• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นวดแก้ปวดหัวและคลายเครียด

นวดแก้ปวดหัวและคลายเครียด

คุณคงเคยได้ยินคนพูดอย่างอารมณ์เสียว่า

“ผมกำลังอารมณ์ไม่ดีนะ”

“โอ๊ย...งานยุ่งไปหมด ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว”

“ปวดหัวจริงๆ กับเรื่องพวกนี้”

“กลับมาถึงบ้านก็อารมณ์เสียเลยนะ”

“ให้ตายซิ...ปวดหัวทั้งปี”

“วันนี้รู้สึกมึนๆ หัวอย่างไรชอบกล”

อาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่เราพบกันบ่อยๆ คือ ปวดศีรษะจากความเครียด ซึ่งเป็นผลจากอารมณ์เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ใช้สมองมาก ใช้สายตามาก ทำงานหนัก พักผ่อนน้อยทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย

สาเหตุดังกล่าวจะทำให้กล้ามเนื้อคอเกร็งแข็ง และเลือดฉีดขึ้นไปเลี้ยงบริเวณศีรษะได้ไม่ดีพอ วิธีที่สามารถแก้อาการปวดศีรษะที่เรามักจะทำกัน ก็คือ การกินยา อันที่จริงวิธีกินยานั้น ควรเป็นวิธีการสุดท้ายหลังจากที่เราได้ใช้วิธีอื่นๆ รักษาอาการนั้นๆ แล้วไม่ได้ผล ปัจจุบันเราได้ทอดทิ้งวิธีการรักษาตนเองที่ถ่ายทอดมาจากปู่ย่าตายายและพ่อแม่ของเรา จนทำให้ขาดความเชื่อมั่นแม้กับตนเองว่า เราสามารถที่จะรักษาตนเองได้

การนวดเป็นวิธีการหนึ่งที่บรรพบุรุษของเราได้ใช้ในการรักษาตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพายาหรือหมอ ก่อนที่เราจะมาว่าต่อไปถึงวิธีการนวดตัวเองเพื่อคลายอาการปวดหัวหรือความเครียดนั้น ก็ขอบอกกล่าวถึงอาการปวดหัวที่ไม่ควรนวดเสียก่อน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้คลายความกังวลว่า อาการไหนควรหรือไม่ควรนวดอย่างไร หากมีอาการดังต่อไปนี้ก็ขอให้ไปพบแพทย์ คือ

- มีอาการปวดศีรษะร่วมกับมีอาการใดต่อไปนี้ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เห็นภาพซ้อน ตามัวลงเรื่อยๆ รูม่านตาทั้ง 2 ข้างโตไม่เท่ากัน เดินเซ แขนขาอ่อนแรง อาเจียนพุ่ง เคยเป็นความดันเลือดสูง เพราะอาจเป็นโรคทางสมอง เช่น เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

- ปวดศีรษะตรงท้ายทอย และปวดร้าวเสียวชามาที่แขน เพราะรากประสาทคออาจถูกกดทับ เป็นต้น
ต่อไปนี้ก็ขอเชิญท่านผู้อ่านลองฝึกนวดตนเองเลยนะครับ ไม่ต้องรอให้ปวดหัวหรือเครียดก่อนแล้วค่อยนวดหรอกครับ เพราะถึงเวลานั้นมาฝึกกว่าจะนวดได้เข้าที่เข้าทางก็สายเสียแล้ว เริ่มฝึกตั้งแต่ยังสบายๆ

นี่แหละครับมีกำลังใจดี เอาเลยครับ...

ข้อแนะนำในการนวด

1. แต่ละจุดให้ค่อยๆ เพิ่มแรงกดจนรู้สึกว่าจุดที่ตนกดนั้นปวด แล้วให้กดทิ้งไว้ประมาณ 10 วินาที จากนั้นจึงค่อยๆ ผ่อนแรงหรือคลายออก

2. เมื่อนวดครบทุกจุดแล้ว ให้กลับมานวดซ้ำอีกประมาณ 3-5 รอบ

3. หลังจากนวดเสร็จแล้ว อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบตามบริเวณท้ายทอย จะช่วยให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

 

จุดนวดด้านหน้าของศีรษะ

 

หมายเลข 1 จุดใต้หัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง

หมายเลข 2 จุดตรงกลางระหว่างหัวคิ้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

จุดนวดด้านหลังของศีรษะ
 

หมายเลข 3 จุดกึ่งกลางใต้ท้ายทอยตรงรอยบุ๋ม

หมายเลข 4 จุดข้างกล้ามเนื้อต้นคอด้านหลังทั้งสองข้างตรงรอยบุ๋ม

หมายเลข 5 แนวเส้นนวดอยู่ที่กล้ามเนื้อด้านหลังของคอทั้ง 2 ข้าง ชิดกับแนวกระดูกคอ เริ่มจากจุดใต้ตีนผม 1 นิ้วมือลงมาจนถึงระดับส่วนบนของกระดูกสะบัก

หมายเลข 6 แนวเส้นนวดอยู่ที่กล้ามเนื้อด้านหลังข้างคอทั้ง 2 ข้าง เริ่มจากจุดใต้ตีนผม 1 นิ้วมือลงมาตามแนวบ่าก่อนถึงปุ่มกระดูกบริเวณไหล่

 

วิธีการนวด

1. ใช้นิ้วหัวแม่มือขวาหรือซ้ายกดที่จุดกึ่งกลางใต้ท้ายทอยตรงรอยบุ๋ม (หมายเลข 3) โดยค่อยๆ เพิ่มแรงกด (ดู “ข้อแนะนำในการนวด”)

2. ประสานมือเข้าด้วยกันบริเวณท้ายทอย ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 กดที่จุดข้างกล้ามเนื้อต้นคอด้านหลังทั้งสองข้างตรงรอยบุ๋ม (หมายเลข 4) ทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน ค่อยๆเพิ่มแรงกด (ดู “ข้อแนะนำในการนวด”)

3. เลื่อนนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 มาที่แนวเส้นนวด (หมายเลข 5) กล้ามเนื้อด้านหลังข้างกระดูกคอ โดยเริ่มกดจากจุดใต้ตีนผม 1 นิ้วลงมา โดยกดไล่แต่ละจุดลงมาจนไม่สามารถกดต่ำลงไปได้อีก แต่ละจุดนวดใช้แรงพอสมควร (ดู “ข้อแนะนำในการนวด”)

4. เลื่อนนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 มาที่แนวเส้นนวด (หมายเลข 6) กล้ามเนื้อด้านหลังข้างคอทั้ง 2 ข้าง เริ่มจากจุดใต้ตีนผมลงมา 1 นิ้ว กดไล่ลงมาบริเวณระหว่างคอกับบ่าหลังจากนั้นให้เปลี่ยนเป็นใช้นิ้วกลางและนิ้วนางของมือขวาอ้อมมากดที่บ่าซ้าย และสลับกับมือซ้ายอ้อมมากดที่บ่าขวา ไล่กดจากบ่าไปถึงปุ่มกระดูกบริเวณไหล่ (ดู “ข้อแนะนำในการนวด”)

 

5. นวดด้านหน้า ใช้นิ้วกลางทั้ง 2 มือกดที่จุด 2 จุดใต้หัวคิ้วทั้ง 2 ข้างด้วยแรงพอสมควร หลังจากนั้นใช้นิ้วกลางกดจุดตรงกลางระหว่างหัวคิ้วด้วยแรงพอสมควร

เป็นอย่างไรบ้างครับ หลังจากนวดตัวเองแล้ว ขณะที่ท่านนวดแต่ละจุดนั้น ค่อยๆ ออกแรงกดตาม “ข้อแนะนำในการนวด” และค่อยๆ ผ่อนแรง แรกๆ จะรู้สึกปวด แต่พอนวดสักระยะหนึ่งจะรู้สึกว่า กล้ามเนื้อของร่างกายถูกกระตุ้น และต่อมาก็จะผ่อนคลายลง อาการปวดศีรษะหรือเครียดจะลดลงหรือหายไปเลยในที่สุด

มาร่วมกันฟื้นฟูการนวดไทย มรดกล้ำค่าของไทยกันเถิดครับ

ข้อมูลสื่อ

127-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 127
พฤศจิกายน 2532
โรคน่ารู้