่อยครั้ง คือเกือบทุกมื้ออาหาร แต่ลักษณะอุจจาระก็ปกติ เลยคิดว่าไม่น่าจะใช่อาการท้องเสีย แต่พอเข้าวันที่ 4 เริ่มถ่ายเป็นมูก ไม่มีเลือด ไม่มีไข้ ก็เลยพาไปหาหมอ ซึ่งคุณหมอได้จ่ายยา Lexinor, Smacta, Saline power กินไปได้ 1 วัน อาการก็ยังไม่ดีขึ้น

วันรุ่งขึ้นถ่ายบ่อยกว่าเดิม (10 ครั้งในช่วงกลางวัน) ไม่ค่อยมีเนื้ออุจจาระเท่าใด มีแต่มูกเลือดเยอะมาก เข้มบ้าง จางบ้าง และลูกมีอาการโยเยเหมือนปวดท้องเวลาถ่าย และมีไข้ต่ำ ๆ ด้วย

คุณหมอเปลี่ยนยาจาก Lexinor เป็นยาแรงกว่าคือ Ciprobay 250 มิลลิกรัม ให้กิน กินไป 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งเม็ด ดูเหมือนถ่ายน้อยครั้งลง และไม่มีไข้แล้ว อุจจาระก็เริ่มมีเนื้อให้เห็นนิดหน่อย และยังมีมูกเลือดเหมือนเดิม

ไม่ทราบว่ารักษามาถูกทางหรือยังค่ะ คุณหมอที่ตรวจบอกว่าถ้ายังไม่หายก็ต้องตรวจเชื้อ ก็เท่ากับลูกต้องถ่ายมีเลือดปนตลอดโดยที่รักษาแล้วยังไม่ดีขึ้น ทำให้ดิฉันกังวลว่าลูกจะเสียเลือดมากค่ะ เมื่อไรมูกเลือดถึงจะหยุดไป

ตอนนี้ให้กินข้าวต้มใส่เกลือและชงนมจาง ไม่ทราบจะให้กินน้ำต้มตับได้หรือเปล่าค่ะ เพราะรู้สึกว่าลูกจะซีด ๆ คงเพลียจากการถ่ายบ่อยด้วย

นพ.ยง ภู่วรวรรณ : ตอบ

เด็กอายุ 11 เดือนถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้ต่ำ ๆ อยู่ช่วงหนึ่ง ลักษณะอาการดังกล่าวไม่ปกติแน่นอน ตามลักษณะอาการแสดงว่ามีอุจจาระร่วง (ถ่ายบ่อย) และมีการอักเสบของลำไส้ใหญ่ (ถ่ายเป็นมูก) และน่าจะมีแผลเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่ลำไส้ใหญ่ (มีมูกเลือด) น่าจะเป็นการติดเชื้อที่ทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบ เด็กจะปวดท้อง และจะถ่ายจำนวนครั้งบ่อยมากขึ้น แต่ปริมาณจะไม่เยอะ และการเสียเลือดที่ปนไปกับมูกเลือดจะไม่มีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดเลือดจาง (ถ้าไม่ได้เป็นนานหลายวัน)

การติดเชื้อดังกล่าวน่าจะเป็นเชื้อในกลุ่มของแบคทีเรีย มีแบคทีเรียหลายชนิดที่ทำให้มีการอักเสบของลำไส้ใหญ่ได้ เช่น Salmonella, Ecoli ชนิดก่อโรคเชื้อบิด ดังนั้นถ้าเป็นไปได้น่าจะตรวจอุจจาระส่องกล้องดูเซลล์อักเสบ (เม็ดเลือดขาว) และเพาะเชื้อหาแบคทีเรียลำไส้ก่อโรค การให้ยาปฏิชีวนะเราจะให้ยาที่จำเพาะและที่จำเป็นเท่านั้น

ยาในกลุ่ม quinolone ได้แก่ Norfloxacin (Lexinor), Ciprofloxacin (Ciprobay) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้ แต่ไม่ควรใช้เป็นอันดับแรก หรือใช้ครั้งแรกต้องระวัง โดยเฉพาะการใช้ในเด็กเล็กไม่ควรใช้บ่อยและนาน เพราะอาจมีผลข้างเคียงระยะยาวได้ ควรคำนึงถึงผลได้และผลเสีย ทางที่ดีน่าจะตรวจเพาะเชื้อให้ทราบว่าเป็นเชื้อชนิดใด หรือมีสาเหตุจากอะไร เชื้อบางครั้ง เช่น Salmonella โอกาสที่จะยืดเยื้อหลบซ่อนในร่างกายเด็กเป็นไปได้ โดยที่ถ้าเด็กมีร่างกายแข็งแรง ระบบภูมิต้านทานร่างกายจะกำจัดเชื้อได้เอง

การเสียเลือดจากมูกเลือดไม่ได้เป็นนานและมากพอที่จะทำให้สูญเสียการเจริญเติบโต การเบื่ออาหารช่วงนี้น่าจะมีผลจากอุจจาระร่วงมากกว่า การกินข้าวต้มใส่เกลือต้องระวังอย่าใส่เกลือมากไป เพราะการถ่ายเป็นมูกเลือดไม่ได้สูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมาก จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปชดเชยเกลือที่ใส่ไป การชงนมให้จางก็เช่นเดียวกัน อาจทำให้เด็กขาดอาหารได้