• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข่มุก มหัศจรรย์แห่งความงาม

ไข่มุก มหัศจรรย์แห่งความงาม
 

พูดถึง "ไข่มุก" เรามักจะคิดถึงเรื่องความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับที่สวยงามส่องแสงสะท้อนจากสายสร้อยคล้องคอหรือคล้องมือ หรือบางคนอาจคิดถึงเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของไข่มุกที่ใช้ทาบนใบหน้าแล้วทำให้ผิวสวยเนียน อ่อนนุ่ม ถนอมผิวพรรณ ความจริงไข่มุกมีคุณสมบัติทางยาสมุนไพรจีนที่มีการบันทึกมานาน มีการใช้ผสมเป็นตัวยาในการรักษาโรคเหมือนสมุนไพรชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติและสรรพคุณที่แน่นอน การคาดหวังผลของไข่มุกจึงจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของไข่มุกด้วย

ไข่มุกเกิดขึ้นได้อย่างไร
ไข่มุกเกิดจาก "หอยนางรม" ที่อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเลลึก ไข่มุกก่อตัวจากเม็ดทรายเล็กๆ หรืออณูของเศษหิน หรืออาจเป็นชิ้นเล็กๆ ของเปลือกหอยนางรมเองที่ตกเข้าไปภายในหอย ทำให้เกิดการระคายเคืองก่อความรำคาญ เช่นเดียวกับเวลามีผงเข้าตาเราจะมีน้ำตาไหล เพื่อขับหรือชะล้างผงหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นออก แต่หอยนางรมไม่สามารถจะชะล้างสิ่งแปลกปลอมออกได้ มันจะขับสารออกมาเคลือบสิ่งแปลกปลอมนั้นแทน สารดังกล่าวจะเกาะกันเป็นชั้นๆ รอบสิ่งแปลกปลอมนั้น ชั้นแล้วชั้นเล่าจนเป็นไข่มุก สารแปลกปลอม ดังกล่าวเรียกว่า "แม่ไข่มุก" ปัจจุบันมีการทำฟาร์มไข่มุก โดยการรวบรวมหอยนางรม (หอยมุก) ที่มีอายุน้อย แล้วค่อยๆ แง้มเปลือกของมันออกมา แล้วใส่สิ่งแปลกปลอม หรือ "แม่ไข่มุก" ชิ้นเล็กๆ ลงไป จากนั้นนำไปให้เติบโตในใต้ทะเลลึกที่มีอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจึงจะเอาหอยขึ้นจากทะเล เพื่อนำมาแกะเอาไข่มุกออกมา

ส่วนประกอบของไข่มุก

  • ไข่มุกมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีปริมาณมากกว่าร้อยละ ๙๐
  • ส่วนที่เป็นสารอินทรีย์ประมาณร้อยละ ๐.๓๔
  • นอกนั้นยังประกอบด้วยแมกนีเซียม เหล็ก เกลือซิลิเกท เกลือซัลเฟต เกลือฟอสเฟต และสารคลอไรด์ ซึ่งเป็นส่วนน้อย
  • เมื่อทำการเผา เกลือคาร์บอเนตจะถูกทำลาย เกิดเป็นแคลเซียมคาร์ไบด์ และสารอินทรีย์ก็จะถูกสลายไปด้วย

คุณสมบัติและสรรพคุณทางยาตามทฤษฎีแพทย์แผนจีนโดยธรรมชาติ ไข่มุกจะมีคุณสมบัติเย็น มีรสออกหวานและเค็ม วิ่งเส้นลมปราณของตับและหัวใจ

สรรพคุณ

๑. สงบตับ เพิ่มยิน ลดภาวะหยางสู่เบื้องบน คุณสมบัตินี้ใช้รักษาโรคหรือภาวะที่มียินพร่อง ทำให้หยางแกร่งและลอยสู่เบื้องบน หรือภาวะหยางของตับแกร่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการมึนงง ปวดศีรษะ มีเสียงดังในหู หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ตรวจดูลิ้นมีสีแดง ฝ้าบนลิ้นน้อย ชีพจรตึง

๒. ลดความร้อนของไฟตับ ทำให้สายตาดีขึ้น ช่วยลดอาการตาบอดกลางคืน สายตามัวเนื่องจาก ยินของตับพร่อง ภาวะไฟตับกำเริบ จะแสดงออกที่ตา ตาแดง หน้าแดง เวียนศีรษะ หูอื้อ หูมีเสียง คอขม ปัสสาวะเหลือง ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นมีสีเหลือง ชีพจรเร็วและตึง ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำเป็นขี้ผึ้งป้ายตาที่มีส่วนผสมของไข่มุก ใช้รักษาโรคต้อกระจก กระจกตาอักเสบเป็นแผล ซึ่งมีผลในการรักษาได้ดีเป็นที่น่าพอใจ

๓. ใช้รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร แผลอักเสบและเน่าเปื่อย  ในกรณีที่มีการหลั่งกรดมากเนื่องจากมีภาวะร้อนในร่างกาย คุณสมบัติของไข่มุกสามารถช่วยแก้ปวด ลดกรด และมีฤทธิ์ในการห้ามเลือด ช่วยเพิ่มการแบ่งตัวของเนื้อเยื่อ

๔. ฤทธิ์ในการสงบประสาท คลายเครียด ทำให้นอนหลับ ใช้รักษาอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม สมองอ่อนล้า เด็กที่มีภาวะทางจิตบกพร่อง

๕. ใช้ทาภายนอก มีฤทธิ์ในการขับความชื้น พยุงรั้ง ทำให้ผิวมีน้ำมีนวล สามารถรักษาโรคคันที่ผิวหนัง ลมพิษ ลดการอักเสบ

ตัวอย่าง ตำรับยาจีนที่มีส่วนผสมของไข่มุก

๑.    (เจิ่น จิง หวาน) ใช้รักษาโรคลมชัก อาการชักในเด็ก โรคใจสั่นเนื่องจากตกใจ
๒.    (ซี ป่าว กาว) ใช้รักษาตาแดง ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา ต้อกระจก
๓.    (จู หวง ส่าน) ใช้รักษาแผลอักเสบเรื้อรัง  เช่น แผลที่ลำคอ โดยการใช้เป็นผงพ่นไปในลำคอ
๔.      (เซิง จี ส่าน) ใช้รักษาแผลอักเสบเรื้อรังและช่วยให้เนื้อเยื่อของแผลหายได้เร็วขึ้น
๕.      (เจิน จู หมู่  หวาน) ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับภาวะเลือด และยินพร่อง ซึ่งทำให้ลมและหยางในร่างกายแปรปรวน ทำให้นอนไม่หลับ บางทีตกใจแล้วมีอาการใจสั่น ใบหน้าไม่มีน้ำมีนวล (ขาดเลือด และสารยิน) เวียนศีรษะ ลักษณะชีพจรเล็กและอ่อน

ผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง

๑. เมื่อผสมผงไข่มุกให้สัตว์ทดลองกิน จะลดการบีบตัวของลำไส้ ทำให้มีการขับปัสสาวะได้มากขึ้น

๒. ช่วยให้แผลอักเสบในสัตว์ทดลองหายเร็วขึ้น

การใช้และขนาดที่ใช้
ไข่มุกผง มีกรรมวิธีทำได้ ๒ อย่าง คือ

๑. บดให้เป็นชิ้นๆ แล้วเอาไปบดอีกทีในน้ำให้ละเอียด จากนั้นนำมาตากเป็นผงแห้ง

๒. เอาใส่หม้อเหล็กปิดฝา ให้ความร้อน เพื่อให้ไข่มุกแห้งและเปราะ เมื่อมีเสียง "แคร็ก" เป็นอันใช้ได้ เอาไข่มุกที่เปราะนั้นมาบดเป็นผง

ขนาดในการกินถ้าเป็นผงสำเร็จ

  • ๐.๓-๑.๐ กรัมต่อครั้ง วันละ ๒-๓ ครั้ง
  • การใช้ภายนอก : ใช้ตามความเหมาะสม

ข้อควรระวังในการใช้
ผู้ป่วยที่มีร่างกายเป็นยินหรือขาดความร้อน (หยาง) ขี้หนาว มือเท้าเย็น หรือไม่มีภาวะของไฟเกิน หรือไม่มีภาวะความร้อนในร่างกายมากเกิน ถ้าใช้ยาที่มีส่วนผสมของไข่มุก หรือกินไข่มุกล้วนๆ ต้องระมัดระวัง เพราะไข่มุกมีคุณสมบัติเย็น มีฤทธิ์ยับยั้ง ลดความร้อน การอักเสบ จะทำให้การทำงานของระบบร่างกายต่างๆลดลงเป็นผลให้ร่างกายอ่อนแอมากขึ้น

สรุป : ในตำรับแพทย์จีนโบราณ ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของไข่มุกไว้ว่า เป็นยาเย็นรสหวาน เค็ม ช่วยสงบอารมณ์ (สงบตับ) ลดความร้อนของไฟตับ แก้ลมชัก แก้เวียนศีรษะ (ลมตับขึ้นเบื้องบน) แก้หูอื้อ หูมีเสียงดัง(ความร้อนขึ้นเบื้องบน) หยุดเลือด ลดการอักเสบของตา (ตับ เปิดทวารที่ตา) ช่วยการนอนหลับ แก้ใจสั่น (ไฟหัวใจกำเริบ) เพราะคุณสมบัติที่เย็น และวิ่งเส้นลมปราณตับและเส้นลมปราณหัวใจนั่นเอง

การใช้ไข่มุกในแง่ของส่วนประกอบบำรุงผิว ถ้าใช้กินจะต้องกินในขนาดที่พอเหมาะและพิจารณาสภาพร่างกายด้วยว่า ร่างกายควรต้องเป็นคนที่มีภาวะความร้อนเกิน ซึ่งอาจเกิดจากความร้อนจากภายนอกหรือความร้อนจากภายในร่างกาย ที่เกิดจากภาวะขาดสารยินหรือยินพร่อง ทำให้เกิดไฟ จึงจะมีประโยชน์ร่วมกับการใช้ตำรับยาอื่นๆ รักษาสมดุลของร่างกายให้ถูกต้อง ส่วนการทาภายนอกจะมีประโยชน์ในแง่ลดการอักเสบ ขจัดความชื้นของผิว ทำให้ไม่มีผื่นคันจากความร้อนชื้น แล้วสามารถดึงรั้งน้ำทำให้เกิดความมีน้ำมีนวลได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องความสวยงามของใบหน้าไม่สามารถพิจารณา และให้การรักษาเฉพาะส่วนเท่านั้น เพราะราศี สีสัน และความงามบนใบหน้า เป็นภาพสะท้อนถึงภาวะร่างกายและจิตใจโดยองค์รวม คนที่มีสภาพร่างกายและจิตใจที่มีโรค มีความเศร้าหมอง ทำอย่างไรสีหน้า และความมีราศีของใบหน้าก็ไม่อาจจะมีความสดใสและความงามที่แท้จริงได้

ข้อมูลสื่อ

250-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 250
กุมภาพันธ์ 2543
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล