• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผกากรอง : ความงามที่มากับความทนทานข้ามทวีป

ผกากรอง : ความงามที่มากับความทนทานข้ามทวีป


ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลกจึงมีอากาศร้อนชื้น (humid tropical) มีแสงแดดตลอดปี และมีฝน ๔-๖ เดือน ในช่วงที่ขาดฝน อากาศก็ยังมีความชื้นมากพอสำหรับพืชพันธุ์ ส่วนใหญ่จะดำรงชีพอยู่ได้โดยอาศัยความชื้นจากธรรมชาติ (ทั้งในอากาศและใต้ดิน) ไม่ต้องผลัดใบเพื่อรักษาน้ำในลำต้นเอาไว้อย่างในเขตแห้งแล้ง พืชหลายชนิดเลือกออกดอกเฉพาะในฤดูแล้ง ซึ่งอาจจะทิ้งใบส่วนใหญ่เหลือแต่ดอกเต็มต้น (เช่น คูน) หรือยังรักษาใบเอาไว้พร้อมกับออกดอก (เช่น มะม่วง) สำหรับพืชที่ออกดอกในฤดูฝนมักจะไม่ทิ้งใบเมื่อออกดอก เพราะความชื้นมีเหลือเฟือ ในบริเวณรอบบ้านทรงไทยของมูลนิธิข้าวขวัญ ด้านตะวันตกตรงเขตแนวรั้ว เคยเป็นบริเวณใต้ร่มเงาของต้นสะเดาอินเดีย (จากเกาะบาหลี) บัดนี้โล่งแจ้งมีแดดส่องลงมาได้ถึงพื้นดิน เพราะต้นสะเดาได้ตายและถูกย้ายออกไปหลายเดือนแล้ว เปิดโอกาสให้พืชพันธุ์ชนิดต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นเติบโตแข่งกันกับสะเดาต้นเล็กที่เพิ่งปลูกขึ้นแทนต้นเก่า

พืชที่ขึ้นใหม่นั้นส่วนใหญ่เป็นวัชพืช เช่น ตูดหมูตูดหมา  เป็นเถาเลื้อยแข่งกับเถารางจืดใบโตอยู่ตามแนวรั้ว ทำให้รั้วกลายเป็นสีเขียวทึบ ถัดจากแนวรั้วเข้ามาเล็กน้อย เป็นกลุ่มกระถางไม้ดอกชนิดต่างๆ ถูกนำมาประดับสถานที่เมื่อมีการฉลององค์กรครบรอบ ๑๐ ปี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ เมื่อเสร็จงานก็ถูกนำมาตั้งทิ้งที่รั้วใต้ต้นสะเดา โดยไม่มีการเอาใจใส่ดูแลหรือรดน้ำให้เลย ประกอบกับถูกวัชพืชขึ้นปกคลุมจึงไม่มีใครสังเกตว่ายังมีพืชกระถางชนิดใดเหลือรอดอยู่บ้าง จนกระทั่งต้นสะเดาที่เป็นร่มเงาตายลง และแสงแดดส่องมาถึงพื้นที่บริเวณกระถางตั้งอยู่ ไม่นานนักก็ปรากฏสีสันสดใสของดอกไม้บางชนิดขึ้นท่ามกลางดงวัชพืชริมรั้ว และสีสันสดใสนั้นคงปรากฏอยู่ตลอดปี ตั้งแต่ฤดูแล้งจนเริ่มฤดูฝนจนปลายฤดูฝน และคาดว่าเมื่อครบรอบปีเมื่อถึงฤดูแล้งปีหน้า สีสันสดใสของดอกไม้ (ที่ถูกทอดทิ้ง) ชนิดนี้ก็คงมีอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีแสงแดดส่องไปถึง ดอกไม้สุดยอดทนทานดังกล่าวก็คือ ผกากรอง นั่นเอง

ผกากรอง : นักเดินทางแสนทรหดจากอีกฟากโลก
ผกากรอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lantana camara Linn. อยู่ในวงศ์ Verbenaceae เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑-๒ เมตร มีกิ่งก้านสาขารอบๆ ลำต้นหลักมาก ทำให้ทรงพุ่มค่อนข้างกลม มีใบดกหนา ลำต้นและกิ่งก้านมีขนปกคลุม ใบรูปไข่ขอบใบจักปลายใบแหลมสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม เมื่อลูบรู้สึกระคายมือ ใบดกออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ดอกออกตามปลายกิ่ง เป็นช่อมีดอกเล็กๆ หลายดอกบนก้านช่อเดียวกัน คล้ายดอกเข็ม ขนาดช่อดอกกว้าง ๓-๕ เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกหลายสิบดอก ดอกผกากรองมีหลายสี เช่น ขาวล้วน (ผกากรอง) เหลืองล้วน (ผกากรองเหลือง) แดงล้วน (ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง) นอกจากนั้นยังมีสีม่วงอ่อน สีแสด สีชมพู และหลายสีในช่อดอกเดียวกัน ปัจจุบันมีการผสมพันธุ์เกิดสีผสมใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ ขนาดดอก (ช่อดอก) ก็โตขึ้นด้วย

ผกากรองออกดอกได้ตลอดทั้งปี หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม คือ อยู่กลางแจ้ง ได้รับแสงแดดพอเพียง ผกากรองชอบสภาพค่อนข้างแห้งแล้ง ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดีมากกว่าชุ่มชื้นหรือดินเหนียว จึงเป็นพืชที่มีความแข็งแรงทนทานมาก สามารถขึ้นและขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพธรรมชาติ จึงพบเห็นเสมอในป่าละเมาะที่ค่อนข้างโปร่งและแห้งแล้ง ทำให้หลายคนเข้าใจว่าผกากรองเป็นพืชป่าดั้งเดิมของไทย และหลายแห่งถือเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ตามหลักฐานที่บันทึกเอาไว้ปรากฏว่า ผกากรองเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอุรุกวัย ทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาแพร่ขยายไปปลูกในเขตร้อนทั่วโลก ไม่มีหลักฐานว่าผกากรองเข้ามาประเทศไทยเมื่อใด สันนิษฐานว่าคงเข้ามาในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง (ไม่เกิน ๒๐๐ ปี) เพราะ ไม่พบปรากฏชื่อผกากรองในวรรณคดีไทยยุคกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเลย หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ ก็ไม่มีชื่อผกากรองเช่นเดียวกัน แสดงว่า เมื่อ ๑๓๐ ปีที่แล้ว คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักผกากรอง

เนื่องจากผกากรองแพร่ขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง (โดยเมล็ด) จึงแพร่ขยายไปตามภาคต่างๆ ได้ทั่วไป จึงมีชื่อท้องถิ่นต่างกัน เช่น ผกากรอง ก้ามกุ้ง สาบแร้ง เบญจมาศป่า (ภาคกลาง) สามสิบ (จันทบุรี) เบ็งละมาศ หญ้าสาบแร้ง (ภาคเหนือ) ขี้กา (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น ภาษาอังกฤษเรียก Hedge Flower ปัจจุบันมีผกากรองถูกนำมาปลูกอีกชนิดหนึ่ง คือ ผกากรองเลื้อยชื่อภาษาอังกฤษ คือ Weeping Lantana ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Lantana sellowiana Link.  & otto. มีลักษณะเดียวกับผกากรอง แต่เลื้อยไปตามพื้น นิยมปลูกใส่กระถางแขวนให้เถาห้อยลงมาเป็นไม้ประดับ

ประโยชน์ของผกากรอง
ใบของผกากรอง มีคุณสมบัติห้ามเลือดและรักษาแผลสดได้ จึงใช้ตำหรือขยี้ให้ช้ำใส่บาดแผลสด (พอก) พบว่า มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย ในเกาะชวาของอินโดนีเซีย หมอพื้นบ้านใช้ผกากรองปรุงเป็นยารักษาโรคไขข้ออักเสบ (รูมาติส) ใบผกากรองมีกลิ่นฉุนจึงนำมาใช้เป็นสมุนไพรขับไล่แมลงศัตรูพืชได้ ผกากรองมีดอกดกเป็นช่อตลอดปี จึงเป็นแหล่งอาหารของแมลงต่างๆ เช่น ผีเสื้อและผึ้ง

ประโยชน์ด้านหลักของผกากรอง คือ ต้นใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากผกากรองเลื้อยที่เหมาะสำหรับปลูกในกระถางแขวนแล้ว ผกากรอง (ต้น) เหมาะสำหรับปลูกตามแนวรั้ว (ตามชื่อในภาษาอังกฤษ) หรือเป็นกลุ่มประดับสถานที่กลางแจ้ง เพราะให้ดอกมีสีสันสดใสได้ตลอดปี ดูแลง่าย ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมและโรคแมลงดีมาก ปัจจุบันผกากรองมีสีสันของดอกหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ จึงนำมาปลูกประดับสถานที่ หรือปลูกในกระถางได้มากขึ้นด้วย

ผกากรองทนทานต่อการตัดแต่งหรือดัดทรง ทนต่อความแห้งแล้ง ดินเลว จึงเหมาะสำหรับปลูกในกระถางทำไม้ดัด หรือไม้แคระ (บอนไซ) นอกจากนั้นยังเปลี่ยนยอด (เสียบยอด) ได้ง่าย จึงนิยมทำไม้ดัดหรือไม้แคระกระถางที่มีรูปทรงต่างๆ ในกระถาง ที่มีดอกสีต่างๆ มากมายในต้นเดียวกัน หากผู้อ่านมีโอกาสผ่านไปตามถนนสายสุพรรณบุรี-ชัยนาท ช่วงผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช จะสังเกตเห็น  ๒ ข้างทาง มีร้านขายต้นไม้ดัดกระถาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผกากรองสารพัดสี รองลงมา คือ โมกใบด่าง ผกากรองซึ่งเป็นไม้ดัดกระถางเหล่านี้ ชาวบ้านแถบนั้นพัฒนาขึ้นมาจากทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะในป่าละเมาะแล้งบริเวณภูเขาของอำเภอเดิมบางนางบวช มีเบญจมาศป่า (ผกากรองที่ขึ้นเอง) อยู่มาก ชาวบ้านจะขุดผกากรองจากป่า ที่ผ่านความแห้งแล้งมาหลายปี จนมีทั้งก้านแข็งแกร่งและค่อนข้างแกร็นมาเปลี่ยนยอดเป็นผกากรองสีต่างๆ จนได้ไม้ดัดกึ่งไม้แคระที่มีรูปทรงและสีสันงดงาม แข็งแรงทนทาน ปลูกง่าย ดูแลง่าย ออกดอกตลอดปี และราคาไม่แพง หากผู้อ่านผ่านไปทางนั้นอีกครั้งต่อไป อย่าลืมแวะชมและซื้อหาผกากรองกลับไปประดับบ้านของท่านบ้าง ขอเพียงสถานที่ซึ่งมีแสงแดดพอเพียงเท่านั้น ผกากรองก็จะมีดอกอันงดงามให้ท่านได้ชื่นชมตลอดปีติดต่อกันไปหลายๆ ปี

ข้อมูลสื่อ

295-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 295
พฤศจิกายน 2547
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร