• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกสันหลังเคลื่อน

กระดูกสันหลังเคลื่อน

หลังอายุ 30 ปี ดิฉันมีอาการเดินไม่ค่อยสะดวก ดิฉันสงสัยว่าอาจเป็นเพราะเคยตกบันไดสูง หรือไม่ก็คงเป็นมาแต่กำเนิด อยากทราบว่าคนที่มีปัญหากระดูกสันหลังสามารถบริจาคเลือดได้ไหม

ผู้ถาม วิภาภรณ์/สมุทรปราการ
ผู้ตอบ นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์

ถาม
ดิฉันขอถามปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังค่ะ คือ กระดูกข้อที่ 5 ข้างขวา ข้อเคลื่อนออก แต่เคยเอกซเรย์แล้ว ไม่มีรอยหัก

ดิฉันสันนิษฐานว่าตอนวัยเด็กเคยตกบันไดสูง หรือไม่ก็คงเป็นมาแต่กำเนิด ตอนวัยรุ่นดิฉันก็มีความรู้สึกว่า หลังแอ่นเข้ามามากกว่าเพื่อนและสะโพกผายมาก ส่วนท่อนบนไม่ค่อยเจริญมากเท่าช่วงล่าง และมีความรู้สึกขี้หนาวมากกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน

หลังอายุ 30 ปีจึงมีอาการ เช่น เวลาตื่นนอนตอนเช้า จะเดินไม่ค่อยสะดวกต้องจับราวบันไดค่อยๆ ลงทีละขั้น จึงจะเดินได้ปกติ เวลานั่งนานๆ แล้วลุกขึ้น ส้นเท้าก็ตึง วิ่งไม่ได้เลย

เวลานั่งขัดสมาธิ หัวเข่าข้างซ้ายไม่สามารถแนบพื้นเหมือนเข่าข้างขวา คือ หัวเข่าซ้ายจะกระดกขึ้น และการนั่งขัดสมาธิก็ไม่สามารถนั่งได้นานเหมือนคนปกติ ยิ่งนั่งพับเพียบก็ยิ่งมาทาน

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 จนบัดนี้ดิฉันพยายามออกกำลังกายโดยวิธีว่ายน้ำ รำมวยจีน ออกกำลังกายโดยวิธีใช้ลมปราณ (แต่ไม่วิ่งค่ะ เพราะมันกระแทกไปถึงสันหลัง) ต่อมาอาการดีขึ้น คล่องตัวขึ้น แต่พอมาปีนี้ ขณะที่ดิฉันทาสีบ้าน เกิดพลัดตกลงกองทราย กระดูกสันหลังข้างซ้ายข้อที่ 12 หัก คงไม่ถึงไขสันหลัง คุณหมอให้ยาไป 1 สัปดาห์และไม่ได้ให้อีกเลย แต่ให้ใส่เสื้อเกราะ 3-4 เดือน จึงจะถอดออกได้

เพื่อนที่เป็นพยาบาลแนะนำให้ดิฉันกินแคลเซียม ดี รีดอกซอน (Calcium D-Redoxon) โดยสัปดาห์แรกกินทุกๆ วัน สัปดาห์ต่อไปก็กินสัปดาห์ละ 2-3 เม็ดพอ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไป พยายามดื่มนมมากๆ ไขสันหลังเป็นที่สร้างเม็ดเลือด ไม่ทราบว่าดิฉันผู้ที่มีปัญหาสันหลังนี้ เมื่อหายเป็นปกติแล้ว ยังสามารถบริจาคเลือดได้ไหม

ตอบ
เม็ดเลือดสร้างที่ไขกระดูกทั่วร่างกาย คุณมีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังหัก ซึ่งไม่กระทบกระเทือนต่อการสร้างเม็ดเลือดทั่วร่างกาย จึงสามารถบริจาคเลือดได้เช่นคนปกติทั่วไป

ถาม
นอกจากมีปัญหาเรื่องเมื่อยหลัง ซึ่งเป็นธรรมดา และทำงานหนักยกของหนักไม่ได้ การก้มตัวลงบ่อยๆก็คงไม่ดี และเพื่อนบางคนก็มีปัญหาเรื่องนี้ค่ะ พวกเขาคงแต่งงานมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ และไม่ควรมีลูกใช่ไหมคะ เพราะเบียดเบียนกายตน

ดิฉันซื้อตำราปวดหลัง ปวดเข่า ฯลฯ จากสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน ส่วน “ท่านอน” สำหรับพวกปวดหลังก็เคยศึกษา (คือมีหมอนข้างวางใต้เข่า) แต่ขอถามเพิ่มเติมสักนิดค่ะ ในกรณีของดิฉัน ควรนอนตะแคงซ้ายหรือขวาคะ ควรมีผ้าขนหนูพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมวางช่วงสะบักหรือใต้เอวที่แอ่นคะ และควรนอนพื้นกระดานแข็งๆ หรือเบาะนิ่มๆ หนาไม่ถึง 1 นิ้วคะ

ตอบ
โรคปวดหลังไม่ใช่ข้อห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ และสามารถมีลูกได้ การมีเพศสัมพันธ์นั้นสามารถใช้ท่าที่ไม่ทำให้ปวดหลังก็ได้

ในกรณีของคุณ จะนอนตะแคงซ้ายหรือขวาก็ได้ทั้ง 2 ข้างไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าพับรองที่สะบักหรือที่เอว ควรนอนให้หลังราบกับที่นอน ที่นอนควรเป็นเบาะที่แน่น ซึ่งเวลานอนแล้วตัวจะไม่จมจะดีที่สุด อาชีพทุกอาชีพก็อาจทำให้ปวดหลังได้ อยู่ที่การฝึกปฏิบัติตัว ใช้หลังให้ถูกต้องในระหว่างการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นขณะนั่ง ยืน หรือยกของ รวมทั้งกายบริหารที่ถูกต้อง ตลอดจนการรักษาให้มีสุขภาพแข็งแรง เป็นวิธีการป้องกันโรคปวดหลังที่ดี