• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้ทัยฟอยด์ ไข้รากสาดน้อย หรือไข้หัวโกร๋น

ไข้ทัยฟอยด์ ไข้รากสาดน้อย หรือไข้หัวโกร๋น

“โรคนี้มีมาแต่โบราณกาล คนไทยเรารู้จักดีในชื่อของไข้รากสาดน้อยหรือไข้หัวโกร๋น ... ปัจจุบันยังเป็นโรคคู่บ้านคู่เมืองของไทย เป็นกันได้ทุกชนชั้นอาชีพ แม้แต่นายแพทย์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ”

ทุกคนคงเคยเป็นไข้กันมาหลายครั้งแล้ว แต่โดยมากมักเป็นไข้ที่หายภายใน 7 วัน และส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อกลุ่มไวรัส ซึ่งแพทย์มักจะให้การวินิจฉัยตามอาการว่า เป็นไข้หวัด คอเจ็บ หรือหลอดลมอักเสบ ส่วนไข้ที่เป็นนานเกิน 7 วัน และไม่มีอาการอักเสบเฉพาะที่ชัดเจนเช่นเจ็บหน้าอก ไอมาก หอบ เจ็บใต้ชายโครงขวา หรือเจ็บปวดบริเวณที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ ยกเว้นผู้ที่อาศัยอยู่ในดงมาลาเรีย สาเหตุของโรคที่สำคัญและพบบ่อยก็คือ ไข้ทัยฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง อาจทำให้มีไข้นานหลายสัปดาห์และบางครั้ง เกิดมีโรคแทรกซ้อนขึ้นทำให้เสียชีวิตได้ แม้แต่ในรายที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็กินเวลาหลายวันไข้จึงจะหาย บางครั้งอาจถึง 1-2 สัปดาห์ นอกจากนั้นไข้ทัยฟอยด์ยังเป็นโรคที่สามารถติดต่อไปยังคนอื่นได้อีกด้วย จึงนับว่าเป็นโรคสำคัญที่ทุกคนควรจะทราบไว้บ้าง เพื่อจะปฏิบัติตนได้ถูกต้อง และยังสามารถแนะนำช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย

ไข้ทัยฟอยด์ มาจากไหน

ไข้ทัยฟอยด์เกิดจากผู้ป่วยได้รับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีชื่อฝรั่งว่า “ซัลโมเนลล่า ทัยฟี้” เข้าไปทางปากโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ที่เปรอะเปื้อนอุจจาระหรือหัสสาวะของผู้ที่ป่วยเป็นไข้ทัยฟอยด์หรือของผู้ที่เป็น “รังเก็บโรค” (คนที่ได้รับเชื้อทัยฟอยด์แล้วอาจจะเกิดอาการหรือไม่ก็ได้ แต่ต่อมาคนนั้นจะมีเชื้อทัยฟอยด์ออกมากับอุจจาระหรือปัสสาวะเสมอๆ) แมลงวันอาจเป็นพาหะนำเชื้อ โดยไปตอมอุจจาระที่มีเชื้ออยู่ แล้วนำเชื้อซึ่งติดตามขามาปล่อยในอาหาร ที่แมลงวันไปตอมภายหลัง ดังนั้นในท้องถิ่นที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้และใช้ส้วมไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ถ่ายอุจจาระลงในแม่น้ำลำคลองหรือส้วมที่ไม่ปิดมิดชิด มีแมลงวันตอม จะมีไข้ทัยฟอยด์เกิดขึ้นแก่คนในท้องถิ่นนั้นได้อยู่เสมอ ไข้ทัยฟอยด์นี้มีระบาดตลอดปี แต่จะระบาดมากในฤดูร้อน เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ และมีการใช้น้ำไม่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น

ไข้ทัยฟอยด์นั้น มีอาการอย่างไร

เมื่อได้กินอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อทัยฟอยด์เช้าไปถึงลำไส้เล็ก เชื้อทัยฟอยด์เข้าไปถึงลำไส้เล็ก เชื้อทัยฟอยด์จะผ่านผนังลำไส้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น และแบ่งตัวมากมายเข้าสู่กระแสโลหิตทำให้เกิดอาการไข้ ซึ่งมักเกิดภายหลังได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายประมาณ 2 สัปดาห์ วันแรกๆ ไข้ยังต่ำ ต่อไปค่อยๆ สูงขึ้นทุกวัน และไข้จะสูงเต็มที่ในปลายสัปดาห์แรก อาการอื่นมีปวดศีรษะ ลิ้นฝ้า อาจมีไอแห้งๆ เล็กน้อย แน่นท้อง ท้องอืด มักท้องผูก เมื่อเข้าสัปดาห์ที่สอง ไข้มักลอย (ไข้สูงตลอดเวลา หรือตัวร้อนตะพืด) ซึมมากขึ้น เบื่ออาหาร ระยะนี้เชื้อทัยฟอยด์บางส่วนจะออกมากับน้ำดี ลงไปในลำไส้เล็ก ทำให้เนื้อเยื่อน้ำเหลืองบริเวณลำไส้เล็กส่วนปลายอักเสบและเป็นแผล ดังนั้นประมาณปลายสัปดาห์ที่สอง และในสัปดาห์ที่สามที่มีไข้อาจมีเลือดออกจากแผลในลำไส้หรือลำไส้ทะลุได้ ถ้าผู้ป่วยผ่านระยะนี้มาได้โดยไม่มีอาการแทรกซ้อนไข้จะเริ่มลดลงในสัปดาห์ที่สี่ แต่บางรายอาจช้าไปถึงสัปดาห์ที่หก

บางคนที่ได้รับเชื้อทัยฟอยด์อาจไม่มีอาการก็ได้ บางรายอาจมีไข้เพียง 2-3 สัปดาห์ หรือบางรายอาการรุนแรงมากใจสัปดาห์ที่สองมีไข้สูงมาก ซึม กระสับกระส่ายและถึงตาย ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ความรุนแรงของเชื้อ และภูมิต้านทานของผู้ป่วย

รู้ได้อย่างไร ว่าเป็นไข้ทัยฟอยด์

ผู้ป่วยที่มีไข้นานเกิน 7 วัน ซึม ไม่มีอาการเฉพาะที่ชัดเจนอย่างใด (เช่น มีน้ำมูกมาก เจ็บคอมาก เจ็บหน้าอกมาก หรือปวดท้องมาก) ควรนึกถึงไข้ทัยฟอยด์ โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ถ้าผู้ป่วยมีประวัติไปดงมาลาเรียมา หรือเคยได้รับการถ่ายเลือด ควรนึกถึงไข้มาลาเรียก่อนซึ่งควรได้รับการตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียทันที ถ้าอยู่ในป่าไม่สามารถไปรับการตรวจเลือดได้ ควรกินยาแก้ไข้มาลาเรียก่อน (ดู เรื่อง ไข้ป่ามาลาเรีย ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 3 ปีที่ 1) สำหรับผู้ที่อยู่หรือมาจากป่าที่มีไข้เช่นนี้ นอกจากนึกถึงไข้มาลาเรียและไข้ทัยฟอยด์แล้ว ควรนึกถึงไข้ทัยฟัส หรือไข้รากสาดใหญ่ด้วย ซึ่งเกิดจากไรอ่อนที่มีเชื้อทัยฟัสกัด ต่อมารอยกัดมักกลายเป็นแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ เป็นวงกลม มีสะเก็ดสีดำแห้งๆ อยู่ในร่มผ้า ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ มักโตและเจ็บ แต่ไม่มาก อาจมีผื่นแดงๆ ตามตัวร่วมด้วย ดังนั้นผู้ที่มีไข้โดยเฉพาะเกิน 2-3 สัปดาห์ติดต่อกัน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะเป็นโรคอื่นอีกก็ได้ เช่น วัณโรค (มีอาการไอ เจ็บหน้าอก น้ำหนักลดร่วมกับไข้) และกรวยไตอักเสบ (มีอาการหนาวสั่น ปวดหลัง ปัสสาวะขุ่น) ฝีบิดของตับอักเสบ (มีอาการไข้ปวดท้อง ปวดชายโครงข้างขวา ดีซ่าน)

เมื่อไปหาแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกายโดยละเอียด อาจตรวจเลือดนับจำนวนเม็ดเลือดขาว ตรวจหาเชื้อไข้มาลาเรีย ว่าน่าจะเกิดจากเชื้อไข้ทัยฟอยด์ ทัยฟัส หรือเชื้ออย่างอื่น ตรวจปัสสาวะ ตลอดจนเพาะเลี้ยงเชื้อจากเลือดและอุจจาระ ทั้งนี้สุดแล้วแต่ความจำเป็น บางครั้งจากการชักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว แพทย์สามารถให้การวินิจฉัย และการรักษาได้โดยไม่จำเป็นจะต้องรอเวลาตรวจอะไรอีกมากมาย เมื่อมีปัญหา จึงจะตรวจเพิ่มเติมต่อไปอีก

การรักษา

ถ้าแพทย์สงสัยว่า เป็นไข้ทัยฟอยด์ มักจะให้การรักษาไปก่อนพร้อมกับให้ตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น เมื่อปรากฏว่าเป็นโรคอื่น จึงจะเปลี่ยนการรักษาเสียใหม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เสียเวลา เนื่องจากการวินิจฉัยที่แน่นอนเสียเวลาหลายวัน และยาที่ใช้รักษาไข้ทัยฟอยด์ยังมีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียอย่างอื่นได้ด้วย

การรักษาแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง

1. การรักษาเฉพาะโรค คือ การใช้ยาเพื่อทำลายเชื้อทำลายทัยฟอยด์ ยาที่ใช้กันมีหลายอย่าง ที่นิยมและได้ผลดี คือ ยาโคไตรม็อกซาโซล ซึ่งมีชื่อเรียกทางการค้าหลายอย่าง เช่น แบคทริน เซปทริม (ราคาเม็ดละ 2 บาท) พวกนี้เป็นยาผลิตในประเทศไทยก็มีหลายบริษัท คุณภาพพอใช้ได้และราคาถูกเกือบครึ่ง สำหรับผู้ใหญ่ให้กินยานี้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ครั้งละ 3 เม็ด นาน 2-3 สัปดาห์ หรือจนไข้ลดลงประมาณหนึ่งสัปดาห์ ขนาดยาสำหรับเด็กลดลงตามส่วนของยา ขนาดเด็ก 1 เม็ด หรือยาน้ำ 1 ช้อนชา เท่ากับตัวยาเม็ดสำหรับผู้ใหญ่หนึ่งเสี้ยว หรือหนึ่งในสี่เม็ด ยาโคไตรม็อกซาโซล มียาพวกซัลฟาผสมอยู่ ผู้ที่แพ้ซัลฟา ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ เพื่อจะให้ได้ยาอย่างอื่นแทน เช่น ยาคลอแรมนิคอล (ผู้ใหญ่ให้ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง เป็นต้น ทางที่ดีควรจะใช้ยาพวกนี้โดยการกิน อย่าไปพยายามขอฉีดยา เป็นการสิ้นเปลืองและเจ็บตัวโดยใช่เหตุ

2. การรักษาทั่วไป เป็นการรักษาตามอาการและการบำรุงดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสบายขึ้น ถ้าผู้ป่วยมีแต่อาการใช้ ใช้ผ้าชุบผ้าน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นเช็ดตามหน้า คอ และตามตัว จะทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้น สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโตไข้ไม่มีโทษอะไร เพียงแต่แสดงว่า โรคยังไม่หาย ยังดำเนินอยู่ เฉพาะเด็กเล็กที่ชักเวลามีไข้ เท่านั้น ที่ต้องระวังเรื่องไข้ ถ้ามีปวดศีรษะ กระสับกระส่าย อาจต้องให้ยาลดไข้ร่วมด้วย เช่น ยาพาราเซตาม่อล ขนาด 300-500 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 20 สตางค์) สำหรับผู้ใหญ่ให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด ได้ทุก 6 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพราะเสียน้ำไปทางผิวหนัง และลมหายใจมาก ทำให้ผิวหนังและคอแห้ง ควรกินอาหารอ่อนและย่อยง่าย ถ้าผู้ป่วยท้องผูกหลายวัน ไม่ควรกินยาถ่ายหรือยาระบาย โดยเฉพาะอาทิตย์ที่สองและที่สามของการมีไข้ อาจทำให้แผลในลำไส้มีเลือดออก หรือทะลุได้ ควรใช้น้ำอุ่นสวน หรือสวนด้วยน้ำยาสำเร็จรูป ที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป

ป้องกันไข้ทัยฟอยด์อย่างง่ายๆ

1. ควรดื่มน้ำสะอาด ถ้าไม่แน่ใจควรดื่มน้ำสุก และกินอาหารที่สะอาด มีภาชนะปกปิดและไม่มีแมลงวันตอม ถ้าเดินทางไปในท้องถิ่นที่หาอาหารและน้ำดื่มที่ถูกสุขลักษณะยาก ควรเตรียมอาหารและน้ำไปเอง โดยเฉพาะขณะที่มีโรคระบาด ไม่ควรกินอาหารนอกบ้าน จะเป็นการประหยัดและป้องกันโรคต่างๆ ที่ติดต่อทางเดินอาหารและน้ำได้อีกด้วย เช่น อหิวาต์ โรคบิด ฯลฯ

2. ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ถ้าถ่ายลงหลุมควรกลบเสีย โดยเฉพาะอุจจาระและปัสสาวะของผู้ป่วย ผู้ป่วยเองควรระวังไม่ใช้มือหยิบอาหารให้ผู้อื่นกิน และควรแนะนำการระวังป้องกันแก่ผู้อื่นด้วย เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ผู้ที่มีอาชีพทำอาหารขาย เมื่อหารป่วยจากไข้ทัยฟอยด์ควรให้แพทย์ตรวจว่า ไม่มีเชื้อในอุจจาระแล้ว จึงจะทำอาหารขาย มิฉะนั้นจะทำให้โรคทัยฟอยด์กระจายไปยังลูกค้าที่มาอุดหนุน

3. ควรฉีดวัคชีนป้องกันโรคทัยฟอยด์ 1-3 ปี จะช่วยป้องกันโรคได้มาก เด็กๆ อาจเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยเฉพาะเด็กที่กินอาหารที่ไม่ได้ทำเอง ซื้ออาหารมากิน

ข้อมูลสื่อ

10-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 10
กุมภาพันธ์ 2523
โรคน่ารู้
นพ.ปรีชา เจริญลาภ