• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลนส์เทียม

ผ่าตัดต้อกระจกที่ตาข้างซ้าย เมื่อปี 2526 หมอให้ใส่คอนแทคเลนส์ แต่ยุ่งยากมากเลยหยุดใส่มา 3 ปี การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์เทียมมีการกำหนดอายุหรือไม่ มีผลแทรกซ้อนหรือเปล่า

ถาม
เมื่อผมอายุ 50 ปี เดือนสิงหาคม 2526 ผมได้ไปผ่าตัดต้อกระจกที่ตาข้างซ้ายที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อตาหายแล้ว หมอได้นัดให้ไปวัดสายตา และหมอให้ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดที่เวลานอน ต้องถอดออกและทำความสะอาดทุกวัน

ผมได้ถามหมอว่าใส่ชนิดที่ใส่ได้เป็นเดือนๆได้ไหม หมอบอกว่าบ้านเราไม่เหมาะ เพราะบ้านเรามีฝุ่นเยอะ ผมก็เชื่อตามที่หมอบอก ผมจึงเลือกเอา ซอฟต์เลนส์ ผมใส่ตามที่หมอสั่งใส่อยู่สิบกว่าวัน รู้สึกว่ายุ่งยากมาก ผมเลยไม่อยากใส่ และปล่อยไว้อย่างนั้นมา 3 ปีกว่าแล้ว เพราะตาข้างขวาของผมยังมองเห็น

ผมมีปัญหาและข้อสงสัยว่า ถ้าผมปล่อยไว้โดยไม่ใส่คอนแทคเลนส์และแว่นตา ต่อไปมันจะมีผลเสียแก่ดวงตาไหมครับ ถ้ามีจะมีในด้านไหนครับ

เมื่อคืนวันที่ 22 มิถุนายน 2530 ผมได้ดูโทรทัศน์ช่อง 7 ในรายการหมอชาวบ้าน หมอพูดว่าเดี๋ยวนี้การผ่าตัดต้อกระจก การแพทย์สมัยนี้มีความสามารถในการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์เทียมเข้าแทนแล้ว โดยที่คนไข้ไม่ต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อีกเลย แต่ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดค่อนข้างสูง

ตามที่ได้ฟังหมอพูดอย่างนั้นผมเกิดความรู้สึกว่าถ้าผมได้รับการผ่าตัดวิธีนี้คงจะดี ผมรู้สึกเสียดายมาก แต่ทำไมวันที่ผมไปรับการผ่าตัดผมไม่ได้ยินหมอพูดถึงวิธีนี้ และถามผมว่าจะรับการผ่าตัดวิธีไหน หรือว่าขณะนั้นการผ่าตัดวิธีนี้ยังทำไม่ได้

การผ่าวิธีนี้เมืองไทยเราทำได้ตั้งแต่เมื่อไร การผ่าตัดมีการกำหนดอายุหรือเปล่า ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แล้วต่อไปจะมีผลแทรกซ้อนหรือเปล่า ถ้ามีผลแทรกซ้อนแก้ไขให้มองเห็นอีกได้ไหม อย่างของผมผ่านการผ่าตัดมาแล้ว ถ้าจะไปรับการผ่าตัดวิธีเปลี่ยนเลนส์เทียมซ้ำอีกจะได้ไหม
ประสิทธิ์/ภูเก็ต

ตอบ
หลังผ่าตัดต้อกระจกข้างใดข้างหนึ่งไปแล้ว แพทย์จะวัดแว่นตาชนิดใส่หลังผ่าตัดต้อกระจกให้ คือแว่นหนาเหมือนก้นขวด ทำให้การมองเห็นข้างนั้นชัดเจนดี แต่ข้อเสียคือภาพที่เห็นจะโตกว่าตาข้างที่ยังไม่ได้ผ่าตัดประมาณ 25% เมื่อมองสองตาพร้อมกันจะเกิดภาวะภาพหลอกและเหลื่อมซ้อนกันพิกล ผู้ป่วยจะบ่นซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกครั้งที่กลับมาพบหมอผู้ผ่าตัด แพทย์จึงมักแนะนำให้ใช้เลนส์สัมผัส (Contact Lens) ดังที่คุณเล่าไป การจะทำให้ตาทั้งสองมองเห็นใกล้เคียงกันจากตาทั้ง 2 ควรจะใส่เลนส์สัมผัสดังกล่าว ภาพซ้อนหรือเหลื่อมกันจะลดลงมาก ไม่เกิน 7 %

ถ้าปล่อยไว้ไม่ใส่แว่นหรือเลนส์สัมผัส จะทำให้ตาข้างนั้นเห็นภาพไม่ชัด นานๆไปทำให้เกิดภาวะตาเขชนิดเขออกนอกได้ เนื่องจากตาคนเราในผู้ใหญ่พร้อมจะเบี่ยงเบนออกอยู่แล้ว

ประการสุดท้ายที่จะแก้ภาวะภาพเหลื่อมกันให้หมดไป ต้องผ่าตัดแล้วฝังเลนส์เทียมเข้าไปแทนที่ต้อกระจกนั้นเลย การผ่าตัดชนิดนี้ ต้องเสียค่าผ่าตัดสูงกว่าธรรมดา รวมทั้งค่าเลนส์เทียมอีกต่างหาก แพทย์ไม่ได้แนะนำคุณอาจจะเห็นว่าคุณคงไม่พร้อมหรือหน่วยก้านมาดคุณไม่เหมาะที่จะชวนให้ทำการผ่าตัดชนิดนี้ก็ได้?

การผ่าตัดแล้วฝังเลนส์เทียม (Intra Ocular Lens implant) ทำกันมาหลายปีแล้วครับ ที่ฮิตดูเหมือนจะ 3-4 ปีมานี้แหละ แพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมมามักจะทำได้และที่โรงพยาบาลไหนๆก็ทำได้ถ้ามีจักษุแพทย์ บังเอิญเรื่องราวของคุณดำเนินเมื่อสิงหาคม 2526 คือ 4 ปีมาแล้ว เป็นช่วงระยะเวลาที่เมืองไทย “กำลังจะเริ่มฮิต” การผ่าตัดต้อกระจกแล้วฝังเลนส์เทียม เป็นรอยต่อของยุคธรรมดากับยุคสมัยใหม่พอดี แพทย์จึงยังไม่พูดเรื่องนี้กับคุณ หรือยังไม่มั่นใจต่อการผ่าตัดชนิดนี้ก็ได้

การผ่าตัดต้อกระจกแบบฝังเลนส์เทียม ส่วนมากจะทำในคนแก่อายุค่อนข้างมาก คือ 70 ปีหรือ 80 ปีขึ้นไป และมีต้อกระจกสุกเพียงข้างเดียว อีกข้างยังเห็นค่อนข้างดี ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อใส่เลนส์เทียมเข้าไปแล้วการเห็นภาพวัตถุโดยตาทั้ง 2 หลังผ่าตัดจะสมดุลกันดี ไม่เหลื่อมหรือหลอกกันเหมือนใส่แว่น ครั้นมาปัจจุบันทุกวันนี้แทบจะไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์อะไรอีกแล้ว ใครอยากผ่าตัดฝังเลนส์เทียม จักษุแพทย์ที่ผ่าตัดชนิดนี้เป็นก็จะชักชวนให้คนไข้ฝังเลนส์ลูกเดียว โก้เก๋ดี และทันสมัย คุยเขื่องได้ เพราะการผ่าตัดโดยวิธีนี้ยังไม่พบมีโรคแทรกซ้อนอะไรที่น่ากลัว ถ้ามีก็แก้ไขได้

ในกรณีของคุณ ถ้าอยากจะใส่เลนส์เทียมก็ทำได้ แม้ว่าจะเคยผ่าตัดเอาต้อกระจกออกไปแล้ว (secondary implant)
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์