• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดท้อง

การตรวจรักษาอาการปวดท้อง

 

อาการปวดท้องเป็นอาการที่พบบ่อยอาการหนึ่ง อาจเป็นอาการที่ก่อกวนให้รำคาญ แต่ไม่มีอันตรายอะไรเลย เช่น อาการปวดประจำเดือน (ปวดระดู) ส่วนใหญ่ อาการปอดจากลมในท้องมาก (พอเรอหรือผายลมแล้วก็ดีขึ้น) ไปจนถึงอาการปวดที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น อาการปวดจากกระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ หรือจากท้องนอกมดลูก เป็นต้น

การตรวจรักษาอาการปวดท้องจึงต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายที่ค่อนข้างละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการวินิจฉัยโรคผิดพลาด ทำให้คนไข้ที่ปวดท้องแบบไม่เป็นอันตรายถูกนำไปผ่าท้อง แต่คนไข้ที่ปวดท้องแบบต้องผ่าตัดฉุกเฉินกลับถูกรักษาด้วยยาจนคนไข้ตายหรือทรุดหนัก แล้วจึงนำไปผ่าตัด
อาการปวดท้อง ก็เช่นเดียวกับอาการอื่นๆ ที่ต้องพยายามแยกให้ได้โดยเร็วที่สุด ว่าอาการปวดท้องนั้นฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน (ตารางที่ 1)





อาการปวดท้องที่ฉุกเฉินจะมีลักษณะดังนี้
1. มีอาการเจ็บหนักร่วมด้วย
เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำคล้ายเฉาก๊วย หรือยางมะตอย หน้าซีด มือเท้าซีดเย็น เหงื่อแตก หอบเหนื่อย ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรืออื่นๆ (ดูอาการเจ็บหนัก ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64)

2. การตรวจท้อง (ดูวิธีตรวจท้อง ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 48-51) ในอาการปวดท้องที่ฉุกเฉิน จะตรวจพบลักษณะหนึ่งลักษณะใดหรือหลายลักษณะ ดังต่อไปนี้

2.1 ท้องอืดมากจนหน้าท้องตึง  : เคาะหน้าท้องจะพบว่าโปร่งมาก แสดงว่ากระเพาะอาหารหรือลำไส้ไม่ทำงานหรือมีลมคั่งค้างมาก

2.2 อาการปล่อยเจ็บ   :  (rebound tenderness) คือค่อยๆกดหน้าท้องลงไปอย่างช้าๆ (อย่าให้คนไข้เจ็บ) จนคนไข้เริ่มเจ็บหรือเริ่มรู้สึกตึงฝ่านิ้วมือที่กด แล้วให้ยกมือขึ้น (เลิกกด) ทันที ถ้าคนไข้สะดุ้ง หรือนิ่วหน้า หรือร้องเพราะเจ็บ แสดงว่าหน้าท้องบริเวณที่ตรวจนั้นมี “อาการปล่อยเจ็บ” ซึ่งมักแสดงว่าช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้อง) บริเวณนั้นอักเสบ (ดูรายละเอียดวิธีตรวจใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 49)

2.3 หน้าท้องเกร็งแข็ง  : อาจจะเกิดจากคนไข้ขี้จั๊กจี้ หรือเกิดความรู้สึกตะขิดตะขวงใจ หรือไม่ชอบใจที่มีคนมาคลำหน้าท้องของตน จึงเกร็งหน้าท้องของตนให้แข็งไว้โดยเจตนา ในกรณีเช่นนี้ คนไข้จะไม่ปวดท้องและกดหน้าท้องไม่เจ็บ และไม่ถือว่าเป็นอาการปวดท้องฉุกเฉิน
แต่ในคนไข้ที่ปวดท้อง และหน้าท้องเกร็ง (guarding) หรือแข็งเป็นดาน (rigidity) โดยไม่เจตนา (เป็นเองโดยอัตโนมัติ) เพราะร่างกายต้องการจะปกป้องช่องท้องและอวัยวะในช่องท้องที่กำลังอักเสบ (เจ็บ) อยู่ไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือนจากภายนอก ในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นอาการปวดท้องฉุกเฉิน

2.4 ก้อนในท้อง  :คลำพบก้อนในท้องซึ่งปวดและกดเจ็บมักเกิดจากการอักเสบ ซึ่งรวมถึงการเป็นหนองหรือเป็นฝี การตายหรือการอุดตันของกระเพาะลำไส้ ตับโต หลอดเลือด และอวัยวะอื่นๆในช่องท้อง

2.5 ปัสสาวะไม่ออก  : ร่วมกับอาการปวดท้อง มักแสดงว่ามีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ

ส่วนอาการปวดท้องแบบไม่ฉุกเฉิน คือ อาการปวดท้องอื่นๆที่ไม่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดของอาการปวดท้องแบบฉุกเฉิน

                                                                                                                              (อ่านต่อฉบับหน้า)



 

ข้อมูลสื่อ

92-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 92
ธันวาคม 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์