• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประดู่ : ตำนานความหอมและบิดาแห่งราชนาวี

ประดู่ : ตำนานความหอมและบิดาแห่งราชนาวี


"...วันไหนวันดี         บานคลี่พร้อมอยู่
วันไหนร่วงโรย        กลีบโปรยรวงพรู"



ที่ยกมาข้างบนนี้เป็นท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงมาร์ชราชนาวีไทย ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ ขณะยังใช้ชื่อว่าประเทศสยาม หากจำไม่ผิดเพลงนี้แต่งโดยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งถือว่าเป็นบิดาแห่งราชนาวีไทย เพลงนี้นำเอาลักษณะเด่นของดอกประดู่มาเป็นสัญลักษณ์ของทหารเรือ เพราะดอกประดู่นอกจากงดงามและหอมไกลแล้ว ยังแปลกกว่าดอกไม้อื่นๆ ตรงที่จะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น เปรียบเสมือนทหารเรือที่อยู่ในเรือรบกลางทะเล หากอยู่รอดก็รอดด้วยกัน หากเรือจมก็จะตาย พร้อมกันหมดนั่นเอง ความนิยม เคารพนับถือ และยกย่องเทิดทูน เป็นต้น ที่คนไทยมีต่อ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์นั้น มาจากพระประวัติของพระองค์ที่เป็นทั้งนักรบ ผู้ก่อตั้งและบัญชาการกองทัพเรือ เป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลง รวมทั้งในช่วงปลายชีวิตยังกลายเป็น "หมอพร" แพทย์แผนโบราณที่รักษาผู้ป่วยไข้คนยากจนธรรมดาสามัญชนโดยไม่ถือพระองค์จนตลอดพระชนมายุ ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังมีชื่อเสียงในด้านไสยศาสตร์ เนื่องจากทรงสนใจและเสาะแสวงหาอาจารย์ที่เก่งกาจและมีชื่อเสียง ทางไสยศาสตร์ในสมัยนั้น พระอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงคู่กับพระองค์ก็คือ หลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ทำให้พระเครื่องและเครื่องรางต่างๆ ที่ทำและปลุกเสกโดยหลวงพ่อศุข เป็นที่นิยมนับถือและเสาะแสวงหากันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบรรดาทหารเรือ หรือ "ลูกประดู่" ทั้งหลาย

ประดู่ : หลากหลายทั้งไทยและเทศ
ต้นไม้ที่ชื่อประดู่นั้น ปัจจุบันมีอยู่หลายต้น ทั้งของดั้งเดิมในไทยเอง และที่เข้ามาจากต่างประเทศ ในบทความนี้จะแนะนำสัก ๒ ชนิดก่อน ส่วนชนิดอื่นๆ คงกล่าวถึงสักเล็กน้อย ให้พอเห็นภาพ ชนิดแรกที่จะแนะนำคือประดู่ดั้งเดิมของคนไทยที่มาจากป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus Kurz. อยู่ในวงศ์ Papilionoideae เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่สูง ๑๕-๓๐ เมตร ต้นตรง ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา ทรงพุ่มไม่แผ่กว้าง กิ่งก้านตั้งขึ้น เปลือกสีน้ำตาลออกดำแตกเป็นระแหง เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีแดง กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม เมื่อกิ่งแก่ขนจะหายไป ใบเป็นใบรวม ก้านละ ๗-๑๑ ใบ รูปไข่ค่อนข้างมน ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ช่อดอกมีขนาดใหญ่ แต่ไม่ค่อยดก ดอกสีเหลืองมี ๕ กลีบ ขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมแรง ส่งกลิ่นไปได้ไกล ดอกจะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น ผลเป็นฝักกลมแบน มีปีกคล้ายจานบินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕-๗ เซนติเมตร ปกติจะออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน แต่ปีนี้มีฝนตกติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้ออกดอกล่าช้ากว่าปกติ แม้ถึงเดือนมิถุนายนแล้วบางต้นก็ยังเพิ่งออกดอก

ประดู่ชนิดนี้เป็นต้นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย พบขึ้นอยู่ในป่าเขตเบญจพรรณทั่วไป โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสาน คนไทยรู้จักกันดีมาแต่โบราณ ดังปรากฏในวรรณคดีไทยตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น ลิลิตพระลอ เป็นต้น ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์อธิบายว่า "ประดู่ คือ เป็นชื่อต้นไม้ใหญ่อย่างหนึ่ง เป็นไม้ป่าใหญ่ ใบเล็ก ดอก เหลืองและหอม" แสดงว่า คนไทยรู้จักประดู่มาหลายร้อยปีแล้ว ประดู่อีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ประดู่เสน เป็นประดู่ชนิดเดียวกัน (ชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกัน) เพียงแต่มีแก่นสีแดงเท่านั้น เพราะประดู่ชนิดนี้มีแก่นสีแดงอมเหลืองไปจนสีแดงแก่ ชื่อเรียกทั่วไปคือประดู่ ประดู่ป่า (ภาคกลาง) ประดู่เสน (ราชบุรี สระบุรี) ดู่ ดู่ป่า (ภาคเหนือ) ภาษาอังกฤษคือ Burmese Padauk.

ประดู่อีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นทั่วไป คือ ต้นที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus indicus Willd. วงศ์ Papilionoideae เช่นเดียวกัน ประดู่ชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดีย แต่นำมาปลูกในประเทศไทยนานมาแล้ว ลักษณะทั่วไปคล้ายประดู่ป่าข้างต้น มีความสูงราว ๒๐-๒๕ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มกว้างกว่า และปลายกิ่งห้อยลง เปลือกสีเทาเป็นร่องไม่มีน้ำยางสีแดง ใบขนาดเล็กกว่านิดหน่อย ดอกช่อเล็กกว่า ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ออกดอกดกกว่าชนิดแรก สีเหลืองและกลิ่นหอมแรงเช่นเดียวกัน บานและร่วงพร้อมกันทั้งต้นเหมือนกัน ประดู่ชนิดนี้คนไทยนิยมนำมาปลูกมากกว่าชนิดแรก ชื่อเรียกประดูชนิดนี้ คือ ประดู่บ้าน ประดู่กิ่งอ่อน (ภาคกลาง) ดู่บ้าน (ภาคเหนือ) ภาษาอังกฤษเรียก Angsana Norra และ Malay Padauk

นอกจากประดู่ทั้ง ๒ ชนิดข้างต้นแล้ว ยังมีประดู่ที่น่าสนใจอีกชนิด คือ ประดู่แดง ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Phyllocarpus septentrionalis Donn. Smith. ภาษาอังกฤษเรียก Monkey Flower Tree อยู่ในวงศ์ Caesalpinioideae มาจากประเทศกัวเตมาลา ทวีปอเมริกากลาง เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ดอกสีแดงสด แต่บานไม่พร้อมกันทั้งช่อ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ประดู่แขก ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia sissoo Roxb. เกิดในประเทศอินเดีย เชื่อกันว่าเป็นชนิดเดียวกับที่ในพระไตรปิฎกเรียกว่า ประดู่ลาย อันเป็นป่าในแคว้นราชคฤห์ที่พระพุทธเจ้าทรงพาพระสงฆ์เข้าไปพักอาศัยจำพรรษา

ประโยชน์ของประดู่
ในทางสมุนไพรทั้งประดูป่าและประดู่บ้านต่างก็ใช้ได้ มีสรรพคุณเหมือนกัน

ใบ  : รสฝาด ใช้สระผม พอก ฝี พอกแผล แก้ผดผื่นคัน

เปลือก : รสฝาดจัด สมานบาดแผล แก้ท้องเสีย บำรุงร่างกาย

แก่น : รสขมฝาดร้อน แก้คุดทะราด แก้เสมหะ เลือดกำเดาไหล แก้ไข้ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ผื่นคัน

ผล : แก้อาเจียน แก้ท้องร่วง มีรสฝาดสมาน

เนื้อไม้ประดู่ทั้ง ๒ ชนิด เป็นไม้มีค่าทางเศษฐกิจ มีคุณภาพดี  เพราะเนื้อแข็ง ปลวกไม่ทำลาย สีสวย ลวดลายงดงาม เนื้อละเอียดปานกลาง ตกแต่งขัดเงาได้ดี ใช้สร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน ทำเกวียน เรือ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เครื่องดนตรี เป็นต้น

ประดู่บางต้นเกิดปุ่มตามลำต้น เรียกว่า ปุ่มประดู่ (เช่นเดียวกับปุ่มมะค่า) ทำให้ได้เนื้อไม้ที่มีคุณภาพสูง งดงาม และราคาแพงมาก นิยมนำมาทำเครื่องเรือน และเครื่องมือเครื่องใช้อย่างดีเยี่ยม หาได้ยาก เปลือกและแก่นประดู่นำมาย้อมผ้าได้ดี ให้สีน้ำตาลและแดงคล้ำ ใบอ่อนและดอกประดู่นำมากินเป็นอาหารได้ด้วย

คนไทยนิยมนำประดู่มาปลูกตามอาคารหรือสถานที่สาธารณะ เช่น สวน หรือทางเดินเท้า เป็นร่มเงาและให้ความสวยงาม ทั้งยังกำจัดอากาศเสีย กรองฝุ่นละออง และกันเสียงกันลมได้ดีอีกด้วย ดังจะเห็นประดู่ยืนต้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ จะใช้ประโยชน์จากประดู่มากเป็นพิเศษ หากบ้านของท่านผู้อ่าน มีบริเวณว่างอยู่บ้าง ก็น่าหาประดู่มาปลูกเอาไว้สักต้น นอกจากประโยชน์ทางตรงที่จะได้รับอย่างแน่นอนแล้ว บางทีตำนานเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ข้างต้นอาจบันดาลมงคลแก่บ้านและครอบครัวของท่านไปนานเท่านาน

ขอขอบคุณสำหรับภาพจาก : ไม้ต้นประดับ, คู่มือคนรักต้นไม้

ข้อมูลสื่อ

291-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 291
กรกฎาคม 2546
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร