• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหูน้ำหนวก

โรคหูน้ำหนวก


๑. ทำไมจึงเรียกหูน้ำหนวก

คำว่า น้ำหนวก หมายถึง น้ำเมือกรวมกับน้ำมูก และการที่หูจะมีน้ำเมือกได้ต้องออกมาจากเยื่อบุหูชั้นกลางเท่านั้น บางครั้งอาจจะมีน้ำไหลออกมาจากหูชั้นนอกที่อักเสบแต่ไม่มีน้ำเมือก กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่หูน้ำหนวก

 
๒. หูน้ำหนวกมีอาการอย่างไรบ้าง และมีอาการแทรกซ้อนอะไร

อาการของหูน้ำหนวก

๑. มีน้ำหนวกไหลจากหูชั้นกลาง เป็นอาการที่สำคัญที่สุด

๒. อาการปวด ถ้าเป็นหูชั้นกลางแบบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดก่อนมีน้ำหนวกไหลจากหู และเมื่อน้ำหนวกไหลออกมาแล้วอาการปวดมักจะลดลง เนื่องจากแก้วหูมีรูทะลุให้น้ำหรือหนองไหลมาได้

๓. การรับฟังเสียงหรือการได้ยินมักจะลดลง เนื่องจากมีแก้วหูทะลุ แต่จะเสียการรับฟังเท่าใด ขึ้นอยู่กับขนาดของแก้วหูที่ทะลุและระเวลาของการเป็นหูน้ำหนวก
 

 

๓. หูน้ำหนวกเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

หูน้ำหนวกเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในหูชั้นกลาง อาจเกิดแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังเป็นๆหายๆได้ ถ้าเป็นหูน้ำหนวกแบบเฉียบพลัน มักพบร่วมกับการเป็นหวัดหรือการทำงานที่ไม่ปกผิของท่อปรับความดันที่ต่อระหว่างหูชั้นกลางและคอ เชื้อโรคสามารถผ่านจากคอเข้าสู่หูทางท่อนี้ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในหูชั้นกลาง หนองที่เกิดขึ้นจะดันแก้วหูให้ทะลุและเป็นน้ำหนวกออกมาได้ เมื่อได้รับการรักษาจนการอักเสบทุเลาลง แก้วหูที่ทะลุจะปิดเองได้ ในบางภาวะแก้วหูไม่สามารถจะปิดเองได้ เช่น ในคนที่มีการอักเสบของหูชั้นกลางซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือร่างกายไม่แข็งแรง ถ้าแก้วหูมีรูทะลุนานเกินกว่า ๓ เดือน จะเรียกว่า หูน้ำหนวกแบบเรื้อรังซึ่งมี ๒ ชนิด คือ

๑. หูน้ำหนวกเรื้อรังชนิดไม่อันตราย ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีปัญหาหูน้ำหนวกเป็นๆ หายๆ มักมีประวัติว่า น้ำเข้าหูทีไร ปั่นหูทีไร หรือเป็นหวัดครั้งใด จะมีน้ำหนวกเกิดขึ้นทุกครั้ง ทั้งนี้เพราะมีแก้วหูทะลุอยู่แล้ว เชื้อโรคสามารถเข้าไปในหูชั้นกลาง ตามน้ำที่ไม่สะอาดที่เข้าหู หรือจากไม้ หรือสำลีที่ไม่สะอาดที่เราใช้ปั่น หู และทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุหูชั้นกลาง และมีน้ำหนักเกิดขึ้น ไหลผ่านช่องแก้วหูที่ทะลุอยู่ออกมาที่รูหูชั้นนอก

๒. อีกชนิดที่เป็นหูน้ำหนวกเรื้อรังชนิดอันตราย พวกนี้เป็นโรคหูน้ำหนวกที่จะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีน้ำหนวกที่มีกลิ่นเหม็นมาก และมักจะไหลไม่ค่อยหยุด ปัญหาแทรก ซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ได้แก่

ปวดหูมาก เห็นภาพซ้อน ไข้สูง หน้าเบี้ยว หูหนวก มีฝีหลังหู ฝีในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เวียนศีรษะ ซึมลง คอแข็ง และชักได้

หูน้ำหนวกเรื้อรังชนิดอันตรายนี้ต้องได้รับการรักษาโดยรีบด่วน จากแพทย์หู คอ จมูก ซึ่งโดยมากมักจะต้องเป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขอาการอักเสบให้หมดไป

 
๔. เมื่อไรควรจะไปพบแพทย์

ก็ควรจะไปพบแพทย์ทุกครั้งที่มีหูน้ำหนวก หรือสงสัยว่าตัวเองจะมีหูน้ำหนวก เช่น มีน้ำเมือกหรือน้ำน้ำหนองไหลจากหู มีอาการปวดหูก่อนมีน้ำไหลออกหู หรือมีการได้ยิน การรับฟังเสียงลดลงร่วมกับการมีน้ำไหลจากหู เพื่อให้แพทย์ตรวจดูว่ามีหูชั้นกลางอักเสบ หรือมีแก้วหูทะลุหรือไม่ ถ้ามีน้ำหนวกแพทย์ก็จะดูดหนองออก การที่แพทย์ดูดหนองออกมีความสำคัญมาก เพราะจะได้ตรวจดูลักษณะแก้วหูได้อย่างถี่ถ้วน ว่ามีรูทะลุหรือไม่ รูใหญ่หรือเล็ก ถ้ามีหนองอยู่เต็มก็ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยได้เพราะหนองจะบังแก้วหู

อีกประการ คือว่า ถ้ามีหนองขังอยู่ การหยอดยาหยอดหูจะไม่สามารถเข้าถึงเยื่อบุในหูชั้นกลางได้ จำเป็นต้องดูดหนองออกก่อน การหยอดยาจึงได้ผลดี การรักษาระยะแรกต้องให้การอักเสบทุเลาก่อน และหลังจากนั้นจึงพิจารณาการผ่าตัดปิดเยื่อแก้วหูให้ผู้ป่วยเพื่อแก้ไขการได้ยินให้ดีขึ้น และเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคผ่านจากภายนอกไปเยื่อบุหูชั้นกลางได้

 
๕. ผู้ที่เป็นหูน้ำหนวกหรือถ้าการได้ยินลดลง ควรปฏิบัติอย่างไร
ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ถ้าเป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน เมื่อได้รับการรักษาด้วยยาจนอาการทุเลาแล้ว รูทะลุเล็กๆที่แก้วหูมักจะปิดเองได้ ถ้าเป็นหูชั้นกลางอักเสบแบบเรื้อรัง มักจะมีแก้วหูทะลุอยู่ก่อนแล้ว เมื่อรับการรักษาทางยาทั้งยาหลอดหู และยากินจนอาการทุเลาแล้ว ควรจะรับการผ่าตัดปิดเยื่อแก้วหูที่ทะลุ

 
๖. การป้องกัน
ต้องป้องกันอย่าให้มีการอักเสบของหูชั้นกลาง พยายามรักษาตัวให้แข็งแรง อย่าให้เป็นหวัดบ่อยโดยการออกกำลังกาย และไม่ไปในที่แออัด ถ้าเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรัง มีแก้วหูทะลุ แต่รักษาจนน้ำหนวกแห้ง ก็รับการผ่าตัดปิดแก้วหู แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะรับการผ่าตัดปิดแก้วหู แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะรับการผ่าตัดปิดเยื่อแก้วหู ก็ต้องพยายามอย่าให้น้ำเข้าหู อย่าปั่นหู ถ้าเป็นหวัดให้รักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลาง
 

ข้อมูลสื่อ

222-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 222
ตุลาคม 2540
โรคน่ารู้
พญ.ลลิตา เกษมสุวรรณ