• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เอดส์

เอดส์


ข้อน่ารู้
1. เอดส์ (AIDS) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคใหม่ที่มีรายงานครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2534 และมีรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2527 โรคนี้มีการระบาดในทวีปแอฟริกาก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรปและลุกลามไปทั่วโลก
เชื้อก่อโรคเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการค้นพบในปี 2526 (หลังจากพบผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องจำนวนมาก ซึ่งเป็นปริศนาดำมืดอยู่หลายปี) เชื้อนี้มีชื่อเรียกว่าเอชไอวี (HIV ซึ่งย่อมากจาก human immunodeficiency virus) ซึ่งเป็นเชื้อโรคตัวใหม่ที่ไม่ทราบว่ามีต้นตอมาจากที่ใด 

2. เชื้อเอชไอวี สามารถเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 4 ทาง ได้แก่
ก. การร่วมเพศระหว่างหญิง - ชาย และระหว่างชาย - ชาย (เกย์)
ข. การถ่ายเลือด หรือแปดเปื้อนเลือดที่มีเชื้อเอชไอวี
ค. การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
ง. การถ่ายทอดจากแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีสู่ทารก (โอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อมีประมาณร้อยละ20-50)
เชื้อนี้ไม่ติดต่อทาง
- น้ำลาย
- น้ำตา
- ยุงกัดหรือแมลงกัด
- ลมหายใจ ไอ จาม
- อาหารการกิน (สามารถกินร่วมสำรับกับคนที่ติดเชื้อเอชไอวีได้โดยการใช้ช้อนกลาง)
- เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่มหรือโทรศัพท์ ถ้วยชาม แก้วน้ำ ที่ใช้ร่วมกับผู้ติดเชื้อ
- การสัมผัส กอดจูบกับผู้ติดเชื้อ
- การเล่นกีฬากับผู้ติดเชื้อ
- การใช้ห้องน้ำหรือสระว่ายน้ำร่วมกัน
- การร่วมอยู่ในห้องเรียน ห้องทำงาน หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ 

3. เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะมีการแบ่งตัวเจริญแพร่พันธุ์อยู่ในเลือด น้ำกามในผู้ชาย และน้ำเมือก ช่องคลอดในผู้หญิง เชื้อนี้จะค่อย ๆ บ่อนทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้และกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งเซลล์มะเร็ง
โรคนี้มีลักษณะแปลกกว่าโรคติดเชื้ออื่น ๆ กล่าวคือ มีระยะฟักตัวของโรคค่อนข้างยาวนาน ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะสบายเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป กว่าจะมีอาการของโรคปรากฏ กินเวลานานเป็นแรมปี (สั้นที่สุด 4 เดือน นานที่สุด 10 ปี) ข้อที่น่าแปลกอีกข้อก็คือ ผู้ที่ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องมีอาการแสดงทุกราย บางรายสามารถอยู่ได้นานกว่า 15 ปี โดยยังไม่ปรากฏอาการก็มี
ดังนั้น เราสามารถจำแนกคนที่ติดเชื้อเอชไอวีออกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่
ก. ผู้ติดเชื้อโดยไม่ปรากฏอาการ
ข. ผู้ที่มีอาการระยะเริ่มแรก
ค. ผู้ที่ป่วยเป็นเอดส์เต็มขั้น
ทั้ง 3 กลุ่มนี้ล้วนแต่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ ข้อควรระวังก็คือ กลุ่มที่ติดเชื้อโดยไม่ปรากฏอา-
การ จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่ไม่รู้ตัว เช่น โสเภณีหรือชายนักเที่ยวที่หน้าตาดี สุขภาพแข็งแรง อาจมีเชื้ออยู่ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยก็อาจติดเชื้อ แล้วแพร่ต่อไปยังคนอื่น ๆ ต่อไปได้ หรือสามีที่ชอบเที่ยวอาจติดเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว แล้วนำเชื้อมาแพร่ให้ภรรยาและลูกในครรภ์อีกทอดหนึ่งก็ได้

4. สังคมไทยที่นิยมการเที่ยวผู้หญิงและมีเสรีทางเพศ รวมทั้งมีปัญหาการฉีดยาเสพติด จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีอย่างรวดเร็ว จากรายงานล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2538 พบว่ามีผู้ป่วยเป็นเอดส์เต็มขั้นแล้วรวมทั้งสิ้น 26,723 ราย โดยจำแนกตามรายปี ดังนี้

2527-2531                                       19       ราย
2532                                                  42        ”
2533                                               103         ”
2534                                               480         ”
2535                                           1,532          ”
2536                                           6,392          ”
2537                                         12,198          ”
2538 (จนถึงเดือนตุลาคม)          5,957           ”

จะเห็นว่ามีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และประมาณร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ป่วย ได้
เสียชีวิตลงแล้ว
คาดว่าในเวลานี้มีคนไทยที่ติดเชื้อเอชไอวีโดยยังไม่ปรากฏอาการ ประมาณ 700,000-800,000 คน
ปัจจุบันโรคนี้มิได้จำกัดวงเฉพาะในกลุ่มยาเสพติดหรือผู้ชายที่เป็นเกย์ หรือหญิงบริการเท่านั้น แต่ได้ลุกลามเข้าสู่ครอบครัว ได้แก่ พ่อแม่ลูกและคนหนุ่มสาวอย่างครบวงจรแล้ว 

5. แม้ว่าโรคนี้ยังไม่มีหนทางเยียวยารักษา แต่ก็เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้อย่างง่าย ๆ ดังนี้
ก. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่ครอง ควรยึดม่นต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง
ของตัวเองแบบรักเดียวใจเดียว
ข. ถ้ายังนิยมมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะหญิงบริการ หรือบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์เสรีส่ำ
ส่อน ก็ควรจะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง
ค. หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าจนมึนเมา เพราะอาจชักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย (ประมาท
ไม่คิดป้องกันตัวเอง)
ง. หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกเลือดของคนอื่น เช่น ขณะช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออก ควรใส่ถุงมือ
หรือหาอะไรป้องกัน อย่าสัมผัสถูกเลือดโดยตรง
จ. หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
ฉ. หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม เช่น ใบมีดโกน กรรไกรตัดเล็บ ร่วมกับผู้อื่น
ช. การฝังเข็ม การเจาะหู การสักผิวหนัง ต้องมั่นใจว่าเข็มที่ใช้นั้น เป็นเข็มใหม่ ผ่านกรรมวิธีทำลาย
เชื้อมาแล้ว ถ้าไม่แน่ใจไม่ควรทำ

6. ในปัจจุบันมีการทดลองวิจัยการใช้วัคซีนป้องกันเอดส์ ซึ่งยังไม่ทราบผลแน่ชัด อาจต้องรอผลการ
ทดลองอีกระยะหนึ่ง
ยาที่ใช้รักษาโรคเอดส์ก็ยังอยู่ในขั้นทดลองวิจัยเช่นเดียวกัน
ส่วนสมุนไพรที่ลือกันว่าใช้รักษาโรคเอดส์ได้ ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันว่าได้ผลแท้จริง
 

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
สำหรับผู้ที่ยังแข็งแรงเป็นปกติดี ถ้าหากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี จะทราบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ก็โดยวิธีตรวจเลือด ซึ่งในปัจจุบันสามารถตรวจที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่ง
ผู้ที่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือด ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ก. มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับบุคคลต่อไปนี้
- ผู้ที่ทราบแน่ว่าติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่ฉีดยาเสพติดหรือใช้เข็มร่วมกับผู้ติดเชื้อ
- ผู้ที่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ เช่น หญิงบริการ ชายบริการ บุคคลที่นิยมมีเพศสัมพันธ์เสรี
ข. ใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
ค. มีอาชีพบริการทางเพศ
ง. ได้รับการถ่ายเลือดหรือสัมผัสถูกเลือดที่สงสัยว่ามีเชื้อเอชไอวี
จ. ถูกเข็มฉีดยาที่เปื้อนเลือดผู้อื่นตำ
การตรวจเลือดจะพบว่าเป็นเลือดบวก (มีการติดเชื้อจริง) หลังติดเชื้อแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 1
เดือน
ดังนั้น ถ้ามีประวัติเพิ่งติดเชื้อมานานไม่เกิน 3 เดือน ก็อาจตรวจไม่พบเลือดบวกก็ได้ แพทย์อาจต้อง
นัดตรวจซ้ำอีกครั้งให้แน่ใจ
ส่วนผู้ที่มีอาการระยะเริ่มแรก ซึ่งจะพบภายหลังติดเชื้อนานเป็นแรมปี (โดยที่บางคนอาจไม่รู้ตัว
ก่อน) มักจะมีอาการคล้ายโรคอื่น ๆ จนไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็นเอดส์ก็ได้
อาการที่อาจพบได้ เช่น
- มีไข้ แต่มักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังเป็นแรมเดือน
- ท้องเสียเรื้อรังเป็นแรมเดือน
- น้ำหนักลดฮวบฮาบ (มากกว่าร้อยละ 10)
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เรื้อรัง
- ต่อมน้ำเหลืองโตพร้อมกันหลายแห่ง
- มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
- มีแผลในปากเรื้อรัง
- ลิ้นเป็นฝ้าขาวเรื้อรัง
- ตกขาวเรื้อรัง
- เป็นโรคเริมพุขึ้นตามผิวหนังเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
- เป็นงูสวัด (มีตุ่มใสพุขึ้น เป็นแนวยาว)
- เป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น กลากเกลื้อน เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นเอดส์เต็มขั้น จะพบเมื่อระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนหมดสิ้นแล้ว ก็มักจะถูกเชื้อ
โรคต่าง ๆ ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เชื้อโรคเหล่านี้มักไม่ทำอันตรายต่อคนที่แข็งแรงทั่วไป (เช่น เชื้อราบางชนิด เชื้อพยาธิบางชนิด) หรือในคนปกติ ถ้าติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงและสามารถรักษาให้หายขาดได้ (เช่น เชื้อวัณโรค) แต่ผู้ป่วยเอดส์เนื่องจากร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน จึงมักจะติดเชื้อง่ายและเป็นรุนแรงจนสุดจะเยียวยาให้หายขาดได้ ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการของโรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ วัณโรคหรือโรคติดเชื้อร้ายแรงอื่น ๆ แทรกซ้อนอยู่เรื่อย ๆ จนเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้บางคนยังอาจป่วย เป็นมะเร็งแทรกซ้อนได้ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งผิวหนัง เป็นต้น
จะเห็นว่าโรคเอดส์สามารถแสดงอาการได้หลากหลายมาก บางอย่างเป็นอาการของโรคพื้น ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป (เช่น ไข้ ท้องเดิน โรคผิวหนัง) แต่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ นานผิดปกติ
ดังนั้น ถ้าหากมีอาการผิดสังเกต และมีพฤติกรรมเสี่ยงมาก่อน เช่น ชอบเที่ยวผู้หญิงในระยะ 5-10 ปีที่ผ่าน ก็พึงสงสัยว่าถูกโรคเอดส์ถามหา
 

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ทั้ง ๆ ที่สุขภาพแข็งแรงดี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี หากพบว่ามีเลือดบวก (ติดเชื้อ) จะได้หาทางดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
ส่วนผู้ที่มีอาการไม่สบาย เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ผิดสังเกต ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่าเป็นอาการของโรคเอดส์หรือไม่
ส่วนผู้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี หรือป่วยเป็นโรคเอดส์ ก็ควรไปตรวจรักษากับแพทย์ตามนัด หรือพบว่ามีอาการผิดสังเกตก็ควรไปพบแพทย์ทันที
 

แพทย์จะทำอะไรให้
แพทย์จะตรวจเลือดและทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ แล้วให้การรักษาตามระยะของโรคที่เป็น
ในรายที่ยังไม่ปรากฏอาการ แพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของร่าง-กายและให้คำแนะนำและคำปรึกษาต่าง ๆ
ในรายที่มีโรคแทรกซ้อน อาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเป็นครั้งคราว
โดยสรุป เอดส์เป็นมหันตภัยยุคใหม่ที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาที่ได้ผล แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดมั่นต่อการมีชีวิตแบบ “รักเดียวใจเดียว” สำหรับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเอดส์ ควรพยายามเสริมสร้างกำลังใจ ซึ่งจะช่วยให้มีชีวิตยืนยาว และมีสุขภาพชีวิตที่ดีได้
 

                                                       การดูแลรักษาตนเอง

สำหรับผู้ติดเชื้อโดยไม่ปรากฏอาการ (ตรวจพบว่ามีเลือดบวก แต่ยังแข็งแรงดี) ควรปฏิบัติดังนี้
1.ไปพบแพทย์ตามนัด ปฏิบัติตัว และกินยาตามที่แพทย์แนะนำ
2. จงอย่าท้อแท้สิ้นหวัง ต้องเสริมสร้างกำลังใจให้ตัวเองซึ่งเป็นอาวุธอันทรงพลังในการบำรุงรักษา
สุขภาพให้แข็งแรงต่อไป ผู้ที่เสียกำลังใจอาจเสียสุขภาพร่ายกาย หรือถูกโรครุมเร้าได้ง่าย
3. เล่าความในใจให้ญาติสนิทมิตรสหายได้รับทราบ หรือขอคำปรึกษาจากแพทย์พยาบาลหรือ
องค์กรพัฒนาเอกชน
4. เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือกันเองในหมู่คนที่ติดเชื้อ (จัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์ในเรื่องนี้)
5. หมั่นทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น สร้างกุศลกรรม
6. ฝึกสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์ หรือภาวนาตามลัทธิศาสนาที่นับถือ
7. หลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำอีก โดยงดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ หาก
จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ (เช่นกับคู่ครอง) ก็ควรใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง
8. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติดต่าง ๆ
9. บำรุงอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น อาหารจำพวกโปรตีน ผักและผลไม้
10. ทำงาน เรียนหนังสือและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ รวมทั้งกินข้าวร่วมกับผู้อื่นได้โดยใช้ช้อน
กลาง
11. งดการบริจาคเลือด อวัยวะ และเชื้ออสุจิโดยเด็ดขาด
12. ผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้หญิงควรคุมกำเนิดมิให้ตั้งครรภ์
 

                                          สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคเอดส์แล้ว

1. ควรไปพบแพทย์ตามนัด หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามคำแนะนำของแพทย์
2. เสริมสร้างกำลังใจตามข้อ 2-6 แบบผู้ติดเชื้อดังกล่าวข้างต้น
3. หลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น 
4. ออกกำลังกายเท่าที่ร่างกายจะอำนวย
5. บำรุงอาหารที่มีประโยชน์
6. ทำงานเท่าที่ร่างกายจะอำนวย
7. ทำใจยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นและเตรียมตัวตายอย่างมีสติ
 

                                                             สำหรับญาติมิตรของผู้ป่วย

 ควรเข้าใจ ให้ความรักและความอบอุ่นแก่ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย อย่าแสดงความรังเกียจ สามารถสัมผัสตัวผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย และร่วมกิจกรรม (เช่น กินข้าว ทำงาน ดูโทรทัศน์ เล่นกีฬา) ได้ตามปกติ การให้กำลังใจและให้การดูแลผู้ป่วยในด้านอาหารการกินและชีวิตความเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไป จะเป็นหนทางให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวและมีความสุข
ขณะเดียวกันก็รู้จักระมัดระวังการติดเชื้อจากผู้ป่วยได้ถูกต้อง เช่น ระวังมิให้เปื้อนถูกเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ป่วย เป็นต้น

 

ข้อมูลสื่อ

200-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 200
ธันวาคม 2538
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ