• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๗ วางหลักเกณฑ์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (data protection) ที่เป็นข้อมูลประวัติสุขภาพไว้คือ ข้อมูลสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล การเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลไม่อาจทำได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล หรือมีกฎหมายกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลได้


ข้อมูลในเวชระเบียนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๗ ดังกล่าว ถือเป็นสิทธิผู้ป่วยที่ควรได้รับการเคารพ ข้อยกเว้นที่จะเปิดเผยข้อมูลได้คือ เจ้าของข้อมูลยินยอมให้เปิดเผยได้ หรือมีกฎหมายบัญญัติให้เปิดเผยได้ เช่น โรงพยาบาลรัฐจะเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยได้ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ สำหรับโรงพยาบาลเอกชนก็ควรปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน หรือหากมีโรคติดต่อระบาดขึ้น ก็สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยได้ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๒๓ อีกกรณีคือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ ย่อมสามารถทำได้เช่นกัน   


อย่างไรก็ดี ข้อความในตอนท้ายของมาตรา ๗ อาจทำให้มีการใช้และการตีความมาตรานี้ ผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย ที่ต้องการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลจากการใช้สิทธิโดยมิชอบหรือก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น แม้ว่าจะมีการอ้างสิทธิตามกฎหมายก็ตาม เนื่องจากมีบทลงโทษทางอาญาด้วย เช่น การเปิดเผยข้อมูลเวชระเบียนแก่บุคคลเพื่อขอคำปรึกษาทางคดีความ จะทำได้ต่อเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่ถ้าเปิดเผยต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะมีความผิดตามกฎหมายนี้ ในทางกลับกันการใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมาย หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือผู้ป่วย ก็ไม่ถือเป็นความผิดแต่อย่างใด ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ และ รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ นักกฎหมายมหาชน มีความเห็นสอดคล้องกันว่า มาตรา ๗ นี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๕ ตามหลักการใช้และการตีความกฎหมาย   


สิทธิอื่นๆ ของเจ้าของข้อมูลคือ สิทธิขอสำเนาข้อมูลหรือสรุปข้อมูลเวชระเบียนที่ใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย หรือเมื่อเจ้าของข้อมูลถึงแก่กรรม ทายาทหรือบุคคลในครอบครัวย่อมมีสิทธิในเวชระเบียน ในทางปฏิบัติผู้ป่วยสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาขอข้อมูลแทนก็ได้ โรงพยาบาลจึงควรพัฒนานโยบายหรือแนวปฏิบัติเรื่องข้อมูลประวัติสุขภาพของผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลก็ควรทำความเข้าใจและเคารพสิทธิผู้ป่วยในเรื่องนี้ 

"มาตรา ๗ ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้" 

  

ข้อมูลสื่อ

374-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 374
มิถุนายน 2553
ไพศาล ลิ้มสถิตย์