• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำท่วมปอด

น้ำท่วมปอด


ผู้ถาม นิลาวรรณ/กาญจนบุรี
ผู้ตอบ น.พ. พรชัย วัชระวณิชกุล, นพ. สว่าง แสงหิรัญวัฒนา


สาเหตุของโรคน้ำท่วมปอดคืออะไร มีวิธีป้องกันและรักษาตัวอย่างไร

อยากทราบว่าสาเหตุของโรคน้ำท่วมปอดเกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันและรักษาตัวอย่างไร เพราะเพื่อนบ้านผู้ชายอายุ 65 ปี กำลังป่วยเป็นโรคนี้ นอนอยู่ที่โรงพยาบาลและหมอเจาะน้ำที่ปอดออก กรุณาให้รายละเอียดด้วย

น้ำท่วมปอด คือ ภาวะที่มีน้ำขังอยู่ในช่องเยื่อหุ้มปอด มีได้หลายสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

- โรคปอด เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มปอด ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดร่วมกับปอดอักเสบ มะเร็งปอดหรือมะเร็งอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมายังเยื่อหุ้มปอด

- โรคหัวใจ ได้แก่ ภาวะหัวใจวาย เลือดคั่ง

- โรคไต ได้แก่ ภาวะไตวาย กลุ่มอาการที่มีไข่ขาวในปัสสาวะ

- โรคตับแข็ง

- โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคเอสแอลอี

- โรคอื่นๆ ที่พบได้ไม่บ่อย เช่น น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดที่เกิดร่วมกับฝีบิดในตับ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

การเจาะดูดน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ

1. เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ

น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดไม่จำเป็นต้องเจาะทุกราย ถ้าสามารถวินิจฉัยหาสาเหตุได้จากอาการและอาการแสดงอื่นๆ เช่น ภาวะหัวใจวาย ไตวาย ตับแข็ง เป็นต้น นอกจากสงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อในช่องเยื่อหุ้มปอดที่เกิดร่วมกับภาวะต่างๆ เหล่านี้ ในบางกรณีอาจตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มปอดไปตรวจหาความผิดปกติ พร้อมๆ กับการเจาะดูดน้ำเพื่อการวินิจฉัยด้วย

2. เพื่อบรรเทาอาการแน่นหรือหายใจลำบากที่เกิดเนื่องจากน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดจำนวนมาก

วิธีป้องกันและรักษาตัว ขึ้นกับสาเหตุของภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เช่น

- วัณโรคเยื่อหุ้มปอด ก็ต้องกินยากรักษาวัณโรคให้ครบตามกำหนด

- ไตวาย หัวใจวาย ตับแข็ง ให้งดอาหารเค็มและจำกัดจำนวนน้ำดื่ม

- น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ก็เจาะดูดออกเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้ามีน้ำกลับขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดอาการอีก ก็อาจต้องใส่ยาเข้าช่องเยื่อหุ้มปอดเพื่อให้เกิดพังผืดปิดช่องเยื่อหุ้มปอด ไม่ให้เกิดน้ำท่วมปอดขึ้นมาอีก