• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โอกาสที่คุณจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ในอีก ๑๐ ปี ข้างหน้า : การประเมินความเสี่ยงรวม (ตอนที่ ๑)

โอกาสที่คุณจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ในอีก ๑๐ ปี ข้างหน้า : การประเมินความเสี่ยงรวม (ตอนที่ ๑)


ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย ทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนไทยตายจากโรคหลอดเลือดสมอง ๕ คน ตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ๒ คน ตายจากเบาหวาน ๒ คน  สาเหตุที่สำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากการแข็งและตีบตันของหลอดเลือดแดง (atherosclerosis) ซึ่งถ้าเกิดที่หลอดเลือดหัวใจจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดที่หลอดเลือดสมองทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดที่ไตทำให้ไตเสื่อม และความดันเลือดสูง เกิดที่หลอดเลือดแดงส่วนปลายทำให้อวัยวะต่างๆ ขาดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงที่ขาตีบ ทำให้เกิดอาการปวดขามากเวลาเดินไกล หรือถ้าหลอดเลือดตีบตันมากเฉียบพลัน กล้ามเนื้อที่ขาอาจจะเน่าตาย จนต้องตัดขาเพื่อรักษาชีวิต เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง ไขมันผิดปกติ (ไขมันไม่ดี คือ โคเลสเตอรอลสูงเกินไป หรือไขมันที่ดี คือ เอชดีแอลต่ำเกินไป) การสูบบุหรี่ อายุที่มากขึ้น เพศชายหรือเพศหญิงหลังหมดประจำเดือน ประวัติในครอบครัว เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลงจนเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรง เวลาโมโหหรือรีบๆ ทำอะไร เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอกับความต้องการเลือดของหัวใจที่เพิ่มขึ้น จนเกิดอาการหัวใจขาดเลือดซึ่งมักจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ในกรณีที่เกิดการอุดตันทันทีของหลอดเลือดแดงที่หัวใจ จากการปริแตกเป็นแผลของผนังหลอดเลือดแดงและมีก้อนเลือดมาอุดหลอดเลือดจนตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยอาจจะเกิดการเต้นของหัวใจผิดปกติอย่างรุนแรงจนเสียชีวิต หรือเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย และเกิดหัวใจวายตามมาได้

พอเข้าสู่วัยกลางคน หลายๆ คนโดยเฉพาะคุณผู้ชายหรือคุณผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว จะเริ่มอยากรู้ว่าตัวเองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง จนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาตหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ บางรายก็ถึงกับเกิดอาการเฉียบพลันของโรคหลอดเลือดแดงแข็งหรือเสียชีวิต แล้วก็เริ่มสงสัยว่า แล้วเราจะเป็นอย่างเขาไหมนี่ วิธีง่ายๆ ที่จะบอกโอกาสเสี่ยงของเรา ก็คือ ต้องรู้ว่าเรามีปัจจัยเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ได้แก่

-  อายุ และเพศ ผู้ชายที่อายุมากกว่า ๔๕ ปี หรือหญิงอายุมากกว่า ๕๕ ปี จะมีความเสี่ยงมากขึ้น เพศชายเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงก่อนวัยหมดประจำเดือน ส่วนหญิงวัยหมดประจำเดือนความเสี่ยงจะสูงขึ้น 

-  ประวัติครอบครัว ถ้าเรามีญาติพี่น้องใกล้ชิดในครอบครัว (ซึ่งเป็นผู้ชายที่อายุน้อยกว่า ๕๕ ปี หรือ  ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า ๖๕ ปี) เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ถือว่าเราและญาติคนอื่นๆ มีโอกาสเสี่ยง ควรจะต้องตรวจหาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วยทุกคนและหาทางป้องกัน

-  ตรวจวัดความดันเลือดหลายๆ ครั้ง ถ้าความดันเลือดเฉลี่ยสูงเกิน ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท ถือว่าความดันเลือดสูง ยิ่งสูงมากจะยิ่งเสี่ยงมาก โดยเฉพาะถ้าความดันเลือดเฉลี่ยสูงกว่า ๑๘๐/๑๑๐ มิลลิเมตรปรอท

-  สูบบุหรี่หรือดมควันบุหรี่ ยิ่งสูบมาก ดมมาก ยิ่งเสี่ยงมาก

-  ความอ้วน โดยดูจากรอบเอว ถ้ามากกว่า ๓๖ นิ้วในผู้ชาย หรือมากกว่า ๓๒ นิ้วในผู้หญิง จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันผิดปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ยิ่งอ้วนมากยิ่งเสี่ยงมาก

-  งดอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า ๘ ชั่วโมง แล้วไปเจาะเลือดตรวจน้ำตาลในเลือด ไขมันโคเลสเตอรอล และไขมันเอชดีแอล ถ้าน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารเกินกว่า ๑๒๖ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ต้องรีบไปพบแพทย์เพราะสงสัยเป็นโรคเบาหวาน แต่ถ้าอยู่ระหว่าง ๑๑๐-๑๒๖ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่ากำลังจะเป็นเบาหวาน ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เป็น น้ำตาลยิ่งสูงมาก สูงเป็นเวลานาน ยิ่งเสี่ยงมาก 

ส่วนไขมันโคเลสเตอรอล ถ้าเกิน ๑๙๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เราก็เริ่มมีโอกาสเสี่ยง ยิ่งสูงมากยิ่งเสี่ยงมากโดยเฉพาะถ้าสูงเกิน ๓๒๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ต้องพบแพทย์เพื่อรักษา สำหรับไขมันเอชดีแอล ซึ่งเป็นไขมันดี ยิ่งต่ำยิ่งเสี่ยงมาก (โดยทั่วไปควรสูงเกิน ๔๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) นำค่าโคเลสเตอรอลตั้งหารด้วยเอชดีแอล จะเป็นอัตราส่วนไขมันไม่ดีต่อไขมันที่ดี ถ้ามีค่ามากกว่า ๕ ถือว่ามีโอกาสเสี่ยง (ค่ายิ่งสูงยิ่งเสี่ยงมาก) ควรจะไปพบแพทย์ และแพทย์มักจะแนะนำให้งดอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า ๑๒ ชั่วโมง แล้วเจาะเลือดอีกครั้งเพื่อตรวจหาค่าไขมัน  ไตรกลีเซอไรด์ คำนวณค่าไขมันเอชดีแอลและวางแผนการรักษาป้องกันต่อไป

แต่การดูปัจจัยเสี่ยงทีละตัวๆ ก็บอกโอกาสเสี่ยงไม่ได้แน่นอนเสมอไป เช่น คนที่มีระดับความดันเลือด หรือโคเลสเตอรอลเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นที่จะเกิดหรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเหมือนกัน เพราะปัจจัยทางกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมอีกหลายอย่างที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันและเกื้อหนุนให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกันในแต่ละคน แต่ละเชื้อชาติ จึงมีความพยายามหาวิธีประเมินความเสี่ยงรวมโรคหัวใจและหลอดเลือดว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้าโอกาสเกิดหรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ (๑๐๐ คนที่ปัจจัยเสี่ยงรวมเดียวกัน มีโอกาสเกิดหรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกี่คน)

วิธีการประเมินความเสี่ยงรวมมีหลายวิธี วิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ Framingham risk score ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงรวมในเวลา ๑๐ ปีข้างหน้าของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่คำนวณจากการศึกษาระยะยาวในประชากร ๕ พันกว่าคนที่เมืองฟรามิงแฮม สหรัฐอเมริกา แต่มีข้อเสีย คือ ถ้านำมาใช้กับประชากรที่มีการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำกว่า เช่น ประเทศยุโรปบางประเทศ รวมถึงประเทศทางเอเชียและไทยด้วย จะประเมินความเสี่ยงรวมสูงเกินความเป็นจริง ทำให้ต้องป้องกันโรคโดยเฉพาะต้องใช้ยามากกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าทำตามคำแนะนำที่ออกมาจากอเมริกา

ข้อมูลสื่อ

298-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 298
กุมภาพันธ์ 2547
นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์