• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สารที่ก่อมะเร็ง

เมื่อพูดถึงโรคมะเร็ง หลายๆคนแสดงสีหน้าหวาดผวา เพราะกิตติศัพท์โรคนี้เป็นที่รู้กันมานานนักหนาแล้วว่า เป็นโรคร้ายที่ยากจะรักษาให้หายได้ ถ้าใครเกิดเป็นขึ้นมาแล้วดูเหมือนว่าความตายได้คืบคลานมารอท่า

ปัจจุบันนี้ จากการรวบรวมสถิติเกี่ยวกับโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันมะเร็งโรงพยาบาลศิริราชและหน่วยมะเร็งตามโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง ได้ยืนยันว่า คนไทยเป็นมะเร็งกันมากขึ้น และอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งก็สูงขึ้นเช่นกัน ในขณะนี้คนไทยตายด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจและอุบัติเหตุ และพบว่ามะเร็งเป็นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีเป็นต้นไป ซึ่งเป็นวัยที่กำลังทำงานและหาเลี้ยงครอบครัว โรคมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายได้ เช่น มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก มะเร็งเต้านม และมะเร็งของอวัยวะอื่นๆอีกหลายอวัยวะ แต่ก็ยังมีหลายชนิดที่รักษาไม่ได้ผล ฉะนั้นจะเห็นว่าโรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในด้านสาธารณสุข สังคม และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ จนเมื่อเร็วๆนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้หยิบปัญหาโรคมะเร็งมาพูดกันว่า น่าจะมีการรณรงค์หาทางป้องกันเพื่อจะทอนรายจ่ายในการรักษาพยาบาลลงไป เพราะโรคมะเร็งที่เราทราบสาเหตุก็สามารถจะป้องกันได้

ความจริงนั้น สาเหตุของโรคมะเร็งที่มีผู้ทำการศึกษาวิจัยได้ในหลายๆประเทศและทั้งในประเทศไทยเอง พอจะได้บอกได้ว่า มาจากสิ่งมีพิษหรือสารก่อมะเร็งซึ่งปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเรา ที่เราได้รับหรือสัมผัสอยู่ทุกๆวันนั่นเอง เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนอยู่ในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม หรือยารักษาโรค ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการกินการอยู่อย่างสำคัญ

การทำความรู้จักกับสารก่อมะเร็งและเรียนรู้ถึงสาเหตุของมะเร็งต่างๆ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงต่อสารก่อมะเร็งหรือสาเหตุนั้นๆ เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้

สารก่อมะเร็งมีอะไรบ้าง
สารก่อมะเร็งจากภายนอกร่างกายแบ่งออกได้หลายกลุ่ม คือ
1. สารกายภาพ ทำให้เกิดมะเร็งได้โดยเกิดจาก “การระคายเคืองเรื้อรัง” หรือมีการระคายซ้ำๆในที่เดียวกันเป็นเวลานานๆ เช่น
- ฟันเก ฟันคม จะครูดเยื่อบุในช่องปากขณะพูดหรือเคี้ยวอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งในช่องปาก หรือกินอาหารเครื่องดื่มที่ร้อนจัด เกิดการระคายเรื้อรังในช่องปากและหลอดอาหาร
- สารพาราฟินที่ฉีดเข้าไปในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณเต้านมหรือใบหน้า
- การกระทบกระแทกหรือการฉีกขาดของปากมดลูก เช่น ผู้ที่คลอดลูกบ่อยๆ หรือผู้ที่มีกะบังลมหย่อน ปากมดลูกเคลื่อนลงมาต่ำ เสียดสีกับผ้านุ่งอยู่เสมอๆ
- อากาศที่มีฝุ่นละอองมาก อากาศที่มีไอเสียหรือเขม่าควันจากเครื่องยนต์หรือปล่องโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศที่มีฝุ่นละอองของสารแอสเบสตอสหรือใยแก้ว ใยหิน จะระคายต่อถุงลมในปอดโดยตรง ทำให้เกิดมะเร็งปอด

2. สารเคมี
จัดเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มใหญ่ที่สุด เมื่อเร็วๆนี้ทางคณะกรรมการสุขภาพและความปลอดภัยในการประกอบอาชีพของสหรัฐอเมริการายงานว่า สารต่างๆที่สามารถทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นมะเร็งในสัตว์ทดลองมากมายถึง 1,900 ชนิด และที่มีรายงานว่าทำให้เกิดมะเร็งในคนนั้นมีประมาณ 17 ชนิด ส่วนใหญ่สารต่างๆเหล่านี้จะปะปนมาในรูปอาหาร เช่น
2.1 อาหารที่ผสมสีย้อม สีผสมอาหารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีแดงได้จากครั่ง ดินประสิว สีเขียวจากใบเตย สีเหลืองจากขมิ้น ฯลฯ สีธรรมชาติเหล่านี้มีราคาแพงและหาซื้อได้ยาก ผู้ประกอบอาหารบางรายจึงใช้สีวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสีสำหรับย้อมผ้าหรือวัตถุต่างๆ (มิใช่สำหรับผสมอาหาร) แทนสีผสมอาหาร ซึ่งสีวิทยาศาสตร์นี้จะมีราคาถูกและมีสีฉูดฉาด สดใส หรือมีกลิ่นหอม มักจะผสมอยู่ในขนม ลูกกวาด สลิ่ม สีย้อมเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งของท่อน้ำดีในตับและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
2.2 อาหารที่มีสารไนโตรซามีนส์ สารนี้จะพบได้ในอาหาร 3 ประเภทคือ อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์หมัก อาหารที่มีดินประสิวเจือปนในปริมาณมากเกินไป และอาหารที่มีดีดีที อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์หมักได้แก่ ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาเจ่า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม กะปิ กุนเชียง อาหารประเภทนี้มีไนโตรซามีนส์มาก เกิดจากการสลายตัวของสารโปรตีน ส่วนอาหารที่ผสมดินประสิวนั้น แต่เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เนื้อสัตว์เปื่อยและมีสีแดงน่ากิน แต่ในปัจจุบันมักจะใช้ดินประสิวในแง่ของการถนอมอาหาร ฉะนั้นจึงผสมดินประสิวในปริมาณที่สูงมาก เมื่อกินดินประสิว (โพแทสเซียมไนเตรต) เข้าไป จะทำปฏิกิริยากับสารเอมีนส์ทุติยภูมิในกระเพาะอาหารเป็นไนโตรซามีนส์ ยาฆ่าแมลงประเภทดีดีทีที่ปนเปื้อนมากับอาหารเช่นกัน เมื่อกินเข้าไปในร่างกายก็จะแปรสภาพเป็นไดไนโตรซามีนส์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน แต่เป็นที่โชคดีที่สารไนโตรซามีนส์นี้จะเปลี่ยนสภาพไปถ้าโดนความร้อนขนาด 90-100 องศาเซลเซียส ฉะนั้นถ้าจะกินอาหารที่มีไนโตรซามีนส์ก็ขอให้ทำให้สุกเสียก่อน เช่น จะกินปลาร้าสับก็เปลี่ยนเป็นปลาร้าหลนเสีย หรือแหนมก็ชุบไข่ทอดเสีย ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยในแง่การเกิดมะเร็งแล้ว ยังปลอดภัยจากโรคพยาธิอีกด้วย
2.3 อาหารประเภทเนื้อสัตว์ปิ้ง ย่าง รมควัน การปรุงอาหารด้วยวิธีปิ้ง ย่าง รมควัน เช่น ไก่ย่าง หมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง ไส้กรอกปิ้ง ฯลฯ หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่ไหม้เกรียม จะทำให้เกิดสารเคมีประเภทไฮโดรคาร์บอน เป็นสารที่ก่อมะเร็งอีกชนิดหนึ่ง
2.4 อาหารที่เข้าสารหนู ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปของยารักษาโรค ทั้งยาจีน ยาไทยและยาฝรั่ง ซึ่งปัจจุบันนี้มียาจีนหลายยี่ห้อที่ใช้รักษาโรคเรื้อนกวางมีสารหนูเป็นส่วนผสม สารหนูนี้ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
2.5 บุหรี่ การสูบบุหรี่จะเกิดสารเบนโซพัยรีนจากการเผาไหม้ของน้ำมันดินหรือทาร์ ซึ่งเป็นที่ยืนยันว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุโดยตรงของมะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ การงดสูบบุหรี่อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่สูบเป็นประจำ แต่ถ้าจะลดปริมาณให้น้อยลงก็จะดี หรือเวลาสูบอย่าอัดเข้าปอดแรงๆ หรืออย่าสูบก่อนนอน เพราะสารเคมีจากการเผาไหม้ของทาร์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและถูกขับถ่ายทางปัสสาวะ เวลานอนจะต้องกลั้นปัสสาวะ โอกาสที่สารก่อมะเร็งตัวนี้จะไประคายต่อเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะจึงมีมาก

3. ฮอร์โมน
ส่วนมากจะอยู่ในรูปของยารักษาโรค ถ้าหากได้รับไปอย่างไม่ถูกต้องก็อาจจะทำให้เป็นมะเร็งได้ เช่น ฮอร์โมนเพศหญิงทำให้เกิดมะเร็งเต้านม ฮอร์โมนเพศชายทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก

4. เชื้อไวรัส
ได้มีการพิสูจน์มาแล้วว่า ไวรัสหลายชนิดทำให้เกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด “โรคเริม” ตามผิวหนัง ริมฝีปาก และบริเวณอวัยวะเพศ เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

5. สารพิษหรือทอกซิน สารพิษจากเชื้อรา เช่น อะฟลาทอกซินมีในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด มะพร้าว หัวหอม หัวกระเทียม พริกแห้ง ซึ่งอะฟลาทอกซินนี้จะไม่ถูกทำลายโดยความร้อน เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เป็นมะเร็งตับ ฉะนั้น ถ้าสงสัยว่าอาหารจะมีสารพิษนี้ควรจะทิ้งเสีย อย่าเสียดายโดยเอาไปอุ่นทำให้ร้อน จริงอยู่เชื้อราอาจจะตาย แต่สารพิษตัวนี้ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ถ้าความร้อนนั้นกว่า 263 องศาเซลเซียส

6. พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในตับ พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกิดจากการกินปลาน้ำจืดแบบสุกๆดิบๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีในตับ

7. รังสีต่างๆ
ปัจจุบันมีการนำรังสีมาใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในทางการแพทย์ การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรังสีเอกซ์ รังสีแกมมา รังสีเบตา หรือรังสีแอลฟาจากสารกัมมันตรังสี เมื่อร่างกายได้รับรังสีเหล่านี้เป็นเวลานานๆ แม้จะครั้งละน้อยๆก็ตาม จะมีโอกาสเกิดมะเร็งได้ทุกๆอวัยวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมธัยรอยด์ นอกจากนี้แสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลต ก็ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

                   

สัญญาณอันตราย 7 ประการของมะเร็ง
อาการผิดปกติต่างๆที่อาจเป็นอาการของโรคมะเร็งในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็น หรืออาจจะเรียกรวมๆว่า “สัญญาณอันตราย 7 ประการ” ถ้าหากเราให้ความสังเกตเอาใจใส่ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้ลดอัตราเสี่ยงจากการเป็นโรคนี้

1. การเป็นแผลเรื้อรังที่ไม่รู้จักหาย หรือหายช้า

โดยปกติแล้วแผลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม เมื่อได้รับการรักษา (หรือแม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษาก็ตาม) มักจะหายไปได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ถ้าหากเกิน 2 สัปดาห์ไปแล้วแผลยังไม่หายหรือกลายเป็นแผลเรื้อรังเกินเดือนที่ชาวบ้านเรียกว่า “แผลกลาย” ในกรณีเช่นนี้ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นแผลมะเร็งได้ แต่ก็มีแผลจากโรคอื่นที่อาจใช้เวลาเกิน 2 สัปดาห์ เช่น แผลจากโรคเบาหวาน แผลจากเส้นเลือดตีบตัน หรือแผลโรคเรื้อน ฯลฯ

2. การมีตุ่ม ไต ก้อนแข็งใต้ผิวหนังที่ผิดปกติ
ความจริงนั้น ตุ่ม ไต หรือก้อนนี้จะเกิดในส่วนใดของร่างกายก็ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นตำแหน่งที่ไม่ควรจะมีก้อน ตุ่ม ไตขึ้นมา ควรจะสงสัยว่าอาจจะเป็นก้อนมะเร็งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งที่ควรจะมีการตรวจตรา สังเกตอยู่เสมอๆ เช่น บริเวณเต้านม ช่องท้อง หรือบริเวณที่มักจะมีการโตของต่อมน้ำเหลือง เช่น บริเวณคอ ขาหนีบ รักแร้

3. มีอาการไอเรื้อรัง เจ็บคอ หรือมีเสียงแหบแห้งอยู่นาน
อาการไอเรื้อรังที่เกิดขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้ เช่น ไม่ได้เป็นหวัดมาก่อน อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะถ้าหากว่าเป็นการไอที่มีสาเหตุจากมะเร็งปอด จะมีความหมายต่อชีวิตมาก เพราะระยะเวลาเพียง 1 เดือนมะเร็งปอดสามารถลุกลามไปได้มาก

4. กลืนอาหารลำบาก ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องผูกสลับกับท้องเดิน
การผิดปกติในระบบทางเดินอาหารนี้สังเกตได้ยาก เพราะในคนปกติก็จะมีอาการเหล่านี้ได้ การกลืนอาหารลำบาก บางครั้งจะรู้สึกกลืนแล้วแน่น ติด จุกบริเวณลำคอหรือหน้าอกขณะที่กลืนอาหาร โดยเฉพาะอาหารแข็งๆ อาจจะเป็นอาการเริ่มแรกของมะเร็งหลอดอาหาร หรือถ้าหากกินอาหารเพียงเล็กน้อยแล้วรู้สึกแน่นท้อง จุกท้อง อาจจะเป็นอาการของมะเร็งกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือมะเร็งตับก็ได้

5. มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปานที่มีมาก่อนแล้ว
ในกรณีที่อยู่ดีๆหูด ไฝ หรือปาน อยู่ดีๆก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น โตเร็ว เจ็บ แตกเป็นแผล หรือมีเลือดออก แสดงว่ามีอาการอักเสบ หรืออาจจะเริ่มกลายเป็นมะเร็งผิวหนังก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หูด ไฝ ปาน หรือการตกกระในคนแก่ที่อยู่ในตำแหน่งที่อยู่ในตำแหน่งที่จะต้องได้รับการระคาย กระทบกระแทกให้ชอกช้ำอยู่เสมอๆ เช่น เป็นไฝ ปาน บริเวณหนังศีรษะเวลาหวีผมจะถูกปลายหวีครูดบ่อยๆ บริเวณเหล่านี้จะกลายเป็นมะเร็งได้ง่าย

6. การมีน้ำเหลือง หนอง หรือเลือดที่ผิดปกติออกจากทวารต่างๆของร่างกาย
ตามปกติแล้วทวารต่างๆของร่างกาย เช่น ตา หู จมูก ปาก อาจจะมีน้ำหรือของเหลวที่เป็นปกติออกมาได้ แต่บางทวารก็ไม่ควรมีอะไรออกมาเลย เช่น
- ตา อาจจะมีน้ำตา หรือขี้ตาเล็กน้อย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปกติ แต่ถ้ามีน้ำเหลือง เลือดออกมาจากตาก็ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ
- ปาก น้ำลาย เสลด ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ แต่ถ้าหากมีน้ำเหลือง เลือด หนอง ออกจากปากหรือคอ ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ ฯลฯ
ถ้ามีสิ่งผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น อาจจะเป็นสัญญาณของมะเร็งก็ได้ ควรจะปรึกษาแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานๆ

7. มีการผิดปกติของประจำเดือนในสตรี

ปกติสตรีจะมีประจำเดือนประมาณครั้งละ 3-5 วัน หรืออาจจะนานถึง 7-8 วันก็ได้ และควรมีประจำเดือนทุกๆ 4-5 สัปดาห์ สีและกลิ่นปกติ ไม่ควรมีสิ่งอื่นปะปนมากับเลือดประจำเดือนด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามีการผิดปกติไปจากนี้ เช่น ประจำเดือนกระปริดกระปรอยเกิน 7-8 วัน หรืออาจจะตลอดเดือน หรือมี 2-3 วันแล้วหยุดไป 3-4 วันก็มีมาอีก หรือประจำเดือนมีสีและกลิ่นผิดไปจากที่เคย เช่น สีดำคล้ำหรือมีกลิ่นเหม็นเน่า หรือมีลักษณะคล้ายชิ้นเนื้อหรือเม็ดสาคูออกมาปนกับเลือดประจำเดือน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความผิดปกติทั้งสิ้น จึงควรรีบปรึกษาแพทย์

สัญญาณอันตรายทั้ง 7 ประการนี้ เป็นเพียงข้อเตือนใจให้รู้ว่า อาจจะเป็นอาการของโรคมะเร็งในระยะแรกก็ได้ แต่ผู้จะบอกได้แน่นอนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่นั้น ได้แก่แพทย์ ถ้ามีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น จึงควรไปปรึกษาแพทย์ ถ้าหากเป็นมะเร็งจริงก็อาจจะยังอยู่ในระยะที่เพิ่งจะเป็น และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้

ข้อควรปฏิบัติ 10 ประการเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง
1. กินอาหารให้ครบถ้วน และควรเลือกอาหารที่มีวิตามินเอ ซี และวิตามินอีสูง และเลือกอาหารที่มีกากมาก ได้แก่ ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช
2. อย่ากินอาหารในปริมาณที่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทไขมัน
3. ไม่ควรกินอาหารรสเค็มจัด อาหารที่มีราขึ้น
4. หลีกเลี่ยงการกินส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารประเภทปิ้ง ย่าง รมควัน เช่น ปลาย่าง เนื้อย่าง ไก่ย่าง ลูกชิ้นปิ้ง ฯลฯ
5. ไม่ควรกินอาหารหรือยาชนิดเดียวกันซ้ำๆซากๆ
6. อย่าสูบบุหรี่ และไม่ควรดื่มสุรามากเกินไป
7. ไม่ควรดื่มน้ำชา กาแฟมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการดื่มของร้อนจัดๆ
8. อย่าตากแดดจัดมากเกินไป
9. อย่าหักโหมทำงานมากเกินไป เพราะจะทำให้ไม่สบายและภูมิต้านทานโรคก็จะลดลง
10. อาบน้ำอย่างสม่ำเสมอ จะได้ชำระล้างสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย
เมื่อได้ทราบสาเหตุและสารที่ก่อมะเร็งแล้ว จึงควรพยายามหลีกเลี่ยงให้ห่างจากสารก่อมะเร็งเหล่านี้นอกเหนือไปจากข้อแนะนำ 10 ประการที่กล่าวไปแล้ว

สถิติผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งของโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525-2528
ปี25242525252625272528
จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด3,5473,3723,3983,2983,471
มะเร็งปากมดลูก21.4321.9824.0423.3525.18
มะเร็งช่องปาก8.098.427.237.558.12
มะเร็งเต้านม7.277.067.156.556.31
มะเร็งตับ5.074.344.974.464.84
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก2.062.632.714.824.32
มะเร็งหลอดลมและมะเร็งปอด5.196.143.505.094.23
มะเร็งโพรงจมูก4.324.303.504.434.18
มะเร็งผิวหนัง4.144.594.594.244.09
มะเร็งรังไข่2.992.143.703.063.66
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ2.061.752.152.852.88

หมายเหตุ : ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ น.พ.นิวัฒน์ จันทรกุล หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา และประธานสถาบันมะเร็งโรงพยาบาลศิริราช

ทรรศนะ
ทรรศนะเกี่ยวกับมะเร็งตับ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
“ในเมืองไทยนั้น ผู้ชายจะเป็นมะเร็งตับอันดับหนึ่ง แต่จำนวนมากน้อยเท่าไรนั้นยังไม่ชัดเจนนัก เท่าที่เคยศึกษาไว้ช่วงอายุที่เป็นมะเร็งตับมากที่สุดคือ 46 ซึ่งคนในวัยนี้ยังสามารถจะทำประโยชน์ได้อีกหลายปี ผู้ชายวัยนี้มักจะอยู่ในระดับหัวหน้าครอบครัว ยังมีคนที่จะพึ่งพาต่อไปอีกหลายคน แต่เมื่อเป็นมะเร็งขึ้นมาแล้วก็ลำบากมาก

ในประเทศจีนทั้งๆที่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรบุคคลมากกว่าเรา รายได้ประชาชาติโดยเฉลี่ยต่ำกว่าของเรา แต่ว่าจีนก็ให้ความสำคัญในเรื่องการให้การศึกษา การวิจัย การรักษา การค้นหาผู้ป่วยซึ่งเป็นมะเร็งตับตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แล้วนำมารักษาโดยการผ่าตัด ในกรณีที่ยังเป็นขนาดเล็กๆ การผ่าตัดก็มีโอกาสจะช่วยรักษาให้หายได้ และรวมถึงการป้องกัน การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่จะนำไปสู่โรคมะเร็ง

สำหรับประเทศไทย มะเร็งตับที่พบมีอยู่ 2 ชนิด คือ
1. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตับเอง มะเร็งของท่อน้ำดี
2. มะเร็งตับชนิดที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น

มะเร็งตับที่เกิดจากเซลล์ตับเองนี้พบได้มากที่สุดในคนไทย จากข้อมูลต่างๆนั้น มะเร็งชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี โดยเฉพาะถ้าเป็นเชื้อไวรัสที่ถ่ายทอดจากแม่มายังลูกระหว่างที่ตั้งท้อง หรืออาจจะคลอดใหม่ๆ และเด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในลักษณะนี้มีโอกาสจะเป็นพาหะมะเร็งตับ เพราะมีเชื้ออยู่ในตับตลอดเวลา

วิธีที่น่าจะแก้ไข คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งขณะนี้ยอมรับกันแล้วว่า การฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเด็กแรกคลอดโดยเร็วที่สุด จะช่วยได้ทางหนึ่ง โดยทำตามระยะการฉีดยาในลักษณะของการฉีดวัคซีน แต่ปัญหาที่มีก็คือ วัคซีนราคาแพง และอีกปัญหาคือ ไม่สามารถฉีดได้ครบตามกำหนด อย่างเช่น การฉีดวัคซีน 6 ชนิด คือ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ วัณโรค และหัด มีความสามารถฉีดให้ครบ 3 ครั้งเพียงแค่ 50% เท่านั้นเองสำหรับในชนบท แต่คนที่อยู่ในเมืองมีโอกาสดีกว่า

เราจะต้องรณรงค์ในด้านนี้ให้มาก คนที่เป็นตับอักเสบบี ในผู้ใหญ่ คนสูงอายุ หรือเด็กแรกเกิดจะมีการถ่ายเทได้โดยทางเข็มฉีดยา โดยการให้เลือดที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นควรจะส่งเสริมให้มีการใช้เข็มฉีดยาชนิดที่ฉีดครั้งเดียวแล้วทิ้งไปเลย ซึ่งเป็นมาตรการอันหนึ่งที่ทางแพทย์และทางสาธารณสุขควรจะส่งเสริม

อีกวิธีหนึ่ง คือ รณรงค์ให้ประชาชนรู้จักการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ ซึ่งจะช่วยป้องกันมะเร็งตับได้อีกด้วย

มะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเกิดที่ตับเองนี้เกิดจากพฤติกรรมการกิน คือ คนที่กินปลาน้ำจืดหรือปลาประเภทตระกูลปลาตะเพียน ปลาพวกนี้จะมีพยาธิใบไม้อยู่ ถ้าบริโภคปลาพวกนี้แบบสุกๆดิบๆ เช่น เอาไปทำก้อย พยาธิใบไม้ก็จะไปเกิดอยู่ในท่อน้ำดีในตับ เมื่อเป็นอยู่นานๆอาจจะมีโรคตับที่มีสาเหตุจากท่อน้ำดีอักเสบขึ้นก่อน แล้วต่อมาท่อน้ำดีที่อักเสบเรื้อรังก็จะกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งอุบัติการณ์มะเร็งท่อน้ำดีที่เนื่องมาจากพยาธิใบไม้นี้พบมากในเมืองไทยเป็นพิเศษ คือ ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือในที่ที่คนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมการกินปลาน้ำจืดดิบๆ

ปัจจัยเสริมอื่นๆที่อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับ ได้แก่ การเป็นโรคตับแข็ง คนที่เป็นโรคตับแข็ง 25% หรือประมาณ 1 ใน 4 จะกลายเป็นมะเร็งตับ นอกจากนี้ก็มีสารพิษในธรรมชาติ เช่น อะฟลาทอกซิน ไนโตรซามีน ปัจจัยที่ทำให้เกิดไนโตรซามีนคือ สารประเภทดินประสิว ซึ่งมักจะใส่ในปลาร้า ปลาเจ่า เคยมีการทดลองในเรื่องนี้โดยเอาหนูมาทำให้มีพยาธิใบไม้ในตับ ปรากฏว่ามันไม่เป็นมะเร็งตับหรือมะเร็งท่อน้ำดี แต่เมื่อเอาไนโตรซามีนผสมให้มันกินเพียงนิดเดียว ได้ผลว่าภายใน 45 วันหนูตัวนี้ได้กลายเป็นมะเร็ง เรื่องนี้ก็มีรายงานไว้ในวารสารต่างประเทศ

เราควรจะมีการอบรม ให้ความรู้ว่าถ้ามีคนเป็นโรคมะเร็งเกิดขึ้นแล้วครอบครัวจะทำอย่างไร การลดความทุกข์ทางใจ ทางกายเป็นอย่างไร เป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนมาก”

ทรรศนะเกี่ยวกับสารก่อมะเร็ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.แก้ว กังสดารอำไพ

สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

“การปรุงอาหารนั้น จุดประสงค์คือการปรับปรุงคุณค่าของอาหารให้สูงขึ้น และทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยดีขึ้นด้วย แต่ก็มีการปรุงอาหารบางวิธีที่อาจจะทำให้เกิดสารเคมีที่จะทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น การปรุงอาหารประเภทปิ้ง ย่าง รมควัน โดยเฉพาะกับเนื้อสัตว์

ในปี ค.ศ.1964 มีผู้รายงานว่าตรวจพบสารก่อมะเร็ง คือ เบนโซ(เอ)พัยรีน และสารอื่นๆในกลุ่มเดียวกันซึ่งเรียกว่าโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดนคาร์บอน หรือพีเอเอช (polycyclic aromatichydrocarbons) บนผิวหน้าของเนื้อที่ย่างหรือปิ้งด้วยถ่านไม้ โดยพบว่า เนื้อที่หนักประมาณ 1 กก. เมื่อย่างสุกเต็มที่จะมีปริมาณเบนโซ(เอ)พัยรีนเกิดขึ้นเท่ากับปริมาณที่เกิดจากการเผาบุหรี่ถึง 600 มวน สารพวกพีเอเอชนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องมาจากความร้อนที่ให้กับเนื้อที่ถูกย่างโดยตรง แต่เกิดจากการที่ไขมันซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์ที่ได้รับความร้อนหลอมเหลวและหยดลงไปบนถ่านแดง ทำให้เกิดสารไฮโดรคาร์บอนระเหยขึ้นไปกับควันดำจับตัวสะสมอยู่บนผิวของเนื้อ

เบนโซ(เอ)พัยรีนในอาหาร ซึ่งในบุหรี่เรียกว่า น้ำมันดินหรือทาร์ อันเกิดเนื่องจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์นี้รู้กันมานานแล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่แน่นอน

ชนิดของอาหารที่มีการตรวจพบว่ามีสารพวกพีเอเอชปนอยู่ได้คือ อาหารรมควัน น้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ พืชผักผลไม้ อาหารทะเล อาหารทอดเกรียม ยีสต์แห้ง สารละลายจากควันที่ได้จากการเผาไหม้อาหารในบริเวณอากาศเป็นพิษ จากการศึกษาโดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีพ.ศ.2528 พบว่า ปลารมควัน 4 ชนิด (ได้แก่ ปลาเนื้ออ่อน ปลาตะเพียน ปลาสร้อย และปลาดุก) อาหารปิ้งย่าง 6 ชนิด (ได้แก่ หมู ไก่ ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นไก่ ไส้กรอกหมูปนข้าว และกล้วยปิ้ง) อาหารทอด 3 ชนิด (ได้แก่ ไส้กรอกหมู ไก่ และไข่) ผักใบเขียว 6 ชนิด (ได้แก่ ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน และผักขึ้นฉ่าย) และน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร 6 ชนิด (ได้แก่ น้ำมันหมู น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันผสมของน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันข้าวโพด และน้ำมันงา) พบว่า ในปลารมควันมีปริมาณสารพีเอเอชทั้งหมด และส่วนที่เป็นสารก่อมะเร็งสูงสุด คือ 7.59 ม.ก./กก. สำหรับน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารมีปริมาณกลุ่มพีเอเอชเฉลี่ย 9.oo ม.ก./กก. ส่วนผักใบเขียวมีปริมาณ พีเอเอชค่อนข้างต่ำ

สารกลุ่มพีเอเอชหรือสารกลุ่มที่เป็นสารก่อมะเร็งนี้ จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่าพวกที่ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง อวัยวะที่มีการสะสมของสารพิษกลุ่มนี้มากที่สุด คือ ตับและไต ความเป็นพิษของพีเอเอชโดยทั่วไปก็คือ การก่อมะเร็งผิวหนัง ปอด ตับ และกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือมะเร็งชนิดแพร่กระจายก็ได้

ความจริงอาหารประเภทปิ้ง ย่าง รมควัน หรือทอดนี้ แต่ก่อนทำเพื่อเป็นการเก็บรักษาอาหาร เพราะควันดำที่เกิดขึ้นนั้นมีสารเคมีเยอะมากเลย เมื่อไปเกาะบนผิวอาหารก็จะทำให้พวกแบคทีเรียทำลายอาหารไม่ได้ เก็บไว้ได้นาน

หรืออาหารที่อยู่ในบริเวณที่อากาศเป็นพิษ เช่น ตามป้ายรถเมล์ที่มีการขายอาหาร เป็นต้นว่า ตรงมุมสี่แยกสะพานควาย หรือแหล่งอื่นๆ ที่ขายอาหารตามข้างทาง เมื่อรถยนต์หรือรถต่างๆแล่นผ่านและปล่อยควันดำออกมา ควันดำเหล่านี้ก็จะกระจายแผ่คลุมลงไปบนอาหาร เป็นแหล่งที่เกิดสารกลุ่มพีเอเอชได้แหล่งหนึ่ง ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก

วิธีหลีกเลี่ยงจากสารก่อมะเร็งกลุ่มนี้ก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงอย่ากินอาหารประเภทปิ้ง ย่าง รมควัน ให้บ่อยนัก หรือถ้าจะกินจริงๆก็ควรเลี่ยงตรงที่เป็นรอยไหม้เกรียม เพราะตรงนี้เป็นที่สะสมสารพีเอเอชมาก
นอกจากนี้ น้ำมันที่ทอดหลายครั้งแล้ว หรือเป็นไขมันเหม็นหืน ก็เป็นตัวที่ทำให้ก่อมะเร็งและโรคอื่นๆด้วยเช่นกัน เช่น จากการทดลองให้สัตว์กินน้ำมันที่เหม็นหืน พบว่า มีอาการเยื่อตาอักเสบอย่างแรง ระบบการย่อยอาหารปั่นป่วน การสืบพันธุ์ล้มเหลว โลหิตจาง มีเม็ดโลหิตขาวต่ำกว่าปกติ และผิวหนังอักเสบ

พฤติกรรมการกินเป็นปัจจัยที่สำคัญทีเดียวที่ทำให้คนเราต้องมีโรคภัยไข้เจ็บ”

ทรรศนะสถานการณ์มะเร็ง
นายแพทย์พิสิษฐ์ พันธุมจินดา

ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
“คนไข้ที่มาตรวจรักษาที่สถาบันฯ มีมาจากทุกภาคของประเทศ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีมาประมาณ 40 รายต่อสัปดาห์ มาจากภาคกลางประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ อีสาน 20เปอร์เซ็นต์ ภาคเหนือ 20กว่าเปอร์เซ็นต์ และภาคใต้ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์

ผู้ป่วยหญิงที่เป็นมากคือ มะเร็งปากมดลูก รองลงมาก็เป็นมะเร็งเต้านม สำหรับผู้ชายอันดับ 1 คือ มะเร็งตับ รองลงมาเป็นมะเร็งปอด เฉลี่ยอายุที่เป็นทั้งหญิงและชายจะอยู่ระหว่าง 40-50 ปี

ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาที่สถาบันฯ นี้ฐานะอยู่ในระดับค่อนข้างยากจน คนไข้ที่มารักษาถ้าจำเป็นต้องอยู่ที่สถาบันฯ หรือในกรณีไม่มีญาติทางสถาบันก็จะรับเข้ารักษา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการว่าจะเป็นรุนแรงอย่างไร แต่ทางสถาบันมีหลักว่า ไม่ว่าคนไข้จะเป็นหนักมากน้อยแค่ไหนเราจะไม่ปฏิเสธการรักษาเลย ในกรณีที่เตียงไม่มีว่างจริงๆ ทางสถาบันได้ช่วยเหลือติดต่อให้ทางสถาบันอื่นๆรับเข้ารักษา เช่น ที่สถาบันมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช หรือส่งไปที่สมาคมต่อต้านโรคมะเร็ง...คาดว่าปีหน้าเราคงจะสร้างสถานที่พักฟื้นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ต.หนองเสือในปทุมธานี อยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 10ได้

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งในแต่ละปีนั้นเป็นมูลค่ามหาศาล เป็นความสูญเสียทางสังคม สาธารณสุข และเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ที่สถาบันฯ เองสูญเงินไปประมาณปีละ 6 ล้านบาทจากการเก็บค่ารักษาพยาบาลไม่ได้

ทางสถาบันฯ ได้พยายามรณรงค์ให้ความรู้เรื่องมะเร็งแก่ประชาชนมาตลอด เรามีหน่วยให้การศึกษาและมีการอบรมหลายๆรูปแบบแก่บุคลากรทางสาธารณสุข มีรายการวิทยุ ฯลฯ เพื่อให้มีการป้องกัน การตรวจตัวเอง เพราะมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรก เช่น มะเร็งปากมดลูก

การระวังพฤติกรรมการกิน หลีกเลี่ยงพวกสารก่อมะเร็งต่างๆก็ช่วยลดอัตราเสี่ยงที่จะนำไปสู่โรคมะเร็งได้”

ทรรศนะเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนัง
นายแพทย์ป่วน สุทธิพินิจธรรม

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
“มะเร็งผิวหนังสาเหตุที่เป็นนั้นส่วนใหญ่ที่พบจะมาจากแสงแดด เมื่อถูกแสงแดดจัดๆเป็นประจำทำให้เซลล์ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้การมีแผลที่เป็นเรื้อรังนานๆ เช่น พวกแผลถูกไฟลวก น้ำร้อนลวก หรือสารเคมีพวกสารหนูซึ่งเป็นส่วนผสมของยาไทย ยาจีน และยาฝรั่ง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน

เรื่องพันธุกรรมหรือกรรมพันธุ์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็ง บางคนเซลล์ผิวหนังอาจจะไว ทำให้เป็นง่าย เช่น คนผิวขาวซึ่งมีสารสีอยู่ที่ผิวหนังที่เรียกว่า สารเมลานิน มีน้อย โอกาสที่แสงอัลตราไวโอเลตจะมีผลต่อเซลล์ผิวหนังก็มีมาก และมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนผิวดำ สำหรับคนไทยเองอยู่ในพวกปานกลางที่จะมีโอกาสเป็นมะเร็ง

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ คนที่เป็นหูดของอวัยวะเพศ ซึ่งจัดเป็นกามโรคอย่างหนึ่ง คนที่เป็นซ้ำๆเรื้อรังก็มีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้สูงกว่าคนปกติ

การระวังป้องกันนั้นก็ควรพยายามเลี่ยงอย่าให้ถูกแสงแดดจัดๆบ่อยนัก หรือถ้าจำเป็นต้องอยู่กลางแดดนานๆก็ควรใช้ยากันแดดทาผิว ระวังอย่าให้เกิดแผลเรื้อรังนานๆที่กระทบกระเทือนต่อเซลล์ผิวหนัง

การรักษามะเร็งผิวหนังสามารถจะหายได้ ถ้ารู้เร็วและตัดเซลล์ผิวหนังส่วนที่เป็นออกไปก็หายได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเซลล์มะเร็งผิวหนังมักไม่ค่อยแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ”

ทรรศนะเกี่ยวกับมะเร็งปอด
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ

หน่วยโรคปอด ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
“เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า สาเหตุของมะเร็งปอดก็คือ การสูบบุหรี่ ซึ่งจากการศึกษารวบรวมสถิติโดยนายแพทย์เวทย์ อารีชน และนายแพทย์ธีระ ลิ่มศิลา พบว่าในคนไทย 100 คน ที่เป็นมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ถึง 90-95 คน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาต่อไปอีกว่า โอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดยังขึ้นอยู่กับปริมาณบุหรี่ที่สูบเข้าไป เช่น ถ้าสูบมานานตั้งแต่อายุยังน้อย โอกาสที่จะเป็นก็มากขึ้น

มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไอขึ้นมา ผู้ที่เป็นก็คิดว่าเป็นอาการไอธรรมดา ส่วนใหญ่มารู้ตัวก็มักจะเป็นมะเร็งปอดในระยะเกือบสุดท้าย รักษายาก ช่วยอะไรไม่ได้มาก ซึ่งเป็นจุดที่อันตราย ถึงแม้จะมีการเอกซเรย์หาทุกๆ 6 เดือน ก็ไม่สามารถตรวจพบชิ้นเนื้อมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพราะมีขนาดเล็กมากเหลือเกิน แต่เมื่อมีขนาดโตขึ้นมาพอที่จะตรวจพบนั้นก็สายไปเสียแล้ว

การป้องกันมะเร็งปอดสำหรับผู้สูบบุหรี่ ทำได้วิธีเดียวคือ เลิกสูบบุหรี่ไปเลย ถ้าเลิกได้นาน 1 ปี 2 ปี 3 ปี...โอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดก็จะลดลงทุกปี ถ้าเลิกสูบพ้น 8 ปีไปแล้ว โอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดก็จะเท่ากับคนธรรมดาที่ไม่ได้สูบ”

 

ข้อมูลสื่อ

97-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
เรื่องน่ารู้
ศ.นพ.ไพรัช เทพมงคล