• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยานอนหลับ


ทุกอย่างย่อมมีทั้งด้านดีและด้านเสีย การทำความเข้าใจทั้งสองด้านย่อมทำให้สามารถแก้ไขและป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที ยาก็เช่นเดียวกัน หากเรารู้แต่ด้านดี โดยไม่รู้ด้านเสีย (ด้านอันตราย) ย่อมเกิดโทษมากกว่าคุณ

หากท่านผู้อ่านต้องการถามปัญหาเรื่องยาผ่านคอลัมน์นี้ โปรดวงเล็บมุมซอง “108 ปัญหายา” ทางนิตยาสารจะทยอยนำคำตอบข้อสงสัยของท่านลางตีพิมพ์ในหน้านี้

ยานอนหลับ
ด้วยผมได้ซื้อยานอนหลับชื่อไนตรามิน (Nitramin) จากร้านขายยามา 50 เม็ด เพื่อเก็บไว้ใช้รับประทานเวลานอนไม่หลับ ซึ่งมักนอนไม่หลับบ่อยๆ โดยใช้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด ถ้าไม่ได้ผลก็ท่านเพิ่มขึ้น เป็น 3 หรือ 4 เม็ด

ผมใคร่จะขอเรียนถามว่ายานี้ถ้ารับประทานบ่อยจะมีโทษมากน้อยอย่างไร จะรับประทานบ่อยครั้ง ครั้งละหลายๆ เม็ดเพื่อนอนหลับได้นาน ๆ จะไดหรือไม่ และจะเป็นอันตรายแก่สมองหรือระบบขับถ่ายหรือไม่ อย่างมากควรรับประทานครั้งละกี่เม็ด เพราะทางร้านขายยาเขาบอกว่าให้รับประทานได้ ตามต้องการ แต่อย่ามากเม็ดเกินไปจะมียี่ห้ออื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ คือรับประทานแล้วหลับเร็วและสนิท ตื่นขึ้นไม่รู้สึกมืนหรืออยากนอนต่อ ไม่ต้องฝืนตื่น คือตื่นแล้วแจ่มใส ขอได้โปรดแนะนำด้วยจะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
ทำรงรัตน์/สงขลา

ตอบ

ไนตรามิน เป็นชื่อการค้าของ ไนตราซีแพม ขนาด 5 มิลลิกรัม บริษัทย่งเชียง เป็นผู้ผลิตจำหน่าย ใช้เป็นยานอนหลับ ขนาดปกติ 1 เม็ด

ผู้ตอบขอแปลคำเตือนสากลเป็นคำตอบดังนี้
คำเตือน
ยานี้อาจทำให้เกิดความบกพร่องในการตัดสินใจหรือทำให้การตัดสินใจช้าลง (เป็นอันตรายขณะทำงานอยู่กับเครื่องจักรกล กระแสไฟฟ้า การขับรถ ฯลฯ) แอลกอฮอล์และยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางจะเสริมฤทธิ์ยานี้ (อาจทำให้ถึงตายเพราะระบบการหายใจถูกกด) การจ่ายยาต้องประกอบด้วยคำเตือนดังกล่าวทุกครั้ง

ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ยานี้แก่คนเป็นต้อหินหรือกล้ามเนื้อเปลี้ย

ข้อควรระวังพิเศษ
อาจทำให้เกิดการติดยาได้ทั้งภาวะทางกายและจิต ความจำเสื่อม หากเป็นลมบ้าหมูอาจจับบ่อยขึ้น ให้ระวังมากขึ้นเมื่อใช้กับคนเป็นโรคเกี่ยวกับสมองโรคเกี่ยวกับหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ตับหรือไตเสื่อม หากเคยใช้ยาขนาดสูงๆ มาก่อนไม่ควรหยุดยาทันทีเพราะอาจเกิดอาการ “เสี้ยนยา” ได้หลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง แอลกอฮอล์ และยาแก้ซึมเศร้า คนไข้โรคปอดอุดตัน เรื้อรังหรือระบบหายใจไม่ปกติ สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ลดขนาดยาเมื่อให้คนชรา ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

พระราชบัญญัติ วัตถุออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2518 กำหนดไนตราซีนแพม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 4 ผู้ที่จะหยิบยานี้ขายได้ต้องเป็นเภสัชกร และเภสัชกรจะขายได้ต่อเมื่อมีใบสั่งยา เภสัชกรอาจขายยานี้ได้เองไม่เกิน 3 เม็ดต่อเดือนต่อคน หากไม่มีคลีนิคหรือโรงพยาบาลอยู่ใกล้เคียงในปริมณฑลไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตร ร้านที่จะขายยานี้ได้ต้องมีใบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ และมีแผ่นป้ายแสดง “สถานที่ขายวัตถุออกฤทธิ์” ติดให้เห็นอยู่ด้วย

การขายยาดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
เภสัชกรขายโดยไม่มีใบสั่งยา มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท

ผู้ที่ไม่เป็นเภสัชกรขายยานี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โปรดสังเกตว่าเป็นโทษทางอาญา

เภสัชกรพิสิฐ วงศ์วัฒนะ