• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เอ็นข้อมืออักเสบ

เอ็นข้อมืออักเสบ

ถาม : นพวรรณ/ชลบุรี

ขณะนี้อายุ 40 ปีแล้ว กิจกรรมส่วนใหญ่คือการทำงานบ้านทุกวัน อยู่ๆ มีอาการปวดที่ข้อมือมาก บวมด้วย ไปหาหมอที่คลินิก หมอบอกว่าเอ็นข้อมืออักเสบ จะต้องผ่าตัดถึงจะหายขาด ต้องการทราบว่า ผ่าตัดแล้วหายขาดจริงหรือไม่ ถ้าไม่ผ่าตัด การใช้ยาจะช่วยได้มากน้อยอย่างไร

ตอบ : นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์

จากกิจวัตรประจำวันและอาการที่บอกมานั้น เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มือ ตรงบริเวณข้อมือ ทำให้เกิดการบวมและการหนาตัวของเส้นเอ็นพบมากในสตรีวัยกลางคน (ช่วงอายุ 30-50 ปี) ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 3-5 เท่า
คนที่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือบ่อย ๆ ในท่ากางนิ้วหัวแม่มือออกทางด้านข้างและกระดกขึ้น หรืออาจพบว่าเคยมีการบาดเจ็บบริเวณข้อมือมาก่อน
อาการที่พบคือปวดและบวมบริเวณข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ จะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่มือ เช่น เวลาเหยียดและงอนิ้วหัวแม่มือเต็มที่ บิดเสื้อผ้า ยกขันน้ำ กวาดพื้น เป็นต้น บางรายอาจคลำได้ก้อนบริเวณข้อมือด้วย
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย ไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์

การรักษาเอ็นข้อมืออักเสบทำโดยการผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด
1. ไม่ต้องผ่าตัด
ผลการรักษาค่อนข้างดี กรณีที่เพิ่งเริ่มเป็นระยะแรกมีโอกาสหายประมาณร้อยละ 70-80 นั่นคือ หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือในท่ากางนิ้วออก หรือกระดกนิ้วขึ้น ถ้าปวดมากอาจต้องใส่เฝือกชั่วคราว ประคบด้วยความร้อนหรือใช้ยานวด กินยาแก้ปวดลดการอักเสบ ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ ซึ่งไม่ควรฉีดซ้ำเกิน 2 ครั้งใน1 เดือน

2. วิธีผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด จะใช้ก็ต่อ เมื่อฉีดยาสเตียรอยด์ 1-2 ครั้งใน1 เดือน แล้วอาการปวดไม่ทุเลา
แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วใช้มีดกรีดแยกเยื่อหุ้มเอ็นที่บีบรัดเส้นเอ็นอยู่ให้แยกจากกัน ซึ่งให้ผลการผ่าตัดที่ดีมาก และไม่จำเป็นต้องพักในโรงพยาบาล
หลังผ่าตัดทำแผลวันละครั้ง ตัดไหมหลังผ่าตัด 7-10 วัน แพทย์จะนัดมาตรวจทุก 1-2 สัปดาห์ในระยะแรกผล

แทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังการผ่าตัด เช่น มีอาการเจ็บอยู่บ้างจากพังผืดที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัด มีโอกาสเกิดอันตรายต่อเส้นประสาทที่มาเลี้ยงผิวหนังได้