• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำสมุนไพร

น้ำสมุนไพร

 
เข้าครัวครั้งนี้ ชวนมาดื่มน้ำกัน หลายคนงง! ชวนดื่มน้ำ แต่ทำหมายถึงมาอยู่คอลัมน์ “เข้าครัว” น้ำที่ว่าก็คือ น้ำสมุนไพรค่ะ

น้ำสมุนไทรนั้นจริงๆแล้วมีมากมายหลายชนิด แต่ที่คัดเลือกมานำเสนอในวันนี้มี ๗ ชนิด แต่ละชนิดก็มีประโยชน์และสรรพคุณแตกต่างกันไป สามารถดื่มได้ ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ปัจจุบันนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสุขภาพมากขึ้น น้ำสมุนไพรก็เหมือนกัน มีแบบบรรจุซองสำเร็จรูปขายตามร้านค้า ซึ่งส่วนมากจะบรรจุซองให้มีขนาดพอชงกับน้ำร้อน ๑ แก้ว ได้รสชาติกำลังดี แต่แบบนี้ จะมีข้อเสีย คือ มีน้ำตาลผสมในส่วนที่ผสมที่สูง ฉะนั้นถ้าคุณแม่บ้านพอจะมีเวลาทำเองก็จะดีกว่าค่ะ แล้วยิ่งถ้าใช้น้ำตาลกรวดได้จะดีมากค่ะ ยิ่งทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้น และควบคุมความหวานจากน้ำตาลได้ด้วย

อยากแนะนำว่า สำหรับน้ำสมุนไพรนี้ถ้าใครสามารถดื่มแบบไม่ใส่น้ำตาลได้ก็จะดี (มาก) นะคะ เพราะการบริโภคน้ำตาลมาก อาจทำให้เกิดโทษกับร่างกายได้ สำหรับสูตรการทำน้ำสมุนไพรครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์กีชา วิมลเมธี จากศูนย์แพทย์ไทยจังหวัดนครศรีธรรมราช ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

 

น้ำกระเจี๊ยบ

สรรพคุณ : บรรเทาเสมหะในคอ แก้อ่อนเพลีย แก้กระหายน้ำ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยกระจายเลือด
 

วิธีทำ : ถ้าบ้านใครมีต้นกระเจี๊ยบจะใช้ดอกกระเจี๊ยบสด (หรือใช้ดอกแห้งที่มีขายทั่วไปก็ได้) ๔๐๐ กรัม ต้มกับน้ำ ๓ ลิตร เติมน้ำตาลกรวด ๓๐๐ กรัม ต้มนาน ๕ นาที เสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น นำผ้าขาวบางมากรองแล้วแช่ตู้เย็นเก็บไว้เป็นเครื่องดื่มได้เลย

 

 

น้ำใบบัวบก
 
สรรพคุณ : แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ชุ่มคอ แก้อ่อนเพลีย แก้ช้ำภายใน
 

วิธีทำ : ใช้ต้นสดทั้งใบ ก้าน และราก ล้างน้ำให้สะอาด ตำหรือใช้เครื่องปั่นให้ละเอียด เติมน้ำลงไปเล็กน้อยผสมให้เข้ากัน ใช้ผ้าขาวบางกรองกากออกผสมน้ำตาล เติมน้ำแข็งเป็นเครื่องดื่มได้เลย หรือจะใช้สูตรต้มก็มีดังนี้ ใช้ใบและก้านสดประมาณ ๕๐๐ กรัม ต้มกับน้ำ ๒ ลิตร เติมน้ำตาลกรวด ๒๐๐ กรัม ถ้ามีใบเตยใส่ลงไปด้วยนิดหน่อย ต้มนาน ๕ นาที เสร็จแล้ว ทิ้งไว้ให้เย็น นำผ้าขาวบางมากรองแล้วแช่ตู้เย็นเก็บไว้เป็นเครื่องดื่มได้เลย

 

 

น้ำขิง
 
สรรพคุณ : บรรเทาอาการท้องอืด จุก แน่นท้อง แก้อาเจียน ขับลม ทำให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันการเมารถ เมาเรือ
 

วิธีทำ : ใช้ขิงสดหรือแห้ง ๓๐๐ กรัม ต้มกับน้ำ ๒ ลิตร เติมน้ำตาลกรวด ๒๐๐ กรัม ต้มนาน ๕ นาที เสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น นำผ้าขาวบางมากรองแล้วแช่ตู้เย็นเก็บไว้เป็นเครื่องดื่มได้เลย

 

 

 

 

น้ำมะตูม
 
สรรพคุณ : บำรุงไฟธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้กระหายน้ำ แก้ท้องเสีย ท้องร่วงเรื้อรังในเด็ก
 

วิธีทำ : ใช้ผลมะตูมดิบ นำมาขูดผิวที่ลูกออกให้หมด แล้วหั่นเป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้งหรือพอหมาด (ถ้าไม่สะดวก ให้หาซื้อแบบแห้งสำเร็จรูปแล้วก็ได้) ใช้ประมาณ ๕ แว่น ต้มกับน้ำ ๑ ลิตร เติมน้ำตาลกรวด ๒๐๐ กรัม ต้มนาน ๕ นาที เสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น นำผ้าขาวบางมากรองแล้วแช่ตู้เย็นเก็บไว้ เป็นเครื่องดื่มได้เลย

 

 

น้ำเก๊กฮวย
 
สรรพคุณ : บรรเทาอาการร้อนใน ทำให้ชุ่มชื้น แก้กระหายน้ำ
 

วิธีทำ : ใช้ดอกเก๊กฮวย ๑๕-๒๐ ดอก ต้มกับน้ำ ๑ ลิตร เติมน้ำตาลกรวด ๒๐๐ กรัม ต้มนาน ๕ นาที เสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น นำผ้าขาวบางมากรองแล้วแช่ตู้เย็นเก็บไว้เป็นเครื่องดื่มได้เลย

 

 

 

 

 

น้ำตะไคร้

สรรพคุณ : บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว หอบเหนื่อย ช่วยขับปัสสาวะ ขับลมในลำไส้

วิธีทำ : ใช้รากและลำต้น หั่นเป็นฝอยบางๆ ๒๐๐ กรัม ต้มกับน้ำ ๑ ลิตร เติมน้ำตาลกรวด ๒๐๐ กรัม ระหว่างที่ต้มให้คอยตักฟองทิ้งด้วย ต้มนาน ๕ นาที พอเดือดแล้วยกลงได้ อย่าต้มเคี่ยวไว้นานเกินไป เพราะน้ำจะเปลี่ยนสีไม่น่ากิน เสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น นำผ้าขาวบางมากรองแล้วแช่ตู้เย็นเก็บไว้เป็นเครื่องดื่มได้เลย

 

 

 

น้ำดอกคำฝอย
 
สรรพคุณ : ช่วยลดไขมัน บำรุงเลือด แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ชุ่มคอ
 

วิธีทำ : ใช้ดอกคำฝอยแห้ง ๓๐๐ กรัมห่อผ้าขาวไว้ นำมาต้มกับน้ำ ๒ ลิตร ต้มนาน ๕ นาที (ไม่ต้องใส่น้ำตาล เพราะใช้ดื่มแบบน้ำชาได้) เสร็จแล้วอาจกรองให้สะอาดอีกครั้ง ใช้ดื่มตอนอุ่นๆ

 

 

 

 

มุมน่ารู้

กระเจี๊ยบ : ผักสารพัดประโยชน์

กระเจี๊ยบจัดเป็นพืชผักประเภทล้มลุก ทุกส่วนของกระเจี๊ยบนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น

  • ใบและยอดอ่อน นำมาแกงส้ม หรือกินเป็นผักสดก็ได้ มีสรรพคุณละลายเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร หล่อลื่นลำไส้
  • ดอกสด นำมาต้มน้ำดื่มทำให้สดชื่น ขับปัสสาวะได้ดี
  • ฝักอ่อน นำมาต้มจิ้มน้ำพริก หรือแกงกิน แก้พยาธิตัวจี๊ดได้ดีกว่ายาฝรั่งเสียอีก
  • เมล็ดแก่ ตากแห้งแล้วนำมาต้มชงน้ำร้อน ดื่มเป็นยาระบายอ่อนๆ

สำหรับอาหารที่กระเจี๊ยบได้ อาทิเช่น แกงส้ม กระเจี๊ยบเชื่อม กระเจี๊ยบแช่อิ่ม แยมกระเจี๊ยบ

ด้วยเหตุผลเท่านี้ กระเจี๊ยบก็กลายเป็นผักสารพัดประโยชน์ได้แล้ว

ข้อมูลสื่อ

228-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 228
เมษายน 2541
เข้าครัว
นาตยา