• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประสาทสมองไม่ทำงาน

มีอาการปากเบี้ยวโดยไม่ทราบสาเหตุ บ้วนน้ำลายไม่ตรง ตาด้านขวาหลับไม่ลง เวลายิงฟันปากจะฉีกไปทางด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา กล้ามเนื้อใบหน้าจะเป็นอัมพาตหรือไม่

ถาม

ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 30 ผมมีอาการปากเบี้ยว โดยไม่ทราบสาเหตุ (อาจมีสาเหตุแต่ผมไม่ทราบ) มักเบี้ยวไปทางซ้าย นอกจากอาการปากเบี้ยวแล้ว อาการที่เกิดร่วมมีบ้วนน้ำลายไม่ตรง ตาด้านขวาหลับไม่ลง ถ้าจะหลับ ต้องหลับทั้งสองข้าง แต่ตาด้านขวาเน้นให้หลับสนิทไม่ได้ ผิวปากไม่ดังเหมือนเดิม อมน้ำไม่ค่อยอยู่ อมลมไม่ค่อยได้ เวลายิงฟัน ปากจะฉีกไปทางด้านซ้ายมากกว่าด้านขวาจนเห็นได้ชัด

ผมไปหาหมอคลินิก เพราะอาการเด่นชัดมันเป็นตอนเย็น เลยไม่ได้ไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าจะเป็นอัมพาตซีกหน้าด้านขวา หลังจากตรวจดูอาการ หมอให้ยามากิน

วันรุ่งขึ้น ผมเดินทางไปตรวจที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ผมเล่าอาการให้หมอฟังว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือน มีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู เหมือนจักจั่นร้อง อาการนี้จะปรากฏเด่นชัดตอนดึกๆ เมื่อตื่นนอน หมอตรวจดูและซักประวัติ ตรวจหูโดยละเอียด และตรวจการได้ยินด้วย

หลังตรวจ หมอบอกว่าหูอักเสบ การรับการได้ยินเสียงสูงไม่ดีเท่าที่ควร อาการปากเบี้ยวอาจจะเป็นเพราะเชื้อไวรัสไปทำลายปลายประสาทก็ได้ แล้วก็สั่งยาให้ 3 ชนิด กับนัดตรวจในสัปดาห์ต่อไป
หลังกินยาแล้ว อาการดีขึ้นมาก เกือบเป็นปกติแล้ว (ผมรักษาโดยการฝังเข็มควบคู่ไปด้วย โดยฝัง 3 ครั้งที่ใบหน้าด้านขวา ครั้งละ 4 เข็ม)
สมาชิก/มุกดาหาร

ตอบ
อาการดังที่คุณเขียนเล่ามาเป็นโรคที่ประสาทสมองคู่ที่ 7 ไม่ทำงาน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าซีกดังกล่าวไม่ทำงานครึ่งซีก สาเหตุอาจเกิดจากโรคต่างๆ เช่น
1. เชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบของประสาท
2. การอักเสบของหูชั้นกลาง
3. อุบัติเหตุศีรษะ ทำให้เส้นประสาทขาด
4. เนื้องอกของสมอง
5. เส้นเลือดมาเลี้ยงประสาทอุดตันจากโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ในกรณีของคุณ ผมเชื่อว่าเกิดจากการอักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งในกรณีนี้การป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำนั้น ไม่มีวิธีใดที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าวนี้เป็นโรคไม่รุนแรง ผู้ป่วยร้อยละ 85 จะหายดีเหมือนปกติ แต่ต้องได้รับการรักษาภายใน 7 วันแรก ผลการรักษาจึงจะได้ผลดี ถ้าทิ้งนานเกิน 10 วัน ผู้ป่วยบางส่วนจะมีปากเบี้ยวถาวรตลอดไป การทำกายภาพบำบัดโดยนวดกล้ามเนื้อใบหน้า จะช่วยให้อาการอัมพาตดีขึ้นได้

สำหรับกรณีผู้ป่วยอื่นๆที่มีสาเหตุแน่นอน เช่น เนื้องอก, อุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือโรคเบาหวาน ก็จำเป็นต้องแก้ไข รักษาในแต่ละสาเหตุ

ปัจจุบัน แพทย์สามารถทำการผ่าตัดต่อมประสาทสมองได้ผลดี สามารถแก้ไขอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าได้ในกรณีที่พบว่าประสาทดังกล่าวขาด หรือสูญเสียหน้าที่อย่างถาวร
นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์