• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาครอบจักรวาลของไทย

ยาครอบจักรวาลของไทย

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่ายาไทยมีบทบาทไม่น้อยในการรักษาผู้ป่วย ขณะนี้มีการรณรงค์ให้ใช้สมุนไพรเป็นยารักษาโรคกันอย่างกว้างขวาง มียาแผนโบราณหลายตำรับที่ใช้รักษาโรคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาบางตำรับเป็นที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยาแผนปัจจุบันไม่อาจทัดเทียมได้ เช่น ยาหอมหรือยาลม ยากวาดคอ ยาแก้ร้อนใน เป็นต้น แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรที่จะมีการวิเคราะห์พิษของยาไทย และยกเลิกตำรับที่มีพิษเหล่านั้นเสีย เช่น ยาที่มีสารปรอท สารหนู น้ำประสานทองผสมอยู่ เป็นต้น

บทความนี้จะกล่าวถึงยาไทยซึ่งประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิด คือ ฟ้าทะลายโจร หนุมานประสานกาย และหญ้าหนวดแมว ซึ่งใช้เฉพาะส่วนใบมาทำยา โดยพิจารณาถึงรสและสรรพคุณของตัวยาทั้ง 3 ชนิด ตามตำราเภสัช และหลักฐานทางการวิจัย

ใบฟ้าทะลายโจร ตัวยามีรสขม มีลักษณะเด่นกว่าสมุนไพรตัวอื่นๆมาก กล่าวคือ สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้โดยมิต้องผสมกับตัวยาอื่นๆ เลย ตามตำราเภสัช ใบฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณแก้ติดเชื้อ ระงับการอักเสบ แก้ไข้หวัด เป็นยาเจริญอาหาร แก้บิด อุจจาระร่วง ฝี งูสวัด เริม ทางเดินอาหารอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ และแก้ปอดอักเสบ จากการวิเคราะห์พบว่า ใบฟ้าทะลายโจรมีสารที่มีฤทธิ์รักษาโรค 3 ชนิดคือ แอนโดรแกรโฟไลด์ (Andrographolide) นีโอแอนโดรแกรโฟไลด์ (Neoandrographolide) และดีออกซีแอนโดรแกรโฟไลด์ (Deoxyandrographolide) โดยเฉพาะใบฟ้าทะลายโจรในเมืองไทยมีฤทธิ์ทางยาสูง

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานยืนยันว่า ฟ้าทะลายโจรยังสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของหนองได้ จึงช่วยให้ฝีหายเร็วขึ้น จะเห็นว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์เสมือนยาปฏิชีวนะในแผนปัจจุบันนั่นเอง

ใบหนุมานประสานกาย มีรสขม สรรพคุณ ใช้แก้ไข้หวัด แก้แพ้ หืด ไอเรื้อรัง ช้ำใน และใช้ห้ามเลือด
จากการวิเคราะห์พบว่า ใบหนุมานประสานกายมีสารที่มีฤทธิ์ทางยา 2 ชนิด คือ สารที่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมขยาย แต่ไปกดหัวใจ และอีกชนิดหนึ่งมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมตีบ แต่ไปกระตุ้นหัวใจ ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดกำลังศึกษารายละเอียดอยู่

ใบหญ้าหนวดแมว มีรสจืด สรรพคุณใช้รักษาโรคไต ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว กระษัย แก้ปวดเมื่อยตามบั้นเอว รักษาโรคปวดข้อ ปวดหลัง ลดความดันเลือด รักษาโรคเบาหวาน ลดน้ำ ขับกรดยูริกจากไต มีการทดลองพบว่า หญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้ มีเกลือโพแทสเซียมซึ่งเป็นตัวยาขับปัสสาวะ ช่วยระงับอาการปวดของท่อไต ทำให้การทำงานของท่อไตดีขึ้น และยังช่วยขับก้อนนิ่วในท่อไตอีกด้วย

นอกจากนี้ หญ้าหนวดแมวยังมีกรดเออร์โซลิคซึ่งสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่หญ้าหนวดแมวสดมีฤทธิ์กดหัวใจ จึงควรใช้ใบแห้งทำยาและไม่ควรใช้ในปริมาณมาก ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ

ตัวยาทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมานี้เป็นตัวยาที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่มักใช้เพียงตัวเดียวเท่านั้น กล่าวคือ

  • ฟ้าทะลายโจร ใช้ในการรักษาการติดเชื้อ แก้บิด เจ็บคอ ไข้หวัด และเป็นยาเจริญอาหาร
  • หนุมานประสานกาย ใช้แก้หวัด แพ้อากาศ
  • ส่วนหญ้าหนวดแมว ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว

การรักษาแบบใช้ยาเดี่ยวนี้สามารถรักษาโรคได้ แต่ไม่ได้ผลทุกราย หากปัจจุบันส่งเสริมให้มีการศึกษาตำรับยาไทย โดยวิเคราะห์ถึงฤทธิ์และพิษของตัวยา จะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าการใช้ตัวยาเดี่ยวๆ ที่มีการส่งเสริมให้ใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากสมุนไพรมีฤทธิ์ทางยาน้อย เพราะยังมิได้สกัดเอาตัวยาที่มีฤทธิ์ในการรักษามาใช้เหมือนตัวยาในแผนปัจจุบันจึงต้องใช้ตัวยาหลายๆ อย่างมาผสมกัน โดยทั่วไปในยาแผนโบราณแต่ละตำรับจะประกอบด้วย ตัวยาตรง ตัวยาช่วย และตัวยาชูรสกลิ่น เพื่อประโยชน์ในการรักษาอย่างได้ผล

ยาครอบจักรวาลของไทยที่จะแนะนำนี้ประกอบด้วยตัวยาหลักทั้ง 3 ชนิดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ใช้ส่วนใบมาทำยา การรักษาให้ใช้ตัวยาตรงสำหรับแก้โรคที่เกิดขึ้นโดยตรง โดยใช้ตัวยา 3 ส่วน ตัวยาช่วยจะเป็นตัวยาช่วยเสริมฤทธิ์ในการรักษา หรืออาการที่เกิดแทรกซ้อนขึ้นได้ ใช้ 2 ส่วน ส่วนตัวยาชูรสกลิ่นใช้เพียง 1 ส่วน เพื่อให้ยามีรสน่ากินยิ่งขึ้น

หากท่านมีอาการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ เป็นบิด มีบาดแผล ให้ใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นตัวยาตรง หนุมานประสานกายเป็นตัวยาช่วย และหญ้าหนวดแมวเป็นตัวยาชูรสกลิ่น

หากมีอาการหวัด แพ้อากาศ ใช้หนุมานประสานกายเป็นตัวยาตรง ฟ้าทะลายโจรเป็นตัวยาช่วย และหญ้าหนวดแมวเป็นตัวยาชูรสกลิ่นตามลำดับ

หากมีอาการปวดหลัง เป็นนิ่วหรือปัสสาวะขัด ให้ใช้หญ้าหนวดแมวเป็นตัวยาตรง ฟ้าทะลายโจรเป็นตัวยาช่วย และหนุมานประสานกายเป็นตัวยาชูรสกลิ่น

โดยทั่วไปแล้ว ยาตำรับนี้ใช้เป็นยาเจริญอาหาร บำรุงร่างกายให้แข็งแรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุให้ใช้ตัวยาทั้ง 3 ชนิดนี้ในอัตราส่วนเท่ากัน (1:1:1) กินเช้าและเย็น

การทำยาใช้ใบแห้งตามอัตราส่วนที่กำหนด (3:2:1) บดให้ละเอียดแล้วปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้ว กินครั้งละ 3-4 เม็ด หรือบรรจุใบแห้งใส่แคปซูลยาก็ได้ กินครั้งละ 1-2 แคปซูล เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ในกรณีที่ใช้ยานี้เพื่อการรักษา

จะเห็นได้ว่า ยาตำรับนี้ มีตัวยาเพียง 3 ชนิด ตัวยาหาได้ง่าย ท่านอาจจะเก็บในรูปใบยาแห้งก็ได้ เนื่องจากเก็บได้นานและรักษาได้หลายโรค หรืออาจจะกล่าวว่าเป็นยาครอบจักรวาลของไทยก็ได้

ข้อมูลสื่อ

122-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 122
มิถุนายน 2532
อื่น ๆ
อมรรัตน์ พรหมบุญ