• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัดเยอรมัน

หัดเยอรมัน

        

ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย
โรคที่ทำให้ผู้ใกล้ชิดหรือผู้สัมผัสโรคมีอาการ “ประสาทผวา” ได้มากที่สุด ก็เห็นจะได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า กับโรคหัดเยอรมัน
ในโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าผู้สัมผัสโรคได้รับเชื้อ เกิดป่วยมีอาการขึ้นมา ก็หมายถึงชีวิตกำลังจะสิ้นสุดลงอย่างน่าอนาถใจ โดยหาหมอเทวดาที่ไหนมาช่วยก็ไม่ได้

ส่วนโรคหัดเยอรมัน (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เหือด”) นั้น ถ้าเกิดกับเด็กหรือคนทั่ว ๆ ไป ก็ไม่มีอันตรายรุนแรงแต่อย่างใด ผู้ที่รับเชื้ออาจมีอาการของโรคชัดเจน หรือมีอาการอ่อน ๆ หรือไม่แสดงอาการอะไรเลยก็ได้ แล้วก็จะค่อย ๆ หายไปได้เองในเวลาไม่กี่วัน
แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ถ้าเผอิญหญิงที่กำลังตั้งท้องเกิดได้รับเชื้อหัดเยอรมันเข้า (ซึ่งต่อมาจะมีอาการเป็นไข้ร่วมกับมีผื่นขึ้น หรือไม่มีอาการอะไรปรากฏให้เห็นเลยก็ตาม) เชื้อจะผ่านรกเด็กไปยังเด็กในท้อง มีผลต่อการเพิ่มจำนวนชองเซลล์ที่จะเจริญเป็นอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะเหล่านี้ เป็นเหตุให้เด็กพิการแต่กำเนิดได้
ถ้าลูกรักจะต้องเกิดมาพิกลพิการ เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นโรคหัวใจ สติปัญญาทราม พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง จะต้องทนทุกข์ไปกับหนูน้อยเพียงใด

เราจะมีวิธีแก้ไขหรือป้องกันอย่างไร
ขอเล่าตัวอย่างเรื่องจริงให้ฟังสัก 2-3 ราย

รายแรก
เหตุเกิดเมื่อ 11 ปีก่อน ระยะนั้นโรคหัดเยอรมันยังไม่รู้จักกันแพร่หลายในบ้านเรา
คุณครูธิดา เป็นครูสอนในโรงเรียนสตรีแห่งหนึ่ง เธอเพิ่งแต่งงานได้ 6 เดือนต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.
2511 นักเรียนกำลังใกล้สอบไล่ คุณครูต้องดูแลเอาใจใส่เด็กใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เด็กในห้องเกิดมีไข้และมีผื่นเล็ก ๆ ขึ้นทั้งตัวคล้ายผด บางคนก็คลำพบต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นเป็นลูกหนูแถวหลังคอหรือท้ายทอย บางคนก็บ่นปวดข้อ หยุดเรียนไป แต่หลายคนไม่หยุดเพราะใกล้สอบเต็มที
พอถึงกลางเดือน คุณครูเองก็เกิดมีไข้ขึ้นตอนเย็น เช้าวันรุ่งขึ้นมีผื่นขึ้นทั้งตัว และแวดข้อเป็นอยู่ 4 วันผื่นก็จาง อาการต่างๆ ทุเลาลงจนเป็นปกติ แต่ประจำเดือนซึ่งครบรอบจะมาเกิดขาดหายไป หมอตรวจพบว่าเธอเริ่มตั้งท้องลูกคนแรกนั่นเอง
เพราะเป็นลูกคนแรก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และพี่ป้าน้าอาทั้งหลาย ต่างตื่นเต้นรอคอย แนะนำให้ฝากท้องกับสูติแพทย์ที่มีชื่อเสียง หมอตรวจเลือด และให้คำแนะนำอย่างดี

แต่เรื่องหนึ่งที่เธอลืมเล่าให้หมอฟังไปก็คือ เรื่องไข้มีผื่นที่เธอเป็นและเพิ่งจะหายไปหยกๆ เพราะคิดว่าไม่มีอะไรสำคัญ
แล้ววันที่รอคอยก็มาถึง แต่ความสุขแปรเป็นความเศร้า ลูกสาวของเธอตัวเล็กกว่าปกติต้องเข้าตู้อบ ตาเห็นเป็นจุดขาวซึ่งหมอบอกว่าเป็นต้อกระจก ตัวเขียวเป็นครั้งคราวเนื่องจากผนังกั้นห้องหัวใจไม่สมบูรณ์ และตามผิวหนังมีจ้ำเลือดออก ลูกต้องอยู่โรงพยาบาลเกือบ 2 เดือนจึงได้กลับบ้านอย่างไม่แข็งแรง คุณครูต้องพาลูกไปหาหมอที่โรงพยาบาลทุกเดือน แถมบางเดือนก็ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากตัวเขียว บางครั้งมีอาการชักเกร็ง จนกระทั่งลูกอายุได้ 3 ขวบก็ยังพูดไม่ได้และช่วยตัวเองไม่ได้
หมอบอกว่า เด็กเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด ไม่มีทางที่จะรักษาให้เป็นปกติ ได้แต่รักษาบรรเทาอาการเท่านั้น เช่น ผ่าตัดช่วยแก้ไขตาและหัวใจเมื่อเด็กโตพอทนการผ่าตัดได้
คุณครูธิดาร้องไห้สงสารลูกเสียหลายพัก บาปเคราะห์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ของเธอ ลูกไม่ควรจะต้องเกิดมาทนทุกข์ทรมานอย่างนี้
ถ้าบอกหมอที่ฝากท้องเสียแต่แรก หมอก็คงจะช่วยเธอได้โดยเอาทารกออกเสียก่อนที่ชีวิตน้อยๆ จะ ต้องเผชิญกับความทรมานเมื่ออกมาสู่โลกภายนอก

รายที่ 2 ก็คือ ลูกอ๊อดที่ตามองไม่เห็น
ลูกอ๊อดเป็นลูกคนที่ 4 เกิดเมื่อเดือนธันวาคม 2522 นี่เอง เมื่อแม่เริ่มตั้งท้องลูกอ๊อดใหม่ๆ แม่มีอาการเป็นไข้และมีผื่นขึ้น ซึ่งติดต่อมาจากลูกๆ
แม่ลูกอ๊อดมาฝากท้อง เมื่อตั้งท้องเดือนที่ 5 เพราะวางใจว่าเป็นท้องหลังๆ อย่างไรก็ดี แม้ได้เล่าเรื่องไข้ผื่นขึ้นให้หมอที่ฝากท้องฟัง หมอไม่แน่ใจว่าแม่จะเป็นหัดเยอรมันจริงหรือเปล่า จึงส่งมาเจาะเลือด ตรวจดูแอนติบอดี้ (ภูมิคุ้มกัน) ต่อโรคหัดเยอรมัน ผลการตรวจเลือดบ่งว่า เธอเคยเป็นหัดเยอรมันมาแล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นเมื่อไร เมื่อมานับวันสุดท้ายที่ขาดประจำเดือน ปรากฏว่าแม่เป็นไข้และมีผื่นขึ้นก่อนวันที่ไข่ถูกผสม 4 วัน
หมอถามแม่ว่า จะเอาเด็กออกหรือไม่
แต่ลูกอ๊อดก็โตจนดิ้นให้แม่รู้หลายครั้ง หมอเองก็ยืนยันไม่ได้ว่า แม่เป็นโรคหัดเยอรมันเมื่อ 5 เดือนก่อนจริงหรือไม่ เนื่องจากแม่มาเจาะเลือดตรวจช้า แม่จึงตั้งใจเสี่ยงท้องต่อไป
ลูกอ๊อดโชคร้าย แต่ยังไม่มากนัก เพราเมื่อคลอดลูกอ๊อดมีน้ำหนัก 2500 กรัม ตาเป็นจุดขาวมองไม่เห็นทั้งสองข้าง แต่ก็ไม่มีอาการอื่นๆ

จักษุแพทย์กำลังรอเวลาให้ลูกอ๊อดโตพอที่จะทนต่อการดมยาผ่าตัด เพื่อจะเอาเลนส์ (แก้วตา) ที่เป็นต้ออก ในอนาคตลูกอ๊อดจะต้องใส่แว่นตาไปตลอดชีวิต
เวลานี้ทุกคนกำลังเอาใจช่วยขอให้ลูกอ๊อดแข็งแรงเป็นปกติ อย่ามีอาการผิดปกติอื่นๆ มาแทรกซ้อน
ลูกหนูหูตึง คือคนไข้รายที่ 3 ลูกหนูเป็นลูกชายที่พ่อแม่คอยมาถึง 7 ปี แม่จึงตั้งท้อง เมื่อแม่ตั้งท้องได้เกือบ 4 เดือน ก็มีอาการไข้และมีผื่นขึ้นโดยไม่ทราบว่าติดจากใคร แม่ตกใจรีบมาหาหมอทันที หมอเจาะเลือดไว้และนัดให้มาเจาะเลือดครั้งที่ 2 ในสัปดาห์ต่อมา จากนั้นจึงนัดให้มาฟังผลการตรวจเลือดทั้ง 2 ครั้ง

ผลการตรวจยืนยันว่า แม่เป็นหัดเยอรมันแน่ แต่แม่ท้องเกือบ 4 เดือน อันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อกับลูกมีไม่มากนัก ในต่างประเทศรายงานว่า พบน้อยกว่าร้อยละ 10
พ่อกับแม่รอลูกหนูมาถึง 7 ปี จะให้เอาออก แม่คงทนไม่ได้ จึงตัดสินใจเสี่ยงมีต่อไป
เมื่อแรกเกิดลูกหนูดูสมบูรณ์ปกติทุกอย่าง แม่มาเอะใจที่ลูกชายพูดช้าเหลือเกิน จน 2 ขวบแล้วก็ยังพูดไม่ได้ ฟังคำสั่งไม่เข้าใจ ต้องออกท่าทางทำมือ ลูกจึงรู้เรื่อง แม่จึงต้องพาลูกไปหาหมอหู (โสตแพทย์) เวลานี้ลูกหนูใส่หูฟังช่วยให้ได้ยินและพูดได้หลายคำแล้ว

ตัวอย่างคนไข้โรคหัดเยอรมันทั้งสามรายนี้
พ่อแม่เป็นผู้มีฐานะค่อนข้างดีและมีการศึกษา เราจึงสามารถติดตามทารกที่คลอดออกมาได้ ผู้เขียนเชื่อว่าทารกที่พิการ เนื่องจากเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดจะต้องมีมากกว่านี้แน่นอน แม่จำนวนไม่น้อยที่ติดเชื้อหัดเยอรมันแล้วไม่ได้มาตรวจ หลาบรายมาตรวจ แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากมีปัญหาขาดความรู้ความเข้าใจและปัญหาทางการเงิน
แม่ที่น่าสงสารเหล่านี้ คงจะต้องทนทุกข์กับลูกน้อยของเธอมากบ้างน้อยบ้าง หลายรายที่โชคดี การติดเชื้อต่อทารกรุนแรงจนเกิดการแท้งไปเอง ทารกบางรายก็ตายตอนคลอด แต่บางรายโรคไม่รุนแรงจนทำให้เด็กเสียชีวิตทันทีทันใด เด็กจึงเกิดมาพร้อมกับความพิกลพิการ มีชีวิตเป็นภาระของครอบครัวและสังคมอยู่นาน
 

เราควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโรคหัดเยอรมัน
ผู้เขียนขออธิบายโดยขอยกคำถามของคุณครูธิดา และคำตอบที่หมอพอจะบอกได้ เวลานี้มาแสดงก็แล้วกันนะคะ

⇒ หมอคะ ดิฉันเคยมีไข้และมีผื่นขึ้นตอนเด็ก ๆ คุณแม่บอกว่า เคยออกหัด ตอนท้องดิฉันจะเป็นโรคหัดเยอรมันอีกได้ไหมคะ
เป็นได้ค่ะ เพราะโรคหัดกับโรคหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อโรค ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสคนละตัวกัน โดย
ทั่วไป พวกเราจะรู้จักโรคหัดได้ดี เพราะมีอาการค่อนข้างชัดเจน โรคหัดมีอาการไข้ ไอ ตาแดง ตาแฉะนำมาก่อนสัก 3 วัน แล้วจึงจะมีผื่นขึ้นให้เห็น ผื่นของหัดจะต่างจากโรคอื่น คือเมื่อเริ่มขึ้นจะเป็นเม็ดเล็กสีแดง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น ทำให้ดูตัวลายกระดำกระด่าง ราว 2 อาทิตย์จึงจะลอกเป็นขี้ไคลหมด เห็นผิวหนังกลับเป็นปกติ

แล้วอาการของโรคหัดเยอรมันล่ะคะ
โรคหัดเยอรมันมักมีอาการไม่ใคร่ชัดเจน ส่วนมากจะพบมีไข้นำมาก่อนราว 1 วันแล้วจึงมีผื่น
เล็ก ๆ คล้ายผดขึ้น ผื่นขึ้นสัก 2-3 วันก็จางหายไปหมด บางคนจะพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณท้ายทอย โตคลำพบได้ แต่ก็มีหลายรายที่มีอาการไม่ชัดเจน หรือไม่มีอาการ

โรคหัดเยอรมันติดต่อทางไหนคะ

ติดต่อทางการหายใจ เชื้อจะออกมาในน้ำมูก น้ำลาย เป็นละอองฝอยในอากาศ ถ้าเราไม่มีภูมิคุ้ม
กัน หายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไปก็จะติดเชื้อ เกิดโรคได้

 ลูกคนแรกของดิฉันพิการค่ะ หมอบอกว่าเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด ดิฉันเองก็จำได้ว่าตอนเริ่มตั้งท้องดิฉันเป็นไข้ ออกผื่นแต่ก็ไม่ได้สนใจ ดิฉันยังไม่กล้ามีลูกอีกค่ะ กลัวจะเป็นเหมือนคนแรก

ถ้าลูกคนแรกเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด ก็แสดงว่าคุณเคยติดเชื้อหัดเยอรมันมาแล้ว จะมีภูมิ
คุ้มกัน ทำให้ไม่ติดเชื้ออีก ถ้าจะให้แน่ใจก็ลองเจาะเลือดตรวจดูซิคะ ถ้าตรวจพบภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ก็แสดงว่า คุณจะไม่เป็นอีก ลูกคนต่อมาของคุณก็จะปลอดภัยจากการเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดแน่นอน

⇒ หมอคะ ถ้าตอนที่ฝากท้อง ดิฉันเล่าให้หมอฟัง หมอจะช่วยรักษาหรือป้องกันให้ลูกได้ไหมคะ

ถ้าตอนฝากท้องคุณเล่าให้หมอฟัง หมอก็คงเจาะเลือดตรวจยืนยันว่า คุณเป็นโรคหัดเยอรมันจริง
และถ้าเป็นตั้งแต่ท้องระยะ 3 เดือนแรก ทารกในท้องจะมีโอกาสพิการได้ตั้งแต่ร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 50 หมอจึงมักแนะนำให้เอาเด็กออกโดยการทำแท้งให้ แต่ถ้าเป็นหัดเยอรมันเมื่อตั้งท้องเกิน 3 เดือนไปแล้ว อันตรายต่อทารกในท้องจะน้อยลงมาก การจะเอาเด็กออกหรือไม่ จึงอยู่ในดุลยพินิจของหมอและแม่กับพ่อโดยมากถ้าเกิน 6 เดือนไปแล้วหมอมักจะไม่เอาเด็กออกให้ เพราเด็กโต โอกาสจะเกิดความพิการมีน้อย

ถ้าแม่เป็นโรคหัดเยอรมัน ลูกจะต้องพิการทุกคนไหมคะ
ไม่ทุกคนค่ะ ถ้าแม่เป็นหัดเยอรมันตอนท้อง 3 เดือนแรก จะพบทารกพิการได้สูงถึงร้อยละ 50
แต่หลังจากนั้นจะพบน้อยลง ในแม่ที่เป็นโรคหัดเยอรมัน จะพบว่ามีการแท้ง หรือเด็กตายตั้งแต่อยู่ในท้องจำนวนไม่น้อย

เด็กที่เป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด จะแพร่เชื้อให้กับคนใกล้ชิดหรือไม่
เด็กพวกนี้จะปล่อยเชื้อออกมากับน้ำมูก น้ำลาย หรือปัสสาวะได้เป็นเวลานาน ดังนั้นจึงต้องระวังไม่ให้หญิงที่ตั้งท้องใกล้ชิดเด็กพวกนี้ เพราอาติดเชื้อได้

น้องสาวดิฉันกำลังจะแต่งงานเดือนหน้านี้ค่ะ อยากขอคำแนะนำจากหมอเกี่ยวกับการป้องกันโรคหัดเยอรมัน
คิดว่าควรจะตรวจเลือดเสียก่อนค่ะ ดูว่ามีแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วก็สบาย
ใจได้ว่าจะไม่เป็นอีก แต่ถ้ายังไม่มีก็ควรฉีดวัคซีนป้องกัน ถ้าจะฉีดวัคซีนกันโรคหัดเยอรมัน ก็จะต้องคุมกำเนิดไว้อย่างน้อย 2 เดือน

⇒ ค่าตรวจเลือดแพงไหมคะ
• การตรวจเลือดทำได้ในโรงพยาบาลบางแห่ง ส่วนใหญ่เก็บประมาณ 100 บาท

 ⇒ แล้วถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน ต้องฉีดวัคซีน จะมาฉีดที่โรงพยาบาลได้ไหมคะ ราคาวัคซีนเท่าใดคะ
• ฉีดที่ไหนก็ได้ค่ะ แต่วัคซีนป้องกันหัดเยอรมันที่มีใช้ในบ้านเรา เป็นวัคซีนรวมกับวัคซีนหัดและ
คางทูมหรือรวมกับคางทูมอย่างเดียว ราคาประมาณ 160 บาท

⇒ โอ้โฮ แพงนะคะ

แพงมากค่ะ ทั้งค่าตรวจเลือดและวัคซีน ถ้าเป็นไปได้ เราเป็นหัดเยอรมันเสียตั้งแต่เด็กหรือก่อน
แต่งงานก็จะดี มีคนแนะนะว่า ถ้าลูกใครเป็นหัดเยอรมัน ควรจะให้ลูกขวนเพื่อนๆ มากิน มาเล่น มานอน ให้ติดเชื้อไปเสียเลย จะได้ไม่ต้องเป็นคอนเป็นสาว ฝรั่งเรียกว่า “ปาร์ตี้หัดเยอรมัน” หรือ “งานหัดปาร์ตี้สังสรรค์” (Rubella party)

⇒ ลูกสาว เพื่อนดิฉันอายุสักขวบครึ่ง เห็นหมอบอกว่าฉีดเอ็ม เอ็ม อาร์ (MMR) ให้ไม่ทราบวัคซีนอะไร
เอ็ม เอ็ม อาร์ เป็นวัคซีนรวมสำหรับป้องกันหัด หัดเยอรมัน และคางทูม อันนี้ละที่ว่าราคา 160
บาท

⇒  แล้วจะป้องกันหัดเยอรมันตอนโตได้ไหมคะ
ได้ค่ะ แต่ก็คงจะไม่ถึงร้อยละร้อย เพราะบางคนอาจจะมีภูมิคุ้มกันลดต่ำลงมาเมื่อโตขึ้น

 ⇒ดิฉันคิดว่า อยากจะเจาะเลือดตรวจวันนี้ และถ้าหมอรับรองได้ว่า ดิฉันจะไม่เป็นหัดเยอรมันอีกดิฉันอยากมีลูกที่แข็งแรงอีกสักคนค่ะ
เจาะที่นี่ก็ได้ค่ะ แล้วหมอจะจัดการส่งไปตรวจ อีกสัก 2 อาทิตย์ก็มาฟังผล

ก่อนจะจบ ขอสรุปเรื่องน่ารู้ของโรคหัดเยอรมันสักนิดนะคะ
โรคหัดเยอรมัน จะก่อให้เกิดความพิการแก่ทารกในท้องได้ ยังมารดาเป็นโรคหรือมีการติดเชื้อในระยะที่ตั้งท้อง โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก
การวินิจฉัยโรคหัดเยอรมันที่แน่นอน จะต้องอาศัยการตรวจเลือด ถ้าเป็นไข้ออกผื่น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดเสียตั้งแต่แรก และเจาะเลือดครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกสัก 7 วัน เพื่อเปรียบเทียบดูระดับแอนติบอดี้ ถ้าเจาะเลือดช้าเกินไป จะวินิจฉัยไม่ได้แน่นอน

ในระยะตั้งท้อง ควรระวัง อย่าเข้าใกล้ชิดกับผู้ที่มีไข้หรือผื่น ซึ่งก็คงจะทำได้ยาก เพราะในระยะที่มีโรคระบาด ซึ่งจะพบในช่วงเดือนมกราคม ถึงเมษายน เกือบทุกปี จะมีผู้ติดเชื้อแพร่โรคจำนวนไม่น้อยทั้งที่มีอาการและไม่แสดงอาการ

ถ้าเผอิญสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีไข้มีผื่น ควรจะรีบมาเจาะเลือดดู โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าพบว่าในเลือดมีแอนติบอดี้อยู่แล้ว ก็แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อมาก่อน จะไม่เป็นโรคนี้อีก แต่ถ้ายังไมมีแอนติบอดี้ จะต้องมาเจาะเลือดอีกครั้งหนึ่ง หลังสัมผัสโรคนาน 1 เดือน ถ้าไม่พบแอนติบอดี้ในเลือดทั้ง 2 ครั้งก็แสดงว่าไม่เป็นโรค แต่ถ้าเจาะเลือดครั้งแรกไม่มีแอนติบอดี้ แต่ตรวจพบได้ในเลือดครั้งที่ 2 ก็แสดงว่าติดเชื้อหัดเยอรมัน อย่างไรก็ดีในผู้ที่ตรวจเลือดครั้งแรก มีแอนติบอดี้แล้ว ควรตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งในเวลา 7-14 วันต่อมา ถ้าระดับแอนติบอดี้คงเดิมก็ไว้ใจได้ว่าจะไม่เป็นอีก

ถ้าคุณสงสัยว่ามีท้อง หรือท้องไม่เกิน 3 เดือน เมื่อมีไข้ มีผื่น หรือสัมผัสกับลูก หรือเพื่อนหรือคนที่มีอาการไข้ มีอาการผื่น โปรดรับการเจาะเลือดตรวจโดยเร็วที่สุด เพราะสูติแพทย์มักจะไม่รักษาโดยการทำแท้งให้ นอกจากจะมีข้อยืนยันที่แน่ชัด
การจะบอกให้แน่ชัด จะต้องเจาะเลือดตรวจให้ถูกเวลาเท่านั้น


 

                ห้องปฏิบัติการที่จะตรวจเลือด วินิจฉัยโรคหัดเยอรมันได้

1. สถาบันวิจัยไวรัส กรมวิทยาศษสตร์การแพทย์ ยศเส
2. ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
3. ภาควิขาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี
4. ภาควิชาชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
5. ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่
6. ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ค่าตรวจเลือดประมาณ 100 บาท
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเสียค่าตรวจได้ หากมีความจำเป็น ทางห้องปฏิบัติการก็ยินดีที่จะทำการตรวจให้