• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคจิตเภท

โรคจิตเภท

น้องดิฉันชอบทำร้ายคนในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน และเวลามีลูกค้าชายเข้าร้าน จะจ้องจนลูกค้ารู้สึกตัว โรคนี้รักษาได้หรือไม่

ผู้ถาม เย็นจิตต์/นนทบุรี
ผู้ตอบ นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์

ถาม
น้องสาวดิฉันอายุ 24 ปี ปัจจุบันไม่ได้เรียนหนังสือ ก่อเรื่องรำคาญใจให้ครอบครัวมาก ตอนที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 ช่วงนั้นวิตกกังวลบางเรื่อง เป็นคนเงียบ ไม่ค่อยร่าเริง ไม่ชอบคุย เป็นลูกคนที่ 2 ดิฉันเป็นลูกคนโต และมีน้องอีก 2 คน (ชาย 1 หญิง 1) เขาเป็นคนที่ 2 ไม่ค่อยมีปัญหากับใคร

พอเขาจบชั้นประถมปีที่ 7 มีการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนรัฐบาลมีชื่อแห่งหนึ่ง และมีเพื่อนสนิทสอบได้แต่เขาสอบไม่ได้ เขาหวังไว้ว่าจะเข้าให้ได้เลยผิดหวัง พ่อแม่ก็พาเข้าโรงเรียนราษฎร์ เรียนเทอมแรกได้สักพักบ่นว่าปวดหัวไม่อยากเรียน พ่อแม่บังคับก็อาละวาดจนพ่อแม่ต้องตามใจ

ช่วงหลังอาการเริ่มหนักขึ้น บางวันพ่อแม่ขายของอยู่ เขาเกิดบ้าวิ่งออกจากบ้านไป พ่อแม่ต้องวิ่งไปพาตัวกลับมา จนพ่อแม่คิดมาก ครอบครัวมีแต่ความทุกข์ พ่อกลัวเขาจะหายไปจึงต้องทำป้ายแขวนคอไว้ ตัวเขาเองพอรู้ว่าพ่อแม่ห้ามไม่ให้ออกจากบ้านก็เริ่มอาละวาด แม่คิดว่าผีเข้าก็พาไปรดน้ำมนต์หลายแห่งก็ไม่หาย พาไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา อาละวาดจนพ่อแม่ต้องขอให้แพทย์รับตัวไว้รักษา วันหนึ่งแม่ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ตกใจมากเพราะเขาหนีกลับบ้านทั้งๆ ที่อยู่ในชุดผู้ป่วยของโรงพยาบาล ตั้งแต่นั้นแม่ไม่พาเขาไปอยู่โรงพยาบาลอีกเลย

อาการของเขามีแต่ทรงกับทรุด แต่ไม่ทำร้ายผู้อื่น มีการหัวเราะเป็นบางครั้ง (เป็นมานานแล้ว) อยู่ๆก็หัวเราะ ถามว่าหัวเราะอะไรก็บอกว่าเปล่า

อาการทำร้ายคนมักจะเป็นในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน มีอยู่วันหนึ่งเขาทำร้ายแม่ จนครั้งหลังน้องชายต้องชกให้สงบ แม่ต้องมัดมือมัดเท้า แรกๆ ก็โวยวายและอ้อนให้แม่ใจอ่อน พอปล่อยออกมาก็ทำร้ายแม่อีก น้องชายต้องมัดอีก เลยต้องส่งโรงพยาบาลนิติจิตเวช ตอนแรกหมอไม่ยอมรับ แต่แม่ขอร้อง หมอก็ยอมรับไว้ในโรงพยาบาล อยู่โรงพยาบาลประมาณ 10 เดือนพูดรู้เรื่องขึ้น

แม่คิดว่าสาเหตุอาจเกิดจากการมีประจำเดือน (ตอนยังไม่เข้าโรงพยาบาล เวลามีลูกค้าชายเข้าร้านเขาจะจ้องมองจนลูกค้ารู้สึกตัว และจ้องเฉพาะผู้ชายเท่านั้น เวลาขึ้นรถเมล์ถ้ามีที่นั่งว่าง 2 ที่ เขาจะเลือกไปนั่งที่มีผู้ชายนั่งอยู่และจ้องมองเขาจนผิดปกติ) แม่ปรึกษาแพทย์ว่าจะตัดมดลูกออก หลังจากตัดมดลูกออกแล้ว แรกๆ ก็รู้เรื่องดี ต่อมาเริ่มมีนิสัยพาล ตะคอกคน

เขาอยู่บ้านกับแม่ 2 คน (ออกจากโรงพยาบาลนิติจิตเวชแล้วก็ยังพาไปฉีดยาที่คลินิกทุกเดือน พร้อมทั้งได้ยาซองใหญ่มาหลายซอง) ก่อนเข้าโรงพยาบาลจะไม่ทำอะไรเลย ฟังวิทยุ กิน นอน แต่หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว พ่อบังคับให้กวาดพื้น ถูพื้น อารมณ์เปลี่ยนแปลงบางระยะ จนกระทั่งระยะหลังนี้เขาอ่านเจอการ์ดแต่งงานของเพื่อน วันแรกๆ ก็พูดถี่ๆ ว่า “นี่เพื่อนเขาจะแต่งงานแล้วนะ” พูดให้คนโน้นคนนี้ฟัง

หลังจาก 2 วันแรกอารมณ์ชักหงุดหงิดถี่มากขึ้น (ช่วงจบชั้นประถมปีที่ 7 ดิฉันสังเกตพฤติกรรมแปลกๆ ของเขา จึงแอบดู ปรากฏว่า เอาฝักบัวเปิดน้ำแรงๆ ฉีดเข้าที่อวัยวะเพศ ระยะหลังอักเสบจนต้องไปหาหมอ)

ตอบ
จากที่เล่ามาทั้งหมด น้องสาวคุณมีอาการของโรคจิตชนิดรุนแรง เรียกว่า โรคจิตเภท ซึ่งเป็นโรคจิตที่มักจะเป็นเรื้อรัง มีอาการกำเริบได้เป็นครั้งคราวตามที่เล่ามา แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยก็สามารถกลับไปทำงานหรือเรียนหนังสือได้ อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ พอช่วยงานบ้านได้ หรือพออยู่ในบ้านได้โดยไม่ทำให้เกิดปัญหามากจนเกินไป

จากประวัติที่เล่ามา น้องสาวคุณมีอาการเรื้อรัง อาการเริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังน้อยและการปรับตัวก่อนหน้าการเจ็บป่วยก็ดูไม่สู้ดีนัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าการตอบสนองต่อการรักษาอาจจะไม่ดีนัก

โรคจิตเภทนี้เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง เช่น อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ คือ มักจะพบประวัติอาการเจ็บป่วยทางจิตใจในครอบครัวสูงกว่าบุคคลทั่วไป และพบว่ามีความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ควบคุมการทำงานของความคิดและการใช้เหตุผล ตลอดจนการควบคุมอารมณ์ รวมทั้งอาจมีสาเหตุจากการเลี้ยงดูและความเครียดในสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นด้วย เนื่องจากเป็นโรคที่เป็นเรื้อรังจึงต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวิธีการรักษาที่สำคัญ คือ

1. การใช้ยาต้านโรคจิต เพื่อควบคุมอาการต่างๆ ของโรค เช่น พูดคนเดียว หวาดระแวง ก้าวร้าว อาจเป็นยาฉีดซึ่งสามารถควบคุมอาการได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือยากินก็ได้

2. การช่วยเหลือด้านจิตใจและสังคม ได้แก่ การช่วยพูดคุย แนะนำผู้ป่วย ช่วยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปรับตัว และการกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันตามสมควร เพื่อไม่ให้เฉื่อยชามากเกินไป และการสร้างบรรยากาศในบ้านให้ดี ไม่มีความขัดแย้งหรือการทะเลาะเบาะแว้ง หรือการต่อว่าตำหนิติเตียนผู้ป่วยมากเกินไป ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นผู้ป่วย

การรักษาที่ทำอยู่คงจะถูกต้องแล้ว ตามที่จะเห็นได้ว่าขณะอยู่โรงพยาบาลอาการดีขึ้นมาก เมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้วอาการทรุดลง ข้อที่ควรสงสัย คือ ผู้ป่วยได้รับยาสม่ำเสมอหรือไม่ เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยเกือบครึ่งหนึ่งจะไม่ยอมกินยา หรืออาจมีเหตุอื่นที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอาการ เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว

การรักษาให้หายขาดในกรณีของน้องสาวคุณคงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่อาจควบคุมอาการให้ดีขึ้นได้ ส่วนการที่แพทย์ไม่ได้ตรวจร่างกาย เช่น ฟังหัวใจทุกครั้งที่ไปพบนั้น เนื่องจากโรคนี้เป็นความผิดปกติทางจิตและและพฤติกรรม การซักถามอาการและประวัติการแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ รวมทั้งอาการประสาทหลอน ความคิดหวาดระแวง เป็นต้น จึงมีความสำคัญมากกว่า และเป็นตัวที่จะบอกการเปลี่ยนแปลงของโรคได้ดีที่สุด ส่วนอวัยวะในระบบต่างๆ ของร่างกายในโรคนี้มักไม่มีความผิดปกติอะไร

ถ้าคุณสนใจอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้ มีหนังสือชื่อ “คู่มือสำหรับญาติ ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท” เขียนโดยนายแพทย์ชะฤทธิ์ พงศ์อนุตร์ วิภาวี เผ่ากันทราทร และมาลี แจ่มพงษ์ ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมาก จะติดต่อขอได้ที่ฝ่ายจิตเวชวัยรุ่น โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาครับ